ธรรมที่ไม่มีโทษ


        ธรรมที่มีโทษ และธรรมที่ไม่มีโทษ คืออะไร มีลักษณะอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า ธรรมะที่ไม่มีโทษต้องดีแน่ เพราะฉะนั้น ต้องคิดละเอียดกว่านั้นว่า ธรรมะที่ไม่มีโทษคืออะไร ทุกวันๆ โกรธไหม ขุ่นใจสักเล็กน้อยไหม เป็นโทษหรือเปล่า เริ่มเข้าใจตัวธรรมะที่เป็นกุศลหรืออกุศล โดยไม่ติดที่คำแปล แต่เข้าใจลักษณะจริงๆ ทุกคนโกรธ ไม่พอใจ มีใครบ้างที่เกิดมาแล้วไม่โกรธ ในเมื่อความจริงเคยโกรธมาแล้วมาก แล้วจะให้ความโกรธที่สะสมมามากหายไป ไม่เกิดอีก เป็นไปไม่ได้เลย ต้องขุ่นใจแม้เพียงเล็กน้อยซึ่งไม่สามารถรู้ได้ ถ้าไม่ฟังพระธรรม

        เห็นดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งแล้วเป็นอย่างไรคะ

        อ.วิชัย ไม่ค่อยชอบ

        ท่านอาจารย์ ไม่ค่อยชอบแค่นั้น เป็นโทษไหม ไม่รู้สึกเลยว่า เพียงแค่นั้นเป็นโทษ กว่าจะรู้จักโทษที่แท้จริงว่าไม่ใช่อยู่ที่ดอกไม้ แต่อยู่ที่สภาพขุ่นเคืองไม่พอใจเพราะติดข้อง เพราะฉะนั้น ธรรมะจริงๆ อภิธรรมะละเอียดอย่างยิ่ง และไม่สามารถดับกิเลสได้ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง กว่าจะเข้าใจความละเอียดในชีวิตประจำวันแม้เพียงเล็กน้อยว่า ธรรมะที่ไม่โทษเป็นกุศล ถ้าสมมติว่าขณะนั้นไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น โทษไม่มี ไม่เดือดร้อนเลย เรื่องอะไรไม่พอใจ อยู่ดีๆ แค่เห็นดอกไม้เหี่ยวแห้งก็ไม่พอใจ คิดดูก็แล้วกัน อยู่ดีๆ แท้ๆ เป็นโทษเกิดขึ้น คือ ขณะนั้นทำร้ายจิต ทันทีที่ขุ่นเคืองแม้เพียงเล็กน้อย ไม่เป็นสุขแล้ว แล้วถ้ามาก โทษมากไหม

        เพราะฉะนั้น ก็จะค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันจากการฟัง ธรรมะที่เป็นโทษให้โทษตั้งแต่เริ่มเกิดกับบุคคลนั้นเอง ความขุ่นเคืองใจเห็นโทษชัด แต่ความติดข้องซึ่งเป็นเหตุให้ไม่ได้สิ่งที่ต้องการแล้วเป็นทุกข์ วันหนึ่งๆ มากกว่าโทสะไหม

        เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือให้เข้าใจความจริงของธรรมะอย่างละเอียดซึ่งไม่มีใครสามารถให้บุคคลอื่นได้ยินได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง ได้เข้าใจในความไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะ ๒ ฝ่าย กล่าวย่อๆ คือ ฝ่ายดีกับฝ่ายไม่ดี และวันหนึ่งๆ อะไรมาก และอะไรเป็นโทษ ก็ต้องเป็นธรรมะที่เป็นโทษตั้งแต่เกิดขึ้น อย่างความติดข้อง ทุกคนชอบทุกสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นทางตาก็ชอบสิ่งสวยงาม ทางหูก็ชอบเสียงเพราะ แต่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นโทษอย่างไร หวั่นไหวแล้วเพราะติดข้อง

        จากการไม่มีโลภะ แต่ต้องรู้ด้วยว่า ขณะไหน ขณะเห็นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องเห็นนิดเดียว ยังไม่ทันเป็นโลภะหรือโทสะ จากไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะแล้วมีหวั่นไหวไหม คือ ความละเอียดของชีวิตที่ค่อยๆ ดำเนินไป ค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ สะสมมากจนมองไม่เห็นโทษ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมะจริงๆ แต่ถ้าได้ฟังธรรมะจริงๆ โดยละเอียด ก็จะเป็นผู้ได้สาระ เพราะรู้ว่า สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งนั้นนำมาซึ่งทุกข์

        เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่มีใครทำเลย แต่มีเหตุที่สมควรที่สภาพธรรมะนั้นๆ จะเกิดก็ต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ จนกว่าจะรู้ความจริงว่า เป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ใช่เรา ซึ่งก็คือปัญญาที่เป็นกุศล ธรรมะฝ่ายดี เพราะเหตุว่าไม่เป็นโทษเลย การรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงละคลายความไม่รู้ เมื่อละคลายความไม่รู้ ความติดข้องในสิ่งที่ไม่รู้ก็น้อยลง เมื่อความติดข้องน้อยลง ความขุ่นเคืองใจก็ต้องน้อยลงด้วย การกระทำทางกาย วาจา ใจฝ่ายรุนแรงก็ลดน้อยลงตามลำดับ เพราะเข้าใจขึ้น

        เพราะฉะนั้น จากชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เราได้ยิน ๓ คำนี้บ่อยๆ โลภะ โทสะ โมหะเป็นอกุศล แต่ก็ต้องไตร่ตรองด้วยว่า เป็นโทษจริงๆ ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก แล้วธรรมะที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณ ไม่ให้โทษเลย ก็คืออโลภะ ไม่ติดข้อง ถ้าเป็นได้จริงๆ ทีละเล็กทีละน้อยจะสบายสักแค่ไหน ไม่เดือดร้อนที่จะต้องแสวงหา ไม่เดือดร้อนเมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากจากไป เพราะเหตุว่าไม่ติดข้อง แต่แสนยาก เพราะติดข้องมานานแสนนาน มีหนทางเดียวคือ ปัญญา ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง

        ด้วยเหตุนี้ธรรมะที่ไม่มีโทษเลย ไม่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้เลยก็คืออโลภะ ความไม่ติดข้องซึ่งทำให้ไม่ขุ่นเคือง อโทสะ แล้วทำให้รู้ความจริงเป็นปัญญา คือ อโมหะ สภาพธรรมะทั้งหลายจึงสามารถค่อยๆ ลดทางฝ่ายอกุศล และเพิ่มทางฝ่ายกุศลขึ้น

        เพราะฉะนั้น แม้เพียง ๓ คำก็ต้องคิด ต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณา ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่รู้คำแปลแล้วบอกว่ามีโทษมาก เมื่อไร เดี๋ยวนี้เห็นโทษไหม มีหรือเปล่า เป็นโทษระดับไหน เห็นแล้วติดข้อง แค่นี้เป็นโทษแล้ว เพราะเมื่อติดข้องแล้วยังไม่รู้ ยังยึดถืออย่างมั่นคงว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพิ่มโทษ คือ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะนั้น นี่เพียงเริ่มนิดๆ หน่อยๆ และถ้ามากขึ้นๆ จะเป็นอย่างไร


    หมายเลข 10326
    31 ธ.ค. 2566