หน้าที่ของเจ้าอาวาส (อาวาสิกะ) ในสมัยพุทธกาลกับในปัจจุบัน

 
pdharma
วันที่  20 มี.ค. 2558
หมายเลข  26347
อ่าน  3,181

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 630

(สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑๓ กุลทูสกสิกขาบทวรรณนา) มีข้อความว่า "อาวาสของภิกษุเหล่านี้ มีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุเหล่านี้ จึงชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส) วิหารท่านเรียกว่า อาวาส. วิหารนั้นเกี่ยวเนื่องแก่ภิกษุเหล่าใด โดยความเป็นผู้ดำเนินหน้าที่มีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ และการซ่อมแซมของเก่าเป็นต้น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส) แต่ภิกษุเหล่าใด เพียงแต่อยู่ในวิหารอย่างเดียว ภิกษุเหล่านั้น ท่านเรียกว่า เนวาสิกะ (เจ้าถิ่น) "

ในปัจจุบัน บางท่านว่า การสร้างวัด สร้างศาสนสถานต่างๆ นั้น เป็นกิจหน้าที่ของคฤหัสถ์ ไม่ใช่พระภิกษุ

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

มาตรา ๓๗ บัญญัติหน้าที่ของเจ้าอาวาสไว้ดังนี้

(๑) บำรุงรักษา จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี

(๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระ ธรรมวินัย กฏมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

(๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรม และสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์

(๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล

- ตามมาตรา ๓๗ (๑) คำว่า “บำรุงรักษา” นั้นก็หมายถึง การะวังรักษาเพื่อให้คงอยู่ รักษาให้อยู่ในสภาพดี ทำให้งอกงาม ทำให้เจริญ ดังนั้น การบำรุงรักษานอกจากดูแลรักษาวัดและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ โรงครัว ห้องน้ำ เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพดีแล้ว ยังจะต้องพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย อาทิเช่น การทำทางลาดให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้ห้องน้ำได้โดยสะดวก การทำห้องน้ำให้ผู้พิการโดยเฉพาะ การปรับเปลี่ยนห้องส้วมเป็นแบบชักโครกเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ได้ เป็นต้น

ใคร่ขอเรียนถามว่า หน้าที่ของเจ้าอาวาสตามกฎหมายในปัจจุบัน สอดคล้องหรือไม่ อย่างไร กับในพระไตรปิฎก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สำหรับพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ สำหรับหน้าที่ของพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส ก็ต้องเป็นไปตามพระวินัย ความเข้าใจเบื้องต้น คือ อาวาสหรือวัดนั้น เป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ผู้สละอาคารบ้านเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือน เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนในเพศที่สูงยิ่ง ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาส ก็จะต้องมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุด ดูแลเสนาสนะต่างๆ หรือ แม้กระทั่งการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการสร้างเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่ผิดพระวินัยในส่วนอื่น เช่น ไม่เกี่ยวกับการเอ่ยปากของคฤหัสถ์ ผู้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ไม่เกี่ยวกับการเรี่ยไร เป็นต้น หรือ แม้แต่จะสร้างที่อยู่เป็นของตนเอง ก็ต้องถูกต้องตามวินัย คือ สร้างที่อยู่ไม่ใหญ่ และ พื้นที่ตรงนั้น สงฆ์ต้องเป็นผู้แสดงที่ให้ และที่น่าพิจารณา คือ อาวาสหรือวัด ควรที่จะเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นที่อยู่ของคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์ มีบ้านเป็นที่พักอาศัย ที่อยู่ของพระภิกษุ กับ ที่อยู่ของคฤหัสถ์ต้องแยกกันอย่างเด็ดขาด แต่คฤหัสถ์ก็สามารถอาศัยอาวาสหรือวัดในการเจริญกุศลได้ เช่น ไปถวายภัตตาหาร ไปฟังธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งปวง ก็ต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจจริง เพราะกิจหน้าที่ที่สำคัญของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาโดยตรง คือ ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และ เว้นในสิ่งที่ผิด เจ้าอาวาส ตลอดจนถึงพระภิกษุรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็จะต้องน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ครับ

... ขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญ ที่ให้ความเข้าใจเป็นเบื้องต้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
siriporn2509
วันที่ 21 มี.ค. 2558

ยุคใดสมัยใดก็ จะ ต้องน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติไว้

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 22 มี.ค. 2558

ขออนุโมทนา

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jarunee.A
วันที่ 11 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ