เบื่อโลกไหม


        ท่านอาจารย์ อะไรนักหนากับสิ่งที่เพียงปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไป ดับไปแล้วไม่กลับมาอีก แต่เพราะความไม่รู้ แทนที่จะเป็นอะไร กลับหนักหนามาก พอใจเหลือเกิน แสวงหาไม่สิ้นสุดเลย โลกทางตาไปดูตามห้างสรรพสินค้า เต็มไปด้วยโลกทางตาทั้งนั้นเลย สำหรับทางตาเห็น แต่เห็นแล้วดับ ไม่กลับมาอีก แต่ใจที่รับรู้ และคิดต่อ สร้างเรื่องราวมากมาย ร้านเพชรมีอะไรบ้าง ร้านเสื้อผ้ามีอะไรบ้าง ร้านอาหารมีอะไรบ้าง ร้านเครื่องกีฬามีอะไรบ้าง ทั้งหมดมาจากเห็น ๑ ขณะ นี่คือตามความเป็นจริง เพราะความไม่รู้เป็นเหตุให้ติดข้อง

        เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ในภาษาบาลี ใช้คำว่า “อวิชชา” ความติดข้องในภาษาบาลี ใช้คำว่า “โลภะ” หรือ “ตัณหา” มีหลายชื่อ เช่น สนุกสนาน นันทราคะ เพลิดเพลิน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นลักษณะของความติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีก แล้วใครรู้ความจริงจนดับกิเลสทั้งหมดได้ เพราะเหตุว่าเมื่อติดข้องแล้ว พอใจแล้ว อยู่เฉยๆ หรือเปล่า อยากได้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำทั้งหมดก็มาจากความไม่รู้ และความติดข้อง แสวงหาเพื่อให้ได้มาก กว่าจะได้มายากไหมคะยาก ได้มาแล้วเก็บรักษาไว้อย่างดีไหมคะ เบื่อไหมคะ ถึงวันเบื่อไหม ไม่เห็นมีอะไร บางทีเสื้อผ้ายังไม่ทันใส่เลย นานตั้งหลายปี เบื่อแล้ว เพราะว่าล้าสมัยไปแล้ว

        นี่ก็เป็นเรื่องของชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมะทั้งหมด แต่ไม่เคยรู้เลยว่า โลกของทางตาก็เป็นอย่างนี้ คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วก็คิด แล้วก็จำต่างๆ ไม่อย่างนั้นร้านทั้งหลายก็คงขายอะไรไม่ได้ แต่นี่ขายทุกวัน ไม่จบ เพราะเดี๋ยวคนนี้ก็ชอบอย่างนั้น เดี๋ยวคนนั้นก็ชอบอย่างนี้ นี่คือชีวิตประจำวัน

        เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ฟังธรรมะเลย จะออกจากสังสารวัฏ จะพ้นจาก ๖ โลกนี้ได้ไหม นานแสนนานมาแล้วก็เป็นอย่างนี่ อย่างที่คุณอรรณพพูดวันก่อนว่า ไม่เบื่อที่จะไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และไม่เบื่อที่จะติดข้องอยู่เรื่อยๆ ไม่เห็นเบื่อ แต่ถ้าไม่รู้ความจริง ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางเห็นความจริง จนสละสิ่งที่เคยติดข้อง แล้วมีความเห็นถูกต้องได้

        เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกันของปัญญา และอวิชชา

        อ.ธิดารัตน์ เบื่อด้วยอกุศล กับเบื่อด้วยความเข้าใจ ท่านอาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างเพิ่มเติมด้วยค่ะ

        ท่านอาจารย์ เวลาใช้คำว่า “เบื่อ” ขณะนั้นไม่ชอบใช่ไหมคะ กำลังสนุก เบื่อไหมคะ ไม่มีการเบื่อสิ่งที่น่าเพลิดเพลินเลย แต่ทั้งหมดก็คือ “เรา” จนกว่าจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร ก็คลายจากความติดข้อง ใช้คำว่า “หน่าย” เพราะเห็นความจริง รู้ว่าเกิดมาทำไม อย่างที่เมื่อวานก็พูดมาแล้วครั้งหนึ่งว่า เกิดมากิน กินเสร็จแล้วก็นอน หลับไปก็ตื่นมาใหม่ ก็กินอีก นอนอีกไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบเลย เพราะฉะนั้นไม่รู้ความจริงว่า ต้องทั้งนั้น มีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จะไม่เป็นอย่างนี้ไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้

        เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้ที่ตรง เพราะผู้ที่ตรงจะได้สาระจากพระธรรม แต่ถ้าไม่ตรงก็จะไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย เช่น พอฟังแล้วเบื่อเหลือเกิน เป็นอย่างไรคะ ไม่มีปัญญาเลย แล้วเบื่ออะไร ถ้าถามจริงๆ ก็ตอบไม่ถูก นอกจากเบื่อที่ไม่ได้สิ่งที่เราอยากได้ เราก็เบื่อ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราอยากได้ต้องการ ถามสักนิดว่า ขณะนั้นเบื่อ หรือเปล่า ไม่เบื่อเลย

        นี่แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับอวิชชา หรือปัญญา ถ้าเป็นอวิชชาเบื่อหมดเลย เพราะไม่ได้สิ่งที่อยากได้ ไม่ได้สิ่งที่พอใจ แต่เวลาที่เป็นปัญญา กว่าจะรู้ถึงโทษของการเกิดแล้วดับ เป็นโทษ หรือไม่ เกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลย แล้วจะเหลืออะไร ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากความไม่รู้ และความติดข้อง

        เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอย่างนี้ ก็จะเห็นโทษภัยของความไม่รู้ และความติดข้อง เมื่อนั้นจึงจะค่อยๆ ละคลายความติดข้อง โดยความรู้ความเข้าใจความจริง

        เพราะฉะนั้น สำหรับปัญญา มีหลายระดับ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง สุตตมยญาณ ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีทางจะเข้าใจได้เลย และเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจแล้วจบ เคยจำสิ่งที่ได้ฟังบ้างไหมคะ หรือไม่มีการจำเลย ชั่วขณะที่ฟังก็ฟัง แล้วลืม หรือความคิดมีหลากหลาย เคยคิดเรื่องอื่นมามากมาย แต่ก็มีปัจจัยทำให้คิดถึงธรรมะที่ได้ฟัง แล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วขณะนั้นก็มีธรรมะปรากฏด้วย

        ด้วยเหตุนี้ฟังเผินๆ เพียงแค่ได้ยิน แต่ฟังเห็นประโยชน์ จากการเห็นประโยชน์ และการสะสมว่า ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับความเห็นถูก ความเข้าใจถูกก็จะทำให้สังขารขันธ์ คือ สภาพธรรมะ ไม่ใช่เรา แต่ความเข้าใจ ความศรัทธาจากการได้ฟัง และเห็นประโยชน์ ค่อยๆ ปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้มีความมั่นคงขึ้นในการเห็นประโยชน์

        เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นประโยชน์แล้วก็ฟัง ด้วยความละเอียดแล้วก็เข้าใจขึ้น กว่าจะหน่าย เห็นไหมคะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะหน่ายได้เพียงแค่ฟัง แต่กว่าจะหน่ายได้ต้องรู้แจ้งสภาพธรรมะที่ปรากฏด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เราจะไปหน่ายได้ง่ายๆ เลย ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ความจริงว่า เห็นก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปหน่ายที่ต้องเห็นไปอีก ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


    หมายเลข 10174
    18 ก.พ. 2567