จิตสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิโดยเจริญปฐวีกสิณได้อย่างไร


    ส.   ตอนนี้มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง .   ดิฉันอยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณา อธิบาย อุปจารสมาธิ เพิ่มขึ้นอีกสักครั้ง ๑

    ส.   คะ อุปจารสมาธิ หมายความถึงความสงบของจิต มีกำลังขึ้น แล้วก็นิวรณธรรมทั้งหลายสงบลง เป็นเรื่องยาก ที่จะกล่าวถึง อุปจารสมาธิ โดยไม่กล่าวถึง การเจริญ สมถ-  กรรมฐาน ๑ กรรมฐานใด เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึง การเจริญกสิณ ซึ่งจะเป็น ปฐวีกสิณ หรือ ว่า อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ ก็ได้ ตามที่ได้เคยเรียนให้ทราบแล้ว ว่า ปฐวีได้แก่ดิน ถ้าระลึกเป็น รูปร่างสีสันวรรณต่างๆ ย่อมเกิดความยินดียินร้าย แต่ถ้าระลึกถึงธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุ ที่น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจเลย เป็นแต่เพียงธาตุชนิด ๑ ซึ่งมีจริง แล้ววัตถุทั้งหลาย ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุดินเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตตั้งมั่นคงที่ธาตุดิน นี่คะ ก็จะต้องอาศัยปฐวีกสิณ คือการที่จะเอาดินมาทำให้เป็นวงกลม  แล้วก็ความละเอียดมีกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ต้องเป็นดินสีอรุณ แล้วก็เป็นดินที่เกลี้ยง วงกลมนั้นก็มีขนาดที่ว่าจะไม่ทำให้เล็กเกินไป ซึ่งจะต้องใช้การจ้อง ทำให้จิตขาดความสงบ หรือว่าไม่ให้สูงนัก ไม่ให้ต่ำนัก นั่นก็เป็นความละเอียดของการที่จะให้จิตตั้ง มั่นคงที่ปฐวีกสิณ แล้วการที่จะให้จิตสงบ นี่คะ จะต้องใช้ตา คือดูปฐวีกสิณ แล้วก็นึกถึง ปฐวีกสิณที่เห็น ลืมตา หลับตา อยู่บ่อยๆ ในระยะนี้ ขณะนี้ ที่จะให้จิตนึกถึงปฐวีกสิณที่มองเห็นนั้น คือบริกรรมสมาธิ เพราะเหตุว่าต้องอาศัย ปฐวีกสิณ เป็นเครื่องระลึก

    ผู้ฟัง .   หมายความว่าขณะนั้นก็มีจิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียว

    ส.   กำลังน้อมไป ที่จะให้จิตไม่ตกไปในอารมณ์อื่น แต่เพื่อที่จะให้นึกถึงปฐวีกสิณนั้นบ่อยๆ ธรรมสำหรับปฏิบติซึ่งท่านผู้ฟัง พิสูจน์ได้ ในขณะนี้  จะนึกถึงดิน นี่คะ  นึกอย่างไรคะ ที่จะให้สงบในขณะนี้ ย่อมยาก ใช่ไหมคะ แต่ถ้ามีปฐวีกสิณให้เห็น แล้วก็ให้มอง คือให้ดูที่ปฐวีกสิณนั้นบ่อยๆ โดยให้น้อมนึกถึงดินจึงจะสงบ ไม่ใช่จ้องโดยที่ไม่เกิดปัญญาหรือว่าไม่มีความแยบคลายในการที่จะมอง หรือเพ่งจ้องที่ปฐวีกสิณเลย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าในการอบรมเจริญสมถภาวนาทั้งหมด ที่จิตจะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรือว่าที่จะเป็นบริกรรมสมาธินั้น ในขั้นต้นจะต้องมีคำอธิบาย ว่า ทำอย่างไร มนสิการะ อย่างไร แล้วจิตจึงสงบก่อนที่จะถึงบริกรรม ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ก็ไปเพ่ง แต่จะต้องมีการระลึกถึง สภาพธรรม แล้วแต่นัยต่างๆ ที่จะให้จิตสงบ เช่น ระลึกถึงความเป็นธาตุดิน อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว แล้วในขณะที่กำลังบริกรรม คือการที่มองดูกสิณนั้น แล้วก็หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง ก็จะต้องอาศัยสถานที่ที่สงบ เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนา ที่จะให้จิตตั้งมั่นคงยิ่งขึ้น ต้องอาศัย สถานที่ ถ้าเป็นวิหารก็ต้องเป็นวิหารที่ เหมาะที่ควรไม่ใกล้นักไม่ไกลนัก เว้นวิหารที่มีโทษต่างๆ นั่นเป็นความละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาได้ในวิสุทธิมรรค แต่ขอเรียนให้ทราบถึงความที่จิตสงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อย  เริ่มตั้งแต่ บริกรรม โดยการที่เพ่งดูปฐวีกสิณ ในที่เงียบสงัด ลองคิดดู นึกถึงการที่เพ่งจ้องที่กสิณ แล้วก็หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง เพื่ออะไร เพื่อให้จิต ไม่นึกถึงอารมณ์อื่น นอกจากปฐวีกสิณเท่านั้น จนกว่าจะเกิด อุคคหนิมิตขึ้น คำว่าอุคคหนิมิต หมายความถึง นิมิตที่ปรากฏโดยไม่ต้องดูกสิณ หมายความว่าใจ จดจำลักษณะของปฐวีกสิณ จนแม้ไม่ลืมตา หรือไม่ได้มอง ไม่ได้ดู ไม่ได้เพ่ง ที่ปฐวีกสิณ ก็สามารถที่จะเห็นปฐวีกสิณเป็นนิมิตชื่อว่า อุคคหนิมิต ในขณะที่อุคคหนิมิตเกิด กำลังบริกรรมอยู่ คือหมายความว่ากำลังเพ่งดูปฐวีกสิณ โดยการลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง แล้วก็ตรึกถึงแต่ปฐวีกสิณ ในขณะที่กำลังทำอย่างนั้น อุคคหนิมิตเกิดขึ้น ยังไม่ใช่อุปจารสมาธิ เป็นแต่เพียง บริกรรมสมาธิ เห็นความต่างกันหรือยังคะ บริกรรมกสิณคือรูปของกสิณ เวลาที่เพ่งจ้องจนกระทั่งจิตสงบ มั่นคง ไม่ตรึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปรากฏลักษณะของปฐวีกสิณ แม้ไม่มองดูด้วยตา ขณะนั้นเป็นอุคคหนิมิต แต่ยังเป็นบริกรรมสมาธิ หลังจากนั้นแล้ว ก็จะต้องพยายามอย่างยิ่ง ที่จะประคองอุคคหนิมิตซึ่งปรากฏแล้ว ให้ปรากฏอยู่เรื่อยๆ แล้วลองคิดดูว่าชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ จะทำยากง่ายสักแค่ไหน เวลาที่อุคคหนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องกลับที่พัก เพื่อที่จะให้จิต ตั้งมั่นคง สงบ ที่อุคคหนิมิตที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าอุคคหนิมิตนั้นเป็นเครื่องหมาย ว่า จิตสงบจากอารมณ์อื่น จนกระทั่งปฐวีกสิณนิมิตนั้นปรากฏได้ทางใจ แม้ว่าไม่มองดู เพราะฉะนั้น การที่จะให้อุคคหนิมิตนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น ก็คือว่า แม้ไปสู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ต่อหน้าปฐวีกสิณนั้น อีกต่อไป  แต่ว่า กลับไปสู่อาวาส ที่อยู่ หรือว่าที่พัก แล้วก็ยังสามารถที่จะให้เห็น อุคคหนิมิตนั้นอยู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะยากสักแค่ไหน เพียงแต่จะเดินทางกลับไปที่พัก ก็จะต้องมีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ซึ่งจะทำให้อุคคหนิมิตนั้นหายไป เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาที่จะให้ถึงอุปจารสมาธินั้นถึงจะยากสักแค่ไหน แม้แต่เพียงขั้นเริ่มต้น ที่จะ ต้องตรึกด้วยความแยบคาย และก็จะต้องมีปฐวีกสิณ ที่จะทำให้เกิด อุคคหนิมิตขึ้น แต่ว่ายังไม่ใช่อุปจารสมาธิ ยังจะต้องประคองทำให้จิต ตรึกนึกถึงแต่อุคคหนิมิตนั้น จนกว่าจิตจะมั่นคงขึ้น โดยที่ว่านิมิตนั้นผ่องใสบริสุทธิ ร้อยเท่าพันทวีของอุคคหนิมิตที่เกิด ขณะนั้นเป็นอุปจารสมาธิ ขณะนี้ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ยังไม่ใช่ฌานจิต เป็นเพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น ที่มีปฏิภาคนิมิตปรากฏ ผู้ที่สามารถจะให้ปฏิภาคนิมิตไม่เสื่อมไป จนกระทั่งองค์ของฌาน ทั้ง ๕ ปรากฏ จึงจะเป็นปฐมฌาน ในขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ  นิวรณธรรมทั้งหลาย เกิดไม่ได้ก็จริง แต่ว่าองค์ของฌานทั้ง ๕ คือ วิตกะ วิจาระ ปีติ สุขะ เอกคตา เจตสิก ๕ องค์ ยังไม่ปรากฏตราบใด ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ คือยังไม่ใช่ฌานจิต เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ความสงบ และสมาธิที่สงบมั่นคงขึ้น ต้องคู่กันกับปัญญา มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาองค์ของฌานได้ ไม่สามารถที่จะพิจารณาว่า วิตก ไม่ใช่วิจาร แล้วก็วิตกนั้นยังหยาบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้นต่อไป จนกระทั่งถึงทุติยฌาน ต้องเห็นโทษของวิตกเจตสิก ซึ่งหยาบ หยาบกว่าวิจารเจตสิก  เมื่อเห็นโทษแล้ว จึงเพียรที่จะระลึกถึงปฐวีคือกสิณ จนกระทั่งปฏิภาคนิมิตปรากฏ พร้อมกับวิจารณ์ โดยที่ขณะนั้นปราศจากวิตก จึงจะเป็นทุติยฌาน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ของง่าย แต่ว่าผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าความสงบจะไม่มั่นคงขึ้น ถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้  แล้วในชีวิตสั้นๆ อันนี้ จะเจริญอะไร ถ้าจะเจริญ สมถภาวนา ก็ไม่แน่ว่าจะถึง อัปปนาสมาธิ หรือไม่ถึง เพราะเหตุว่าในบรรดาผู้ที่ เจริญสมถภาวนา  ที่เป็นบริกรรมสมาธิ ในหมื่นท่าน แสนท่าน ที่จะได้อุปจารสมาธิ ก็สัก ๑ ท่าน แล้วในผู้ที่ได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว ในพันท่าน หมื่นท่าน แสนท่านนั้น ที่จะถึงอัปปนาสมาธิ ก็สัก ๑ ท่าน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยที่ไม่ให้บรรลุถึงฌานจิต ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้


    หมายเลข 5164
    19 ส.ค. 2558