เข้าใจเรื่องพระอภิธรรม ไม่เท่ากับเข้าใจสภาพธรรม


    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าจะกล่าวถูก หรือเปล่า ที่ว่า เข้าใจพระอภิธรรมจะเข้าใจเรื่องปฏิบัติดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ดีกว่า หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คือเข้าใจปรมัตถธรรม สภาพธรรมในด้านการปฏิบัติ และก็เข้าใจเรื่องอภิธรรม เรื่องจิต เจตสิก รู้หมด จำได้หมด แต่ในเรื่องปฏิบัติ เข้าใจตรงนี้ให้มากที่สุด อันนี้เป็นประโยชน์กว่าทางด้านพระอภิธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เพียงขั้นฟัง และก็จำได้มากมาย ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับการที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งคำว่า ”ปฏิปัตติ” ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติแปลว่า ถึง เพราะฉะนั้น ปฏิปัตติ แปลว่าถึงเฉพาะ ถ้าเราไม่เข้าใจเราอาจจะคิดถึงภาษาไทย ปฏิบัติ คือทำ แต่ตามภาษาบาลีไม่ใช่อย่างนั้น “ปฏิ คือ เฉพาะ” “ ปัตติ แปลว่า ถึง” ถึงเฉพาะด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะว่าขณะนี้มีนามธรรม และรูปธรรม กำลังฟังเรื่องราวของนามธรรม และรูปธรรม และขณะใดที่ถึงเฉพาะ หมายความว่า สติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น แล้วอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ว่าเป็นธรรม ที่ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ เช่น แข็งในขณะนี้ มีใครบ้างที่ไม่รู้แข็ง ไม่มี เพราะอะไร เพราะมีกายปสาท สภาพธรรมเป็นรูปชนิดหนึ่งซึมซาบอยู่ทั่วกายส่วนที่สามารถกระทบกับเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เพราะฉะนั้นเมื่อมีกายปสาท และมีสิ่งที่กระทบ จิตเกิดขึ้นเป็นจิตที่กำลังรู้แข็ง เป็นสภาพรู้แข็งจึงได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เองมีสภาพธรรมแต่ถึงเฉพาะลักษณะหนึ่งของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือไม่ ถ้าขณะนั้นไม่ถึง จะกล่าวว่าเป็นปฏิปัตติไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงความรู้ขั้นฟังเรื่องราวของแข็ง หรือของสี หรือของจิต หรือของเจตสิก แต่ยังไม่มีการถึงลักษณะที่เป็นจริงๆ ในขณะนี้ ต่อเมื่อใดที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นที่จะรู้ตรงลักษณะ ซึ่งเป็นปกติ อย่าคิดว่ายากเกินไป การอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมไปเพื่อที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก จนประจักษ์แจ้งในสภาพซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จากลักษณะที่มีจริงๆ และก็จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เหมือนกันหมด ถ้ากระทบปรากฏทางหนึ่งทางใดเช่น ลักษณะที่แข็ง เราเคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นเก้าอี้ เป็นแจกัน เป็นอาหาร เป็นช้อนส้อม เป็นอะไรก็ตามทางกาย ลักษณะที่แข็งจริงๆ คือแข็ง ซึ่งสามารถจะรู้ได้เฉพาะเมื่อมีกายปสาทกระทบ และจิตก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ความเข้าใจ และพิจารณานี้ต้องควบคู่กันไปใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นได้ เป็นประโยชน์สูงสุด เพราะว่า ถ้ามีการเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วสติเกิดระลึกเป็นการพิสูจน์ธรรมทันที แล้วจะค่อยๆ เข้าใจความเป็นปรมัตถ์ ความเป็นอนัตตา การเป็นเพียงนามธรรม หรือรูปธรรม ก็ค่อยๆ ละคลายความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนได้ ไม่ใช่ว่าให้รอไป หรือว่าไม่ใช่ให้เร่งรัด แต่เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยว่า เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะนี้เป็นธรรม และปฏิปัตติ ก็คือขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจ แต่อย่าลืมว่าเคยเข้าใจผิดมานานมาก และเคยไม่รู้มานานมาก เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะที่แข็ง แม้ในขณะนี้ ก็สั้นนิดเดียว และก็มีเห็น มีได้ยิน เพราะว่า ทั้งๆ ที่กำลังเห็นอยู่ ก็สามารถจะคิดเรื่องราวต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ใช่เห็น ทั้งๆ ที่มี"เห็น" แต่ว่าสติสัมปชัญญะก็ระลึกรู้ลักษณะที่ "แข็ง" เพราะยังไม่ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงทีละหนึ่งอย่าง โดยลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่โลกทั้งโลกที่รวมกัน แต่เป็นเฉพาะลักษณะทีละลักษณะ ที่ปรากฏในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18


    หมายเลข 5372
    24 ม.ค. 2567