รังเกียจกิเลส

 
สารธรรม
วันที่  17 ม.ค. 2554
หมายเลข  17738
อ่าน  1,782

(พระพุทธรูป ณ วัดแห่งหนึ่งริมแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่)

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ถอดเสียงจาก ชุดเทปวิทยุ แผ่นที่ ๓๔ ครั้งที่ ๒๐๑๘

สนทนาธรรมที่พุทธคยา วันที่ ๕ พ.ย. ๒๕๓๓

โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

"รังเกียจกิเลส"

จริงๆ แล้วถ้าจะรังเกียจกิเลส ต้องรังเกียจให้ทั่ว คือ รังเกียจความไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง อันนี้น่ารังเกียจมาก เพราะฉะนั้นถ้ารังเกียจอย่างนี้ ก็จะทำให้ขวนขวายที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม

เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์ ทรงปรารภที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีพระดำริอย่างที่ทุกคนทราบ คือ สภาพธรรมมี กำลังปรากฏ แล้วสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งปัญญาเท่านั้นจึงสามารถจะรู้แจ้งได้ แต่ว่าปัญญาที่จะรู้แจ้งได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างง่ายและรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทรงค้นคว้าธรรมที่เป็นเครื่องที่จะทำให้สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เมื่อบำเพ็ญแล้วครบถ้วน คือ บารมีทั้ง ๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 18 ม.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ตัวตน
วันที่ 18 ม.ค. 2554

สภาพธรรมคืออะไร มันอยู่ตรงไหน ใช้เวลาเท่าไร มันเกิดจากอะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 18 ม.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chaiyut
วันที่ 23 มี.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

สภาพธรรมคืออะไร

สภาพธรรม โดยความหมาย คือ สิ่งที่มีจริง เป็นจริง โดยลักษณะเฉพาะอย่างนั้นๆ ไม่เป็นอย่างอื่น เช่น สภาพ "เห็น" มีจริง เป็นจริง เพราะกำลังเห็น มีลักษณะ คือ รู้แจ่มแจ้งในสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ สภาพเห็น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีรูปร่างจับต้องไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มี เพราะขณะนี้กำลังมีการเห็นอยู่ครับ

อยู่ตรงไหน

สภาพธรรมมีอยู่ทุกขณะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะ เราก็หาธรรมะไม่เจอ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาธรรมะตั้งแต่ต้น จึงจะค่อยๆ ทราบว่าธรรมะอะไรอยู่ตรงไหน เกิดทางใด เกิดที่ใด เป็นต้น ถ้าเราเรียนธรรมะถูกต้อง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้และสามารถหาสภาพธรรมะที่มีจริงจนเจอได้ เพราะสภาพธรรมไม่ได้อยู่ในตำราหนังสือต่างๆ แต่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏในชีวิตประจำวันของเราเองทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ว่าจะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวขนาดนี้ จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรม

ใช้เวลาเท่าไร

สภาพธรรมแต่ละสภาพธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีอายุแสนสั้น ไม่ทันเกิดขึ้นมาใช้เวลาอะไร เกิดขึ้นมาทำกิจหน้าที่ของตน แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถวัดได้ว่าเป็นหน่วยเวลาเท่าไร มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นซึ่งทรงตรัสรู้และทรงแสดงว่า จิตเกิดดับเร็วที่สุด อย่างในขณะนี้ กำลังเห็น เป็นจิตเห็น เราไม่ต้องนับ 1 2 3 ไม่ต้องใช้เครื่องวัดเวลา แต่เห็นก็เกิดแล้วอย่างรวดเร็ว เกิดแล้วก็ดับไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ว่าขณะนี้เห็นไปแล้วกี่ขณะต่อกี่ขณะ แต่เห็นจะเกิดดับเร็วแค่ไหน พระปัญญาของพระพุทธองค์ก็ยังทรงแสดงให้เราได้เข้าใจในความละเอียดของ "สภาพเห็น" ลึกลงไปอีกว่า เห็น ๑ ขณะ มีอายุเวลาอยู่ ๓ อนุขณะ (ขณะย่อย) เกิดขึ้นมาทำกิจเห็นและเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อหลังจากที่เห็นดับ ขั้นเริ่มศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงความจริงนี้ได้ทันที ยังต้องอบรมปัญญาอีกมาก กว่าจะค่อยๆ เห็นถึงความลึกซึ้งและความยากของธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระบารมีพระองค์เอง

มันเกิดจากอะไร

สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนแต่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งสิ้น บางสภาพธรรมต้องอาศัยสิบกว่าปัจจัยจึงจะเกิดได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องไปหาชื่อว่ามีชื่อปัจจัยอะไรบ้างเราศึกษาให้เข้าใจว่า สภาพธรรมมีจริงก่อน จึงจะค่อยๆ เข้าใจความเป็นปัจจัยซึ่งมีจริงด้วยได้ตามลำดับ อย่าง "สภาพเห็น" ไม่มีใครทำให้เกิดเองได้แน่นอน แต่มีกรรมเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย เห็นในขณะนี้เกิดไม่ได้ ไม่มีใครสร้างการเห็นให้เกิดที่คิดว่าเป็น เราเห็น เพราะเราไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เห็นเป็นเห็น เกิดแล้วดับ สิ่งที่ดับไปจะเป็นเราได้อย่างไร แต่เมื่อไม่ใช่ปัญญา ก็ยืดถือไว้อย่างเหนียวแน่นว่ามีเรา มีตัวตน แต่ถ้าเพียงกรรมไม่เป็นปัจจัยให้เห็นเกิด เช่น ตอนหลับสนิท เห็นก็เกิดไม่ได้ เมื่อเห็นไม่เกิด ไม่มีเห็นตอนนั้น จะมีใครยึดว่าเราเห็นได้ไหม แต่พอตื่นขึ้นมา ก็ไปยึดอีกอย่างว่าเป็นเราที่หลับ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อกันในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ... เท่านั้น ตื่นขึ้นมา ยังไม่ตาย ก็เห็นอีก ได้ยินอีก ก็ยึดถืออีก ว่าเป็นเราเห็น เราได้ยินเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา พระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้ความจริงเช่นนี้ อาศัยพระมหากรุณาคุณ จึงได้ทรงแสดงพระอภิธรรมไว้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร ไม่เป็นใคร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะ ต้องอบรมปัญญาจึงจะค่อยๆ เข้าใจถูกในความหมายของพระพุทธพจน์อันลึกซึ้งนี้ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 27 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ