สติระลึก ปัญญาค่อยๆเข้าใจ


    สุนาน  เรียนถามอาจารย์สุจินต์เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร ถ้ารู้ลักษณะว่า มีสติปัฏฐาน กับไม่มีสติปัฏฐาน จะต้องรู้ว่าสติอย่างหนึ่ง ปัญญาอย่างหนึ่ง แล้วก็ลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งหรือเปล่า เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วมีความรู้สึกว่า รู้กับไม่รู้ รู้ว่าต่างกัน เรารู้อะไร ไม่รู้อะไร เข้าใจได้ แต่ลักษณะของสติไม่ชัดเจนว่า สติระลึก หรือไม่ระลึกอย่างไร

    ส.   ขณะนี้เห็น ใช่ไหมคะ ปกติธรรมดาทุกวัน ๆ สติ เกิดหรือเปล่า พูดถึงปกติธรรมดา

    สุนาน  ไม่เกิด

    ส.   ไม่เกิด  กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ตลอดวันตั้งแต่เช้ามา สติเกิดหรือเปล่า นั่นคือปกติของการหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดจะไม่ใช่เพียงการรู้ลักษณะของสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งไม่ว่าใครกระทบสัมผัสทางกายก็มีสิ่งที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ เหมือนกันหมด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชาติไหนทั้งสิ้น ชาติจีน ชาติไทย จะใช้คำที่ต่างกัน แต่ลักษณะที่ปรากฏก็คือลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏเมื่อกระทบกับกาย ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติ แต่เมื่อมีความรู้ความเข้าใจว่า สภาพธรรมะไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะเฉพาะลักษณะแต่ละลักษณะที่มีปัจจัยจึงเกิดขึ้นปรากฏ การที่จะศึกษาให้เห็น ความไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราวเท่านั้น  แต่ต้องหมายความว่า แข็งก็มีแข็งกำลังปรากฏ ซึ่งไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น  เวลาที่ได้ฟังมาแล้วว่า แข็งเป็นสภาพธรรมะที่เกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วลักษณะของแข็งจะรู้ได้ทางกาย

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีแข็งปรากฏ แล้วก็สติเกิด จะระลึกลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่แต่เฉพาะเพียงกายวิญญาณที่รู้แข็ง สติระลึกเพื่อปัญญาจะได้ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นว่า ทั้งหมดที่เคยเป็นเรา เคยเป็นโลกที่กว้างใหญ่  แต่ชั่วขณะจิตหนึ่งที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลย ไม่มีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ได้ปรากฏเลย  สภาพธรรมะอื่นใด เช่น เสียงก็ไม่ปรากฏในขณะที่แข็งปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นขณะที่จะเห็นความเป็นอนัตตา แต่อัตตสัญญาที่สะสมมาแสนนาน ไม่สามารถที่จะละทิ้งความเป็นเรา ที่กำลังรู้ในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็รู้ได้เลยว่า เยื่อใยความเป็นตัวตนยังมี แม้แต่เพียงในขณะที่แข็งปรากฏ กับสภาพที่รู้แข็ง แล้วมีการระลึกที่จะเข้าใจในลักษณะที่แข็ง หรือสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นจีรกาลภาวนา ต้องอบรมนานมาก

    สุนาน  ถ้าแข็งปรากฏ แต่ว่าปรากฏกับสติ แต่สติไม่ปรากฏให้เรารู้จัก นี้ก็มันก็ มันก็ไม่

    ส.   ขณะที่ทุกวัน ๆ กระทบแข็ง แล้วสติไม่ระลึกเลย เราก็รู้ว่า เพียงกระทบ แต่ว่าโดยมากที่ใช้คำว่า อารมณ์ปรากฏกับสติ เพราะเหตุว่าถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด ลักษณะที่แข็งหมดไปเร็วมาก ซึ่งเป็นปกติของสภาพธรรมะซึ่งเกิดดับเร็ว แล้วก็มีเรื่องราวความคิดนึกเรื่องของแข็ง เช่น เห็นดอกไม้ ทางตาเป็นเห็นดอกไม้ ไม่ใช่เพียงแค่เห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีการคิดถึงลักษณะที่เป็นดอกไม้ มีการทรงจำว่า เป็นดอกไม้ นั่นคือการเกิดดับสืบต่อของจิตซึ่งเร็วมาก แต่เวลาที่มีการระลึก ก็จะมีการรู้ว่า ขณะนี้ที่เห็นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมะที่เกิดจึงได้ปรากฏ กระทบกับจักขุปสาท จึงปรากฏ แล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าไม่ใช่เราเลย แล้วทุกอย่างสั้นมาก ไม่มีความที่จะเป็นเรา  หรือของเราได้เลย เพราะเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกขณะอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ขณะนั้นก็จะรู้ว่า สติเกิด ไม่ใช่เพียงเห็น แล้วก็ผ่านไปเลย  หรือว่ากระทบแข็ง แล้วก็ผ่านไปเลย เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะว่าตลอดชีวิตของเรา การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมะเร็วมาก ไม่มีสติที่จะระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด เพราะไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยได้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมะแต่ละอย่าง แต่ละทวารซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ต่อเมื่อใดมีการเข้าใจมั่นคงขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเริ่มเกิด ซึ่งไม่ใช่เป็นการบังคับ หรือว่าไม่ได้เป็นความต้องการว่า อยากให้เกิดมากๆ อยากให้เกิดบ่อยๆ เพราะเหตุว่าโลภะเป็นเครื่องกั้นการเจริญของปัญญา

    เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะใดสติเกิด ก็คือไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นสติกำลังระลึกลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรมะ แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    สุนาน  อาจารย์ คะอย่างนี้ ก็ต้องรู้ด้วยว่า สติเกิด

    ส.   ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่เรา  เป็นเรื่องของปัญญา โดยตลอด

    สุนาน  เพราะฉะนั้น ถ้าแข็งปรากฏเฉยๆ โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติว่า สติเกิด เป็นอย่างไร ก็ไม่ถูกต้อง

    ส.   ไม่ถูกค่ะ


    หมายเลข 10150
    17 ก.ย. 2558