เนกขัมมะ


        เนกขัมมะคือการสละความติดข้อง เริ่มจากการสละสิ่งที่ติดข้องตั้งแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนกว่าจะถึงการสละความเป็นเรา ซึ่งสละได้ยากยิ่ง


        อ.อรรณพ เนกขัมมะ ในพระไตรปิฏกท่านก็แสดงว่าธาตุคือการออกจากกาม

        ท่านอาจารย์ คำว่ากาม หรือกามะ หมายความถึงสภาพที่ใคร น่าใคร่ น่าพอใจ น่าติดข้อง โลภะ คือสภาพธรรมะที่ติดข้องก็คือกาม ติดข้องพอใจในวัตถุกาม สิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจสิ่งนั้นเป็นวัตถุของความยินดีต้องการ ไม่ว่าอะไรทั้งหมดเลยทั้งสิ้น โลภะชอบสิ่งใดติดข้องสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นกามวัตถุ ที่ตั้งของความติดข้อง สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความติดข้องคือการสละ เสียสละ แต่สละอะไร สละความติดข้อง สละความโกรธ หรือสละความไม่ดี สละความไม่รู้ทั้งหมดเป็นการสละ ตรงกันข้ามกับความติดข้อง ถ้ายังติดข้องจะสละหรือไม่ การสละต้องเริ่มต้นจากการที่ว่าเราทุกคนติดข้องในหลายๆ อย่าง มากด้วย สละสิ่งที่เราติดข้องได้ไหม ไม่ได้ ถ้าติดข้องมากไม่ยอมแน่ใช่ไหม ถ้าน้อยลงๆ ก็อาจจะพอสละได้ แต่บางคนก็ยังเสียดาย ทั้งๆ ที่สละแล้ว เห็นเยื่อใยหรือไม่ของความติดข้องที่จะสละความเป็นเราออกจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะยากสักแค่ไหน วัตถุภายนอกก็ยังสละยาก แต่ก็ยังพอสละได้ แต่ถ้าเป็นตัวเราทั้งหมดที่จะไม่ใช่เราอีกต่อไป ถ้าไม่เคยสละอะไรมาบ้างเลย จะสละได้ไหม

        เนกขัมมะ คือสละความติดข้อง เราจะเป็นคนที่รู้ตัวเอง เป็นผู้เสียสละ คนอื่นจะไม่รู้เลยนอกจากคนที่เสียสละ เขาสละอะไรบ้าง เพื่อใครบ้าง อาจจะในบรรดาพี่น้องเราก็อาจจะมีการเสียสละ สิ่งนี้คนนั้นชอบให้เขาไปเถอะ หรืออะไรอย่างนี้ก็ได้ ซึ่งไม่มีใครรู้เลย ทำไมเราไม่เลือกสิ่งที่ดี เพราะให้คนอื่นเขา ชีวิตประจำวันก็เป็นธรรมอย่างละเอียดยิ่ง สละความโกรธที่จะไม่พูดคำที่ไม่น่าฟัง เคยสละไหม สละการที่จะพูดตามใจชอบที่ไม่น่าฟัง อยากจะว่าก็ว่าอยากจะพูดก็พูด หรือว่าสงสารเขาเถอะ คงไม่มีใครชอบฟังคำอย่างนี้หรอกใช่ไหม การเสียสละมีได้ทุกวัน ถ้าเราเป็นคนที่ละเอียดไม่ว่าจะในการเป็นอยู่ ในการรับประทานอาหาร ในการสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ถ้าเราสละได้เพิ่มขึ้น บ่อยขึ้น ความติดข้องของเราก็น้อยลง และถ้ามีปัญญาก็ยิ่งเห็นว่าควรสละไหม หรือควรติด แต่ก็ยากแสนยาก เพราะเหตุว่าติดมานานแสนนาน

        ด้วยเหตุนี้แม้แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันสละความเป็นเราจากทุกอย่างที่กำลังมีขณะนี้ จากเห็น จากได้ยิน จากคิด อะไรทั้งหมด ก็ยังติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะ เพราะได้สะสมมานาน เป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผลว่าการที่จะละกิเลส กิเลสมากมายเหลือเกินจะละอะไรก่อน ถ้าไม่ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราไม่มีทางที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย

        อ.อรรณพ ตระหนี่ความเป็นเราไว้อย่างงั้น อย่างอื่นยังพอจะสละในบางโอกาส สละความเป็นเรานี้ยากมาก

        ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเข้าใจธรรม และเห็นประโยชน์ของการสละ ก็สละได้ทุกวัน มีเรื่องที่จะสละได้ทุกวันมากหรือน้อยก็แล้วแต่ อาจจะไม่มีการสังเกตเลย แต่ว่าก็จะรู้ได้ว่าสละได้ทุกวันจริงๆ ไม่ว่าสละอะไร สละที่นั่งในรถประจำทางได้ไหม สละชีวิตเพื่ออะไรๆ ก็แล้วแต่ ก็เป็นแต่ละหนึ่งที่จะเห็นประโยชน์ของการสละเพื่อประโยชน์

        อ.ธีรพันธ์ ได้ยินคำว่า เนกขัมมะวิตก

        ท่านอาจารย์ กำลังเป็นเนกขัมมะวิตกหรือเปล่าเดี๋ยวนี้

        อ.ธีรพันธ์ วิตกที่จะออกจากความไม่รู้

        ท่านอาจารย์ เป็นหรือเปล่า

        อ.ธีรพันธ์ เป็น

        ท่านอาจารย์ กุศลทั้งหมดก็เป็นประโยชน์ที่เราจะได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่พูดเรื่องนี้แล้วอยู่ไหน เมื่อไหร่ แม้แต่เดี๋ยวนี้ สละการที่จะไปนั่งสบายๆ ข้างนอกหรือไม่ สละการที่จะต้องดื่มน้ำ ออกไปข้างนอกหรือไม่ แต่เพื่อประโยชน์ ก็แล้วแต่ คือว่าถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วจะเป็นผู้ที่มีกุศลได้แม้เล็กน้อยก็ดีกว่าที่จะให้อกุศลเกิด ทีละนิดทีละหน่อย ทีละเล็กทีละน้อย น้ำแต่ละหยดจนกว่าจะเต็มโอ่ง จนกว่าจะเต็มมหาสมุทรหรือเปล่า ทั้งหมดนี้ก็คือกถา คำพูดเพื่อความเพียร เพื่อความอดทน ซึ่งก็เป็นบารมี ถ้าเราไม่เข้าใจประโยชน์จริงๆ ของการได้ฟังพระธรรมเราก็จะฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ เพิ่มความมั่นคง อธิษฐานไม่ใช่ขออะไรใครเลย แต่เป็นการตั้งจิตมั่น ไม่ใช่ใครตั้งด้วย แต่ปัญญาที่เห็นประโยชน์ทำให้จิตนั้นมั่นคงที่จะไม่ไปสู่ทางอื่นคือทางไม่รู้

        การฟังธรรม และเข้าใจประโยชน์ เห็นไหมว่าใครช่วยให้ทุกคนเป็นคนดี ใครช่วยทำให้ความไม่รู้หมดไป ต้องเป็นผู้ที่เสียสละ ทรงบำเพ็ญพระบารมีไม่ใช่เพียงเป็นผู้ที่เป็นสาวกเท่านั้น ไม่ใช่ถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังแม้คำเดียวว่าธรรม แต่ละคำๆ ไม่มีโอกาสจะได้ฟังเลย คิดถึงผู้ที่สละตนเองเพื่อผู้อิ่นที่จะมีโอกาสได้เข้าใจความจริงด้วย เพราะว่าต้องบำเพ็ญบารมีนานกว่าผู้ที่เป็นสาวก จะฟังคำของคนอื่นที่ไม่ใช่วาจาสัจจะ หรือว่าจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง


    หมายเลข 10764
    8 มี.ค. 2567