สติปัฏฐาน - วิปัสสนาญาณ ๑


    สันติ   อยากเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ให้ชี้ความต่างกันว่า สติปัฏฐาน กับวิปัสสนาญาณ มีความต่างกันอย่างไรบ้างครับ

    ส.   วิปัสสนาญาณก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาหลังจากที่สติมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ จนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น เพราะว่าตอนที่เพิ่งเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมะ อวิชชาที่ได้สะสมมานานมาก ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของนามธรรมเป็นนามธรรมจริง ๆ หรือว่ารูปธรรมเป็นรูปธรรมจริงๆ โดยการประจักษ์  แต่เป็นเพียงการเริ่มสนใจที่จะศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมะที่เป็นนามธรรมว่า ต่างกับลักษณะของสภาพธรรมะที่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ จนกว่าจะมีการระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แล้วมีความเข้าใจในความต่างกันของสภาพธรรมะ ๒ อย่าง ซึ่งขณะนี้ก็ต่าง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพียงแต่ปรากฏว่า เป็นสิ่งที่มีจริงทางตา สามารถที่จะให้จิตเห็นสิ่งนี้ได้ว่า สิ่งนี้เป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่งที่มีจริง ส่วนธาตุรู้แม้แต่คำว่า นามธาตุ ชื่อก็บ่งชัดทีเดียว ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น เป็นธาตุที่น้อมไปสู่อารมณ์ นามะ คือเป็นสภาพซึ่งรู้อารมณ์ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่ว่าเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ธาตุรู้หรือนามธาตุก็เกิดขึ้นเห็น คือรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ นามธาตุที่เกิดขึ้นทางหูก็รู้ว่า เสียงที่กำลังปรากฏมีลักษณะอย่างนี้ 

    นี่คือความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งถ้าสติไม่เกิด เราก็ฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน แล้วก็มีความเข้าใจ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะ ต่อเมื่อไรที่สติ เกิด เมื่อนั้นเราถึงจะรู้ว่ามีการศึกษาอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่มีเรื่องราวใดๆ ปะปนทั้งสิ้น มีแต่ลักษณะของสภาพนั้นปรากฏให้ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ  เพราะเหตุว่าเคยฟังมามากที่จะรู้ว่า นามธรรมนั้นเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ลักษณะรู้ก็คือกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นลักษณะรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ส่วนวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาซึ่งได้อบรมแล้วจากการที่สติระลึกจนกระทั่งสภาพธรรมะนั้นปรากฏกับปัญญาที่สมบูรณ์ ที่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    สันติ   ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ปราศจากสติปัฏฐาน ใช่ไหมครับ

    ส.   ต้องมี ต้องมีสติแน่นอน ต้องเป็นสติ ขณะนั้นจะไม่มีเรา

    สันติ   ก็เลยใช้คำว่า ตรุณวิปัสสนา

    ส.   ค่ะ อันนี้คิดว่าเป็นการที่แปลพยัญชนะ ที่ใช้คำว่า ตรุณวิปัสสนา  เพราะเหตุว่า วิปัสสนาญาณ ถ้านับโดยประเภท ๑๖ ญาณ ที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๑๖ ต้องรวม ตรุณวิปัสสนาด้วย คือต้องรวมนามรูปปริจเฉทญาณ ชื่อคำว่า ญาณ แสดงว่าไม่ใช่สติปัฏฐานแน่นอน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ทุกคนก็พิสูจน์ธรรมได้ เวลาที่สติเริ่มจะเกิดหรือเพิ่งเกิด หรือว่ามีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นความรู้อยู่ตรงไหน  รู้ชัดหรือเปล่า หรือกำลังเริ่มศึกษาที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เข้าใจเรื่องราว แต่เข้าใจลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการศึกษามีต่างขั้น การศึกษาเรื่องราวเป็นปริยัติ แต่การศึกษาที่เป็นปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ที่สติต้องเกิดจึงระลึก ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีสภาพธรรมะใดๆ จะไประลึกที่ลักษณะของสภาพที่เป็นธรรมะที่กำลังปรากฏเลย

    สมาธิก็ไม่ใช่สติ จะให้จิตตั้งแน่วแน่ที่จะให้รู้แน่วแน่ของสภาพธรรมะโดยที่สติไม่เกิด เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า สติปัฏฐาน ไม่ใช้คำว่า ผัสสปัฏฐาน ไม่ใช้คำว่า เจตนาปัฏฐาน  ไม่ใช่คำว่า สมาธิปัฏฐาน แต่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ เป็นขณะที่ต่างกัน แต่นั่นเป็นปัฏฐาน คือเป็นที่ตั้งของสติที่จะศึกษาลักษณะของสภาพที่สติกำลังระลึก โดยไม่มีชื่อ แล้วก็ค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจ ซึ่งสติก็สั้นมาก  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น บางคนจะเข้าใจคำแปลหรือว่าชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าใช้คำว่า ญาณ จะเกิดโดยไม่มีการอบรมไม่ได้  เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งสำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ คือ ขณะที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว  ไม่ได้มีความคิดว่า เดี๋ยวปัญญาจะเกิด หรือว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด ถ้าเป็นอย่างนั้นคือใคร คือเรากำลังหวัง กำลังรอ  กำลังไม่รู้ลักษณะของปัญญาว่า ปัญญาที่ได้อบรมแล้วเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะไปกะเกณฑ์ หรือว่าไปรอคอย ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า ตอนนี้ เขาใช้คำว่า อารมณ์ดี  คล้ายๆ กับว่า กำลังจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ เป็นเรื่องของสภาพธรรมะตามปกติในชีวิตประจำวันอย่างนี้แหละ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงในคำที่ได้ยินได้ฟังตั้งแต่ต้น คือคำว่า นามธรรม หรือนามธาตุ  หรือธาตุรู้ ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีสิ่งใดเจือปนทั้งสิ้น เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ ก็คือว่า ขณะนั้นสภาพธรรมะปรากฏกับปัญญา เพราะว่า ขณะนั้นต้องมีความรู้ชัดในลักษณะนั้น เพราะอะไร เพราะขณะนั้นลักษณะนั้นปรากฏ อย่างธาตุรู้ เราพูดถึงบ่อยๆ ขณะเห็นเป็นธาตุรู้ แต่ขณะนี้ก็มีสีปรากฏ มีเสียงปรากฏ มีคิดนึกปรากฏ แต่เวลาที่ธาตุรู้ปรากฏกับสติ และปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มีสิ่งใดเลยในธาตุรู้นั้น มีเฉพาะธาตุรู้ ขณะนั้นก็ไม่ได้มีเรา  หรือว่ามีตา มีหู มีรูปร่างกาย เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกที่นั่น แต่กำลังรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ซึ่งปรากฏโดยความเป็นอนัตตา และเมื่อรูปธรรมปรากฏ ก็มีความต่างกันของธาตุรู้กับรูปธรรม ซึ่งไม่มีใครไปจงใจเลือกว่า ให้นามรูปปริจเฉทญาณรู้รูปนี้ รู้นามนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งหมด  ซึ่งผู้นั้นก็จะเข้าใจความหมายของ อนัตตา เพราะอนัตตาปรากฏ เพราะสภาพธรรมะปรากฏ เพราะธาตุรู้ปรากฏ เพราะรูปธาตุ หรือรูปธรรมปรากฏ ขณะนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีโลกที่รวมกัน ถ้ายังคงมีโลกที่รวมกัน จะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ หรือว่าถ้าเป็นเพียงสติปัฏฐานที่เกิดแล้วระลึกบ้าง ผู้นั้นก็รู้ ว่านี้ไม่ใช่ความรู้ชัด แต่บางคนอาจจะหลง เวลาที่อยู่เงียบๆ แล้วก็มีความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นนามธรรม ลักษณะของนามธรรมก็คือสภาพรู้ ก็เข้าใจว่า ขณะนั้นคือความรู้แล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าตามความเป็นจริง ขณะนี้ทุกคนมีอะไรปรากฏบ้าง จริงๆ แล้วก็คือ ทางตาที่กำลังเห็น ก็มีสิ่งเฉพาะสิ่งที่ปรากฏกับสภาพที่เห็นเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี แต่คำว่า อย่างอื่นไม่มี ขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ กับอย่างอื่นไม่มีขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ความรู้ห่างกันมาก แล้วก็ไกลกันมาก 

    สำหรับผู้ที่ว่า ขณะนี้ไม่มีอย่างอื่น โดยความเข้าใจ โดยการฟังว่า เมื่อมีเห็น เฉพาะเห็นก็ต้องมีเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ว่าเวลาที่เป็นปัญญาจริงๆ ตามที่ทรงแสดงไว้ ตามที่ตรัสรู้ ตามผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทั้งหลายได้อบรมเจริญแล้ว สภาพ หรือธาตุรู้นั้นๆ ต้องปรากฏอย่างนั้น มิฉะนั้นจะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องศึกษาละเอียด แล้วก็ต้องเข้าใจความต่างกันด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะหลงคิดว่า นั่นเป็นวิปัสสนาญาณ แต่ใช้คำว่า จินตาญาณบ้าง  หรือว่า ตรุณวิปัสสนาญาณบ้าง เพราะเหตุว่ายังไม่ทั่วไปทั้งหมด  เฉพาะลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏกับวิปัสสนาญาณ  ซึ่งวิปัสสนาญาณ คือ ช่วงขณะที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์ แล้วก็ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แล้วต่อจากนั้นก็เป็นปกติธรรมดา ที่ว่าสภาพธรรมก็เกิดดับสืบต่อเหมือนเดิม แต่ว่าปัญญาที่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ลืม รู้ความต่างกันทีเดียวว่า ขณะใดเป็นวิปัสสนาญาณ ขณะใดไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงต้องมีปริญญา ๓ เป็นเครื่องประกอบให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า  วิปัสสนาญาณใดเป็นปริญญาใด  เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย  แต่ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด ก็จะต้องมีการอบรมต่อไปอีก จากวิปัสสนาญาณที่ ๑ ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ ที่ ๓ หรือสำหรับบางท่านซึ่งในชาติอดีตเคยอบรมมาแล้ว วิปัสสนาญาณก็จะเกิดสืบต่อตลอดกันไปได้ แล้วแต่ว่าจะถึงระดับไหน อย่างท่านพระสารีบุตร ระดับของท่านก็คือตลอดถึงพระโสดาบันบุคคล แต่สำหรับบุคคลอื่นก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ว่า ถ้าเป็นไนยยบุคคลก็ต้องฟังมาก สนทนามาก แสดงธรรมะมาก หรือไม่แสดงก็ได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่พิจารณาอย่างละเอียด แล้วเข้าใจโดยความถูกต้องจริงๆ

    ซึ่งตรุณวิปัสสนาญาณ ๓ ก็ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ ซึ่งต่างกับพลววิปัสสนา ได้แก่ อุทยัพพยญาณ ซึ่งประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมด้วยปัญญาที่คมกว่าการรู้แจ้งการเกิดดับของสัมมสนญาณ

    นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งจะต้องค่อยๆ เป็นไป แต่ต้องเข้าใจความต่างด้วยตนเอง ที่จะรู้ได้ว่า ต้องมีความต่างจริงๆ แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าไม่ปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ นี่เป็นวิปัสสนาญาณ นั่นไม่ใช่  อื่นไม่ใช่ ขณะไหนเป็น วิปัสสนาญาณ ขณะไหนไม่ใช่วิปัสสนาญาณ  แม้ว่าจะรู้อย่างนี้ แต่ยังไม่ถึงความเป็น พลววิปัสสนา เมื่อเทียบกับวิปัสสนาขั้นต่อไป


    หมายเลข 10163
    17 ก.ย. 2558