ขณะนี้ก็ยังไม่รู้


    เรณู   ที่กล่าวว่าพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ให้พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏไปแล้ว และสอนให้เป็นคนระลึกถึง ไม่อาจนับเป็นพระคุณ

    ส.   ระลึกถึงอะไร  ต้องเป็นเรื่องละเอียด  สิ่งที่ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว แล้วจะระลึกถึงอะไรที่ผ่านไปแล้ว ที่หมดไปแล้ว คือ คำพูดทุกคำไม่ใช่คำพูดที่เราจะรับฟังโดยที่ไม่ไตร่ตรอง หรือว่าโดยที่ไม่พิจารณา แต่ว่าเมื่อได้ยินคำใดแล้ว คำพูดนั้นต้องสมควรที่จะไตร่ตรองให้ได้เข้าใจจริง ๆ ในคำพูดนั้น ถ้ามีคำกล่าวว่า ให้ระลึกถึงสิ่งที่หมดไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ก็ควรถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่จะระลึก สิ่งใดที่ล่วงไปแล้วที่จะระลึก  เป็นเรื่องของการที่จะซักถามให้เกิดความเข้าใจที่ตรงและถูกต้อง ฟังเฉยๆ ก็ไม่ทราบว่า จะให้ระลึกอะไรที่ล่วงไปแล้ว  ข้อสำคัญที่สุด สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่เหลือ ทุกอย่าง แม้แต่จิตเมื่อวานนี้ ก็ไม่ใช่จิตขณะนี้ที่กำลังเห็น  หรือจิตที่เห็นในขณะนี้ ก็ไม่ใช่จิตเห็นเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นสภาพธรรมะแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เมื่อดับล่วงภังคขณะ คือขณะที่ดับ ก็หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้น จะให้ระลึกถึงสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว

    พระพุทธเจ้าสอนให้เข้าใจสภาพธรรมะที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ แต่ห้ามความคิดไม่ได้ มีใครบ้างที่จะไม่คิด แต่ขณะที่คิดต้องรู้สภาพธรรมะที่คิดว่า เป็นเราคิดหรือเปล่า การที่จะรู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ตรงกับที่ทรงแสดงว่า ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา  เมื่อเป็นพระพุทธดำรัสแล้วไม่มีใครที่จะปฏิเสธ หรือจะเปลี่ยนคำนี้ได้เลย  ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา

    เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเห็นค่อยๆ ตรง ค่อยๆ ถูก ว่า ธรรมะทั้งหลายคืออะไร แล้วก็เป็นอนัตตา คือ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ สภาพธรรมะใดเกิดต้องมีปัจจัยเฉพาะสภาพธรรมะนั้น  สภาพธรรมะนั้นจึงเกิดได้ ไม่สับสนกัน

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ขณะที่คิด เป็นเราคิด หรือว่า เป็นธรรมะที่คิด 

    นี่คือการที่จะเข้าใจความจริง เพราะว่าทั้งหมดต้องรู้ความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่มีเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้  แต่สภาพนั้นเป็นอะไร นี่คือปัญญา แต่ถ้าไม่สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมะอะไรก็ไม่ใช่ปัญญา

    เพราะฉะนั้น ปัญญาคือขณะที่สามารถจะเห็นสภาพธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสภาพคิด สภาพเห็น สภาพได้ยิน สภาพจำ ทุกอย่างเป็นธรรมะ คือหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะอย่าง เช่นขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด นี่แน่นอน ขณะที่ได้ยิน เพียงได้ยินเสียง ก็ไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะเหตุว่าแม้ไม่เห็น แม้ไม่ได้ยิน ก็ยังคิดได้  แต่เวลาที่เห็นแล้วคิด สืบต่อกันเร็วมาก ก็คิดถึงสิ่งที่เห็น เวลาที่ได้ยินเสียง ก็คิดถึงเสียงสูงต่ำซึ่งมีความหมาย ขณะนั้นก็เป็นการคิดถึงเสียงที่กำลังได้ยิน หรือว่าที่เพิ่งผ่านไป ที่ได้ยินแล้ว แต่การที่จะรู้ว่า คิดต่างกับเห็น คิดต่างกับได้ยิน ก็เพราะเหตุว่าแม้ว่าไม่เห็น แม้ว่าไม่ได้ยิน จิตก็คิดได้

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะคืออย่างไร ทั้งหมดเป็นธรรมะ คำนี้คือคำตั้งต้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงว่า ทั้งหมดก็คือเดี๋ยวนี้ แต่ละขณะ แต่ละอย่างแต่ละสภาพธรรมะเป็นธรรมะอย่างไร

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คิดขณะนั้นก็เป็นธรรมะด้วย เป็นธรรมะอะไร

    นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ความจริงคิดถึงอะไร คิดถึงเรื่องราวต่างๆ หรือคิดถึงสภาพจำ นี่ก็คือยังไม่ได้แยกเลย ยังไม่ได้แยกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ถาม นี่คือความสำเร็จในธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

    ส.   ความสำเร็จอะไร

    ผู้ถาม มีขัดเกลากิเลส

    ส.   เดี๋ยวนี้มีกิเลสหรือเปล่า

    ผู้ถาม มี

    ส   ขัดอย่างไร

    ผู้ถาม ถ้าเผื่อเราขัด ช่วยขัดทีละนิดละหน่อย เดี๋ยวเราก็คงจะหลุดๆ บ้าง

    ส.   ถ้าไม่มีความรู้ จะขัดได้ไหมคะ ความรู้ขัด หรือเราขัด เราไปเอาสิ่งที่สกปรกยิ่งกว่านั้นมาขัด ก็ยิ่งสกปรกกันใหญ่ เพราะว่าไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น การที่ขัดจริงๆ ไม่ใช่เรา แต่เป็นความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมะในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ จึงจะละความเป็นเราจากสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราอย่างไร แต่ไม่ใช่ไปนึกเป็นเรื่องเป็นราว จะเอาตัวตนไปขัดอะไรนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าปัญญาต้องสามารถเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าจะไปรู้ความจริงของสิ่งซึ่งไม่ปรากฏในขณะนี้ที่ล่วงไปแล้วหรือที่ยังไม่เกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อสิ่งนั้นยังไม่ปรากฏเหมือนอย่างนี้ แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างนี้ แล้วไม่มีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะเข้าใจว่า ไปรู้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ขณะนี้ได้อย่างไรคะ ในเมื่อขณะนี้ก็ยังไม่รู้


    หมายเลข 10372
    18 ก.ย. 2558