ทำไม สุขุมรูป เจตสิก และนิพพาน จึงถูกจัดว่าเป็น ครึ่งธัมมายตนะ

 
rojer
วันที่  6 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21226
อ่าน  5,216

ทำไม สุขุมรูป เจตสิก และนิพพาน จึงถูกจัดว่าเป็น ครึ่งธัมมายตนะ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงอะไร ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งนั้น คือ อะไร แม้แต่ในประเด็นคำถาม คือ คำว่า อายตนะ อายตนะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ประชุมกัน มีอยู่ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ก็เป็นธรรมที่มีจริง แต่ละหนึ่งๆ

อายตนะ มีทั้งหมด ๑๒ ดังต่อไปนี้

ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ นี้เป็น อายตนะภายใน ๖

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธัมมายตนะ นี้เป็นอายตนะภายนอก ๖

ธัมมายตนะ ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด สขุมรูป และพระนิพพาน

ในการจำแนกอายตนะ ที่มีคำว่า ครึ่ง นั้น จากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ พอที่จะประมวลได้ ดังนี้

- อายตนะทั้งหมด มี ๑๒ ที่บอกว่า อายตนะ ๑๐ ครึ่ง มุ่งหมายถึงเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (เป็น ๑๐ แล้ว) และอีกส่วนหนึ่ง เป็นธัมมายตนะ ซึ่งคือ สุขุมรูป ๑๖ ซึ่งคำว่าครึ่งในที่นี้ ก็คือ อีกส่วนหนึ่ง นั่นเอง

- อายตนะทั้งหมด มี ๑๒ ที่บอกว่า อายตนะ ๑ ครึ่ง มุ่งหมายถึงเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เท่านั้น กล่าวคือ ใจ (มนายตนะ คือ จิต ทั้งหมด เป็นอายตนะภายใน) เป็น ๑ อายตนะที่เป็นนามธรรม และอีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นธัมมายตนะ ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด และ พระนิพพาน

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงเลย รวมถึงทรงแสดงโดยนัยของอายตนะ ก็เป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด เป็นจริงแต่ละอย่างๆ โดยไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลย สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูก เห็นถูก ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อายตนะ ๑๒

อายตนะ ๑๒. ธาตุ ๑๘

อายตนะภายใน อายตนะภายนอก

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อายตนะ หมายถึง สภาพธรรมหลายอย่างที่ประชุมเกิดขึ้น เช่น จักษุ (ตา) รูป จักขุวิญญาณ เป็นต้น อายตนะ มี ๑๒ ดังนี้ ครับ

อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ คือ ...

จักขายตนะ ๑

รูปายตนะ ๑

โสตายตนะ ๑

สัททายตนะ ๑

ฆานายตนะ ๑

คันธายตนะ ๑

ชิวหายตนะ ๑

รสายตนะ ๑

กายายตนะ ๑

โผฏฐัพพายตนะ ๑

มนายตนะ ๑

ธัมมายตนะ ๑

ปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาท โสตปาสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาทและกายปสาท และจิต ๑ เป็นอายตนะภายใน ๖ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ และปสาทรูป ๕ เป็นที่อาศัยให้จิตรู้อารมณ์จึงเป็นภายใน ปรมัตถธรรมนอกจากนั้น เป็นอายตนะภายนอกทั้งสิ้น อายตนะภายนอก คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และ ธัมมายตนะ

ซึ่ง ธัมมายตนะ มี นิพพาน เจตสิก และ สุขุมรูป จัดเป็น ธัมมายตนะ แสดงให้เห็นว่า ธัมมายตนะ มีทั้งนามและรูป คือ นิพพานและเจตสิก เป็นนาม และ สุขุมรูปเป็นรูป

ดังนั้น เมื่อเราแบ่ง อายตนะ ๑๒ โดยความเป็นรูปและนาม ก็จะแบ่งได้ดังนี้อายตนะ ๑๒ นั้น เป็นรูป ๑๐ อายตนะ คือ ตา (จักขุปสาทรูป) หู จมูก ลิ้น กาย สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และในอายตนะ ๑๒ นั้น ก็มี รูปอยู่ในธัมมายตนะด้วย คือ สุขุมรูป แต่ ธัมมายตนะ ไม่ใช่มีเพียงรูปเท่านั้น มีนาม คือ เจตสิกและนิพพานด้วย ดังนั้น เมื่อจัดอายตนะ ๑๒ โดยการแบ่งเป็นรูป ก็ต้องแบ่งว่า ครึ่งอายตนะ คือ ครึ่งหนึ่งของธัมมายตนะ ที่เป็นรูปนั่นเอง คือ สุขุมรูป ครับ

ส่วนเมื่อแบ่งอายตนะ ๑๒ โดยความเป็นนาม คือ มี ๑ อายตนะ คือ จิตที่เป็น มนายตนะ และที่เป็นนาม ที่อยู่ใน ธัมมายตนะ ก็คือ เจตสิกและนิพพาน ด้วยการกล่าวว่า ครึ่งธัมมายตนะ ใช้ศัพท์นี้เพื่อแสดงว่า ไม่ใช่ทั้งหมด ของ ธัมมายตนะนั่นเอง เพราะธัมมายตนะ มีทั้งรูปและนาม คือ เมื่อแบ่งเป็นนาม ก็ต้องบอกว่า เพียงครึ่งเดียว ครึ่ง ธัมมายตนะ เพราะ มีรูปอยู่เดียว คือ สุขุมรูป

สรุปได้ว่า การใช้คำว่า ครึ่งธัมมายตนะ เพื่อเป็นการบ่งบอก โดยการแบ่ง อายตนะ ๑๒ โดยความเป็นนามและรูป ซึ่ง ธัมมายตนะ นั้น มีทั้ง นามและรูป คือ เจตสิก นิพพานและรูป เมื่อแบ่งโดยความเป็นรูป ในอาตยนะ ๑๒ จึงต้องกล่าวว่า ครึ่งธัมมายตนะ (สุขุมรูป) อันแสดงถึงไม่ใช่ทั้งหมดในธัมมายตนะ เพราะมี นามด้วย คือ เจตสิกและนิพพาน และเมื่อแบ่งโดย นามธรรม ในอายตนะ ๑๒ ก็ต้องกล่าวว่า ครึ่งธัมมายตนะ เพราะ ธัมมายตนะ มีรูปด้วย จึงกล่าวว่า ครึ่งธัมมายตนะ เพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่ทั้งหมด ครับ

ซึ่งหากได้ศึกษาพระธรรม ก็จะเห็นชื่อต่างๆ มากมาย ทั้ง อายตนะ ขันธ์ ๕ อินทรีย์ธาตุ ๑๘ ซึ่งเหตุผลที่พระพุทธทรงแสดงพระธรรมโดยนัยต่างๆ นั้น เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ เพราะ สัตว์โลกสะสมอุปนิสัยมาแตกต่างกัน คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดง แบ่งเหล่าสัตว์ออกเป็น ๓ จำพวก ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า แบ่งสัตว์โลกเป็น ๓ จำพวกดังนี้

ด้วยอำนาจความหลง งมงายในนาม ๑

ด้วยอำนาจความหลง งมงายในรูป ๑

ด้วยอำนาจความหลง งมงายในนามและในรูปทั้งสองนั้น ๑

บรรดาสัตว์ ๓ จำพวก เหล่านั้น สัตว์ผู้งมงายในนาม จะรู้ เข้าใจ ขันธ์ ได้ เพราะแจกนามไว้ ๔ อย่างในขันธ์นั้นๆ สัตว์ผู้งมงายในรูป จะรู้ เข้าใจ อายตนะ ได้ เพราะแจกรูปไว้ ๑๐ อย่าง กับอีกครึ่งอายตนะฯ (เพราะ ธัมมายตนะ มีทั้งนามธรรม และ รูปธรรม)

จะเห็นว่า การศึกษาธรรม แม้แต่เรื่องอายตนะ ก็เพื่อเข้าใจความจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา และ เพื่อให้สัตว์โลกไม่หลงงมงาย สำคัญรูปธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นตาของเรา เป็นเสียงของเรา เพราะ อายตนะ แสดงโดยความเป็นรูป เป็นส่วนใหญ่ เพื่อละความยึดถือว่ารูปไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
rojer
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

แล้วที่สุขุมรูป ถูกจัดอยู่ใน ธัมมายตนะ ก็เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่สามารถรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น ไม่เหมือนกับรูปหยาบทั้ง ๕ รูป ที่รู้ได้ทางปัญจทวาร เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ปสาทรูป ๕ เป็นอายตนะภายใน ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นที่อาศัยให้จิตเกิดรู้อารมณ์ ส่วนสุขุมรูป เป็น อายตนะภายนอก เพราะ เป็นอารมณ์ของจิต เจตสิกเท่านั้น ที่รู้ได้ทางใจ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rojer
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 8 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 23 เม.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
s_sophon
วันที่ 12 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
teep703
วันที่ 21 เม.ย. 2563

สาธุ

ขออนุโมทนากับการสนทนาธัมมะ

เพื่อความเข้าใจที่ถูก ความเห็นถูกยิ่งๆ ขึ้นไปในครั้งนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Witt
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ