การเกิดดับของรูปมี 17 ขณะ

 
chaweewanksyt
วันที่  5 ม.ค. 2555
หมายเลข  20313
อ่าน  4,127
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริง สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป แม้ จิต และรูป ก็เป็นสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไปเช่นกัน ซึ่ง อายุของจิต คือ การเกิดดับของจิต รวดเร็วกว่า รูป ดังนั้น รูปเมื่อเกิดขึ้น และดับไปนั้น มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต จึงดับไปครับ

ขอยกตัวอย่างรูปที่ปรากฏทางตา ซึ่งรูปเกิดขึ้นที่จิต

ขณะแรก คือ อตีตภวังค์

ขณะที่ ๒ คือ ภวังคจลนะ

ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทะ

ขณะที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนจิต

ขณะที่ ๕ คือ ทวิปัญจวิญญาณ (เช่น จิตเห็น)

ขณะที่ ๖ คือ สัมปฏิจฉันนจิต

ขณะที่ ๗ คือ สันตีรณจิต

ขณะที่ ๘ คือ โวฏฐัพพนจิต

ขณะที่ ๙ - ๑๕ คือ ชวนจิต ๗ ขณะ

ขณะที่ ๑๖ - ๑๗ คือ ตทาลัมพณจิต ๒ ขณะ

ครบ ๑๗ ขณะจิต รูปที่เกิดขึ้นจึงดับไปครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน รูปธรรม มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องวัดอายุของรูปได้ นอกจากการเกิดขึ้นและดับไปของจิต

จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปรูปหนึ่งจึงดับ แม้อย่างนั้นก็สั้นแสนสั้น ไม่ว่าจะเป็น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้น ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะทั้งนั้น ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ ครับ.

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaweewanksyt
วันที่ 5 ม.ค. 2555

เหมือนคำอุปมาเรื่องคนบ้านนอกเอาของมาฝากพระราชาใช่ไหมคะ

ขอบคุณ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 5 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3

แต่อุปมานี้แสดงถึงเพียง ชวนจิตเท่านั้น ดังอุปมา คนบ้านนอก ถวายเครื่องบรรณาการกับพระราชา พระราชาได้เสวย ก็ถึงแค่ชวนจิต แต่รูปยังไม่ได้ดับ จะต้องมีต่อ คือ ถึง ตทาลัมพณจิต อีก ๒ ขณะครับ และไม่ได้กล่าวถึง การเกิดขึ้นขณะแรกของรูปที่ อตีตภวังค์ และ ต่อมาเป็นภวังคจรณะ และ ภวังขุปเฉทะ ครับ

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๙๒

พระราชาองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนแท่นบรรทม มหาดเล็กของพระองค์ นั่งถวายงานนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คนยืนเรียงลำดับอยู่ ที่นั้น ยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่งถือบรรณาการมา เคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้นวดพระยุคลบาทจึงได้ให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่หนึ่งรับเครื่องบรรณาการ ส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้เสวย


จากข้ออุปมานี้ สรุปได้ว่า

คนบ้านนอกถือเครื่องราชบรรณาการมา เคาะที่ประตูวัง = อารมณ์ที่กระทบปสาทะ

มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทของพระราชา (ผู้รู้ว่ามีคนมาเคาะประตู จึงให้สัญญาณแก่นายประตูหูหนวก) = จักขุทวาราวัชชนจิต

นายทวารหูหนวก (ไม่ได้ยินเสียง) เปิดประตูจึงเห็น = จักขุวิญญาณ

ทหารยามคนที่หนึ่ง = สัมปฏิจฉันนจิต

ทหารยามคนที่สอง = สันตีรณจิต

ทหารยามคนที่สาม = โวฏฐัพพนจิต

พระราชาได้เสวยเครื่องราชบรรณาการ = ชวนจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 3 ครับ

ขออนุญาตนำคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ รายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๖๑ มาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ ครับ


ในอัฏฐสาลินี อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ ทางทวารต่างๆ ว่า

พระราชาองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนแท่นบรรทม มหาดเล็กของพระองค์ นั่งถวายงานนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คน ยืนเรียงลำดับอยู่ ที่นั้น ยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่งถือบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้นวดพระยุคลบาทจึงได้ให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่หนึ่งรับเครื่องบรรณาการ ส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้เสวย.

อุปมาไว้ละเอียดทีเดียวนะคะ แต่ว่าอย่าคิดว่าเป็นเรื่อง ว่ามีพระราชาองค์หนึ่งที่บรรทมหลับอยู่จริงๆ เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นทีละดวง ทีละขณะ ขณะที่เป็นภวังคจิต ก็เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นทำภวังคกิจ ขณะนั้นจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะคิดอะไร ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า เกิดขึ้นกระทำภวังคกิจแล้วก็ดับไป แต่คำอุปมานี่ค่ะ เปรียบเทียบแสดงให้เห็น การที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นรับอารมณ์ ว่าในขณะที่อารมณ์กระทบปสาทะ อารมณ์เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องบรรณาการมาที่ประตูวัง

ซึ่งในอัฏฐสาลินี อุปมาว่า นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร จักขุวิญญาณนี่คะ เป็นนายทวารหูหนวก ที่อยู่ที่ประตู ซึ่งไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงเคาะที่ประตู หน้าที่ของจักขุวิญญาณ ไม่ใช่ได้ยินเสียงเคาะ แต่ว่า ที่ได้ยินเสียงเคาะนั่น เป็นมหาดเล็กที่ถวายนวดที่พระยุคลบาทของพระราชา ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นผู้ที่รู้ว่า มีคน มีแขกมาที่ทวาร เพราะฉะนั้น ก็ให้สัญญาณ คือ เมื่อรำพึงถึงแล้ว นะคะ ก็ดับไป ให้สัญญาณแล้วก็ดับไป

เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณจิต ก็เกิดขึ้นกระทำกิจเห็นที่จักขุปสาทะ แล้วต่อจากนั้น ทหารยามคนที่หนึ่ง ก็รับเครื่องราชบรรณาการได้แก่สัมปฏิจฉันนจิต ส่งให้คนที่สอง คือ สันตีรณจิต คนที่สองส่งให้คนที่สาม คือ โวฏฐัพพนจิต คนที่สามทูลเกล้าถวายพระราชา คือ ชวนจิต พระราชา ได้เสวย

คำอธิบายข้อเปรียบเทียบนี้ แสดงเนื้อความอะไร?

แสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจ คือหน้าที่เพียงแต่กระทบปสาทะเท่านั้น คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินนะคะ แต่ว่าเครื่องราชบรรณาการ ส่งต่อจากคนที่หนึ่ง ให้คนที่สอง ให้คนที่สาม แล้วจึงถึงพระราชา

เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณเท่านั้นค่ะ ที่กระทำกิจเห็นอารมณ์อยู่ที่ทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทะเท่านั้น แต่ว่าจิตนี่นะคะรู้อารมณ์สืบต่อกัน อารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้นหรือว่าล่วงล้ำปสาทะไปที่อื่นเลย อารมณ์จะเลยปสาทะเข้าไปที่ไหนได้ไหมคะ เป็นรูปที่กระทบปสาทะ ถ้าเป็นรูปารมณ์ ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีกิจเพียงกระทบปสาทะเท่านั้น

นี่เป็นคำอุปมาที่จะให้พิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดถึงกิจแต่ละกิจของจิต วิถีจิตแต่ละขณะ ว่าจักขุวิญญาณ กระทำกิจเห็น เหมือนนายทวารซึ่งเปิดประตูดู ทำกิจที่นั่น สัมปฏิจฉันนะ เป็นทหารยามคนที่หนึ่ง ที่รับเครื่องราชบรรณาการ ส่งให้คนที่สอง เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณ กระทำกิจเห็นแล้วดับไป

กระทำกิจต่อจากนั้นได้ไหมคะ จักขุวิญญาณ จะกระทำกิจของสัมปฏิจฉันนะ ไม่ได้ จักขุวิญญาณ จะรับอารมณ์ไม่ได้ เพราะเหตุว่า จักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจ คือ ทำได้อย่างเดียวค่ะ คือ เห็นที่ประตู แต่ว่าสัมปฏิจฉันนะ เป็นทหารยามคนที่หนึ่งทำกิจรับ แล้วก็ส่งให้คนที่สอง คือ สันตีรณะ ซึ่งสันตีรณะก็ส่งให้โวฏฐัพพนะ แล้วโวฏฐัพพนะ ก็ส่งให้พระราชา (คือชวนจิต) พระราชาก็เสวยเครื่องราชบรรณาการนั้น

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้นะคะ ว่า ที่ใช้คำว่าเสพ ที่ใช้คำว่า เสวย เพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ถึงสภาพของจิต ที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ที่กระทำชวนกิจ เวลาที่มีอารมณ์ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นกิจที่อิ่ม ด้วยโลภะ หรือว่าอิ่มด้วยโทสะ หรือว่า อิ่มด้วยโมหะ หรือว่าอิ่มด้วยกุศล เพราะเหตุว่ากระทำกิจแล่นไปในอารมณ์ ไม่ใช่เพียงเห็น ไม่ใช่เพียงรับ ไม่ใช่เพียงพิจารณา ไม่ใช่เพียงตัดสิน แต่กิจทั้งหมดกระทำหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้น เสพอารมณ์นั้น หรือ อกุศลเกิดขึ้น ก็ต้องเสพอารมณ์นั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรือ อกุศล เป็นวิถีจิตที่อิ่มจริงๆ เพราะว่าเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้น ถึง ๗ ขณะ ...

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chaweewanksyt
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณคุณkhampan.a มากเลยค่ะ

เพราะดิฉันอยากอ่านตรงนี้บ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะเข้าใจ

ขออนุโมทนาด้วยใจจริง

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
intra
วันที่ 5 ม.ค. 2555

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และ ทุกท่านที่ให้ความรู้

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
bwssk
วันที่ 6 ม.ค. 2555

ผมมีความสงสัยว่าการเกิดดับ ของรูป เทียบกับการเกิดดับ ของจิต ๑๗ ขณะนั้น เป็นการเกิดดับ ในการรับรู้ของจิตหรือเป็นการเกิดดับโดยตัวรูปเอง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 6 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

รูป ย่อมเกิดดับของเขาเองอยู่แล้วครับ รูป เกิดขึ้น ต้องมีสมุฏฐานให้เกิด รูป บางอย่างเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานเป็นเหตุให้เกิดรูปนั้น รูปบางอย่างเกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐาน รูปบางอย่างเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน รูปบางอย่างเกิดจากกรรม เป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น แม้ไม่มีการรับรู้ โดยจิต เช่น รูปที่อยู่ในป่า แม้ไม่มีใครรู้ ก็มีการเกิดดับไปของรูปนั้น ซึ่งการเกิดขึ้นและดับไปของรูปนั้น ก็ไม่พ้น อายุของ รูป ที่จะต้องมี อายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิตครับ

ดังนั้น รูปของเขาก็เกิดดับโดยตัวรูป ของเขาเอง แม้ไม่มีจิตไปรับรู้ก็ตามครับ เช่น รูป ที่ประชุมรวมกันเป็นโต๊ะ แม้ไม่ใครไปรู้ก็ก็มีการเกิดดับไป มี อายุ ๑๗ ขณะจิตครับ คือ ถ้าจะนับก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิตครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Boonyavee
วันที่ 6 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ประสาน
วันที่ 7 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
khundong
วันที่ 19 เม.ย. 2555

จิต เกิดขึ้นตามลำดับ ตามที่ทุกท่านอธิบาย แต่สงสัยว่า ทั้ง ๑๗ ขณะจิต ใช้เวลาเท่าใหร่ ครับ (เข้าใจว่าเร็วมากกว่าที่เราๆ จะรับรู้ได้)

และรูปที่เกิดดับแต่ละรูป มีวาระไม่ครบทั้ง ๑๗ ขณะได้ใหมครับ เช่น ทางทหารยาม คนที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ สามารถโยนเครื่องราชบรรณาการทิ้งก่อน ให้พระราชาเสพ ได้หรือไม่ครับ ส่วนเครื่องราชบรรณาการเมื่อถึงพระราชาๆ ไม่เสพ คือเฉยหรือโยนทิ้งเสีย ได้ใหมครับ

รูปที่กระทบที่ปัญจทวาร เป็นรูปที่มีจริง ตัวอย่างเรากำลังขับรถ ก็มีรูปที่ปรากฏทางตา ถนน ต้นไม้ และสิ่งต่างๆ รอบตัวเต็มไปหมด เสียงก็ปรากฏทางหู และกำลังฟังวิทยุ ในใจเราก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ อีก ร่างกายก็เคลื่อนไหวทุกส่วนในการควบคุมรถ เราก็ยังสามารถฟังวิทยุและเข้าใจข้อความได้เป็นอย่างดี

ถามว่า สิ่งที่ปรากฏรอบตัวเราต่างๆ นั้น รูปใดๆ ที่พอผ่านๆ หูผ่านตาขณะนั้น บางรูปเราจำได้ บางรูปเราจำไม่ได้ และรูปไหนจะเป็นรูปที่จะเกิดดับ ครบ ๑๗ ขณะ ในระหว่างทำหน้าที่นั้นๆ ครับ (เคยได้ยินท่าน อ.สุจินต์ แสดงธรรมว่า จริงๆ ให้เราหลับนานๆ น่าจะดีเสียกว่าตื่นขึ้นมา เพราะเมื่อตื่นขึ้นมา ทวารทั้งหมดพร้อมทำหน้าที่ เต็มกำลังทีเดียว)

หรือท่านที่บอกว่า รูปโต๊ะ ก็มีอายุเกิดดับ ๑๗ ขณะจิต แสดงว่ามันเกิดดับที่จิตของมนุษย์ ไม่ใช่เกิดดับที่โต๊ะ โต๊ะไม่มีจิต ไม่รับรู้อารมณ์ แต่เขาก็เกิดดับของเขาตามอายุของโต๊ะ คือ สลายใช่หรือไม่ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pat_jesty
วันที่ 20 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 23 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 14 ครับ

รูปไม่ว่ารูปใด เกิดดับเท่ากับจิต ๑๗ ขณะจิต รูปที่ไม่เป็นอารมณ์ของจิตก็มี เช่น ต้นไม้ในป่า เราไม่รู้ แต่ รูปนั้นก็เกิดดับ ๑๗ ขณะจิต รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตก็มีเช่น สี ที่ปรากฏทางตา รูปนั้นก็เกิดดับ ๑๗ ขณะจิต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ