ติเตียนท่านผู้เป็นอริยะ ย่อมตกนรก
โดย วันชัย๒๕๐๔  22 ก.พ. 2564
หัวข้อหมายเลข 33771

ชมคนที่ควรติ ติคนที่ควรชม

"คนที่ตั้งใจและใช้วาจาลามก ติเตียนท่านผู้เป็นอริยะ ย่อมตกนรก ตลอดเวลา สิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุทะ กับอีกห้าอัพพุทะ"

ข้อความบางตอน อันเนื่องมาจากการสนทนาพระสูตร ปฐมขตสูตร วันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

อ.ผเดิม   การชมคนที่ควรติ กับติคนที่ควรชม เหตุเกิดจากอะไร และมีความละเอียดอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์   ก็เป็นความเข้าใจผิด เห็นว่าสิ่งที่ถูกเป็นผิด และเห็นสิ่งที่ผิดเป็นถูก

อ.ผเดิม   ในเหตุการณ์ปัจจุบัน ได้รับฟังมาว่า การที่เรากล่าวว่า สำนักปฏิบัติ ทำลายพระพุทธศาสนา เป็นการตำหนิผู้อื่น ซึ่งในพระสูตรนี้แสดงว่า การติสิ่งที่ควรติเป็นบุญ เป็นบัณฑิต ส่วนการติในสิ่งที่ควรชม เป็นพาล ไม่ใช่บุญ

ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้น เราติความผิด หรือเราติคน? สิ่งที่ผิด ผิดแน่!! ใครจะบอกว่าสิ่งที่ผิด ถูก สมควรไหม? พระสูตรนี้กล่าวไว้อย่างไร? เราไม่ได้ติคน ไม่มีคน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผิด ควรติไหม? แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ตรัสว่า ภิกษุลามก หรือเปล่า? ติความลามก ไม่ว่าอยู่ที่ไหน

เพราะฉะนั้น ติธรรมะคือสิ่งที่ไม่ดี จะบอกว่าดีไม่ได้ และต้องรู้ด้วยว่า ทำไมพูด? บางคนก็บอกว่า รู้แล้วก็อย่าพูดสิ จะเป็นประโยชน์ไหม ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วไม่ทรงแสดงพระธรรม เป็นประโยชน์ไหม?

เพราะฉะนั้น ก็ต้องคิดถึงประโยชน์ ว่าประโยชน์ พูดเพื่ออะไร? เพื่อให้คนเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่ไม่เข้าใจ หรือว่าเข้าใจผิด ไม่ได้เข้าใจหรือว่าเข้าใจผิดกันต่อไป มิฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมให้คนที่เข้าใจผิด ได้เกิดความเข้าใจถูกหรือ? ถ้าพระองค์คิดว่าไม่ควรจะต้องพูดสิ่งที่ถูก

เพราะฉะนั้น ทำตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? ทุกคำที่กล่าวถึงพระองค์ เป็นการเคารพอย่างยิ่ง ในพระคุณที่ได้ทรงแสดงความจริง มุ่งหวังที่จะให้คนอื่นมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ละทิ้งสิ่งที่ผิด เป็นประโยชน์ไหม?

แล้วจะกล่าวว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้อย่างไร ถ้าไม่กล่าวคำของพระองค์ให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก คำพูดทั้งหมดต้องมีเหตุผล ไม่ใช่เลื่อนลอย

แล้วทำไมถึงจะไม่พูดคำที่ถูก ทำไม? ลองหาคำตอบสิว่า ทำไม? คนนั้นเข้าใจถูกหรือเปล่า? ถ้าเข้าใจถูกจริงๆ ต้องเห็นประโยชน์ของความถูกต้อง

คนที่บอกว่านับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่ฟังคำของพระองค์ ฟังคำของคนอื่น นับถือใคร? นับถือคนอื่น หรือนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๖

๓.ปฐมขตสูตร

(ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต)
[๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล เป็นคนโง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือความดี) เสียแล้ว ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ชมคนที่ควรติ ๑ ติคนที่ควรชม ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นคนพาล เป็นคนโง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือความดี) เสียแล้ว ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเป็นคนฉลาด เป็นสัตบุรุษ ครองตนอันไม่ถูกขุด ไม่ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง เป็นผู้หาโทษมิได้ ผู้รู้สรรเสริญ และได้บุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือบุคคลใคร่ครวญสอบสวนแล้ว ติคนที่ควรติ ๑ ชมคนที่ควรชม ๑ แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นบัณฑิตเป็นคนฉลาด เป็นสัตบุรุษ ครองตนอันไม่ถูกขุด ไม่ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง เป็นผู้หาโทษมิได้ ผู้รู้สรรเสริญ และได้บุญมากด้วย

(พระคาถา)

ผู้ใดชมคนที่ควรติ หรือ ติคนที่ควรชม ผู้นั้น ชื่อว่าก่อ (กลี) ความร้ายด้วยปาก เพราะความร้ายนั้น เขาก็ไม่ได้ความสุข นี่ ร้ายไม่มาก คือ การเสียทรัพย์ ในการพนัน แม้จนสิ้นเนื้อประดาตัว สิ่งนี้สิ ร้ายมากกว่า คือ ทำใจร้าย ในท่านผู้ดำเนินดีแล้วทั้งหลาย คนที่ตั้งใจและใช้วาจาลามก ติเตียนท่านผู้เป็นอริยะ ย่อมตกนรก ตลอดเวลา สิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุทะ กับอีกห้าอัพพุทะ

จบ ปฐมขตสูตรที่ ๓

ติดตามชมการสนทนาฉบับเต็ม ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง :



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 22 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 2    โดย pulit  วันที่ 23 ก.พ. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ