เกิดได้เมื่อมีเหตุปัจจัย


        ผู้ถาม จากการสนทนาธรรมท่านก็บอกว่าในชีวิตประจำวันไม่มีคนอยู่แล้ว ก็มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน และเมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าสัมโพชฌงค์หรือว่าวิริยสัมโพชฌงค์เป็นสิ่งที่ดีที่งาม ทำไมไม่ทำ ท่านอาจารย์จะชี้แจงอย่างไรให้เหมาะสมกับคำถามนี้

        สุ. ธรรมต้องสอดคล้องกัน ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ถูกไหม

        ผู้ถาม ถูกต้อง

        ส. เพราะฉะนั้นอะไรทำ

        ผู้ถาม ก็จะต้องเป็นสภาพธรรมทำ

        สุ. ถ้าสภาพธรรมไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรมนั้นได้ไหม

        ผู้ถาม ไม่ได้

        สุ. เพราะฉะนั้นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่เราทำ

        ผู้ถาม ก็สนทนากันต่ออีกว่าเมื่อเวลาลักษณะของธรรมปรากฏ ชื่อปรากฏมันจะต่างกันอย่างไร เขาก็บอกว่าตามพยัญชนะก็ต่างกันอยู่แล้ว ท่านอาจารย์จะช่วยชี้แจงอย่างไรบ้างตรงนี้

        สุ. ขณะนี้มีสภาพธรรมเกิดดับนับไม่ถ้วนเลย ชื่ออะไรบ้าง

        ผู้ถาม ชื่อก็มากมายจนพูดไม่ไหว

        สุ. ต้องไปรู้ชื่อหรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วจึงเข้าใจชื่อนั้นได้

        ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะต้องมาก่อนที่จะมีชื่อ

        สุ. บัญญัติคำตามสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่บัญญัติคำแล้วให้ไปทำสภาพนั้นๆ แต่สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร ก็บัญญัติคำที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพนั้นๆ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนั้นมีความเป็นเราหรือว่ามีความเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เราจึงทำไม่ได้ อันนี้เป็นหลักที่สำคัญที่สุด กำลังเห็น เราทำหรือเปล่า ลองคิดดู กำลังได้ยิน เราทำหรือเปล่า กำลังคิดเราทำหรือเปล่า กำลังเป็นกุศล อกุศล มีเราทำหรือเปล่า หรือว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นถ้ามีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นก็จะคลายความเป็นอัตตาคือความเป็นเรา แม้ในขั้นของความเข้าใจ แต่ถ้าศึกษาด้วยความเป็นเรา แล้วก็คิดว่ายังต้องมีเรา ก็เหมือนกับเถียงหรือว่าทะเลาะกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงแสดงว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจตรงตามที่ทรงแสดงหรือเปล่า ถ้าคิดว่าเราทำ ขณะนั้นเป็นจิตหรือเป็นเจตสิก หรือเป็นเรา และจิต เจตสิก เป็นเราหรือไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189


    หมายเลข 10359
    25 ม.ค. 2567