การฟังธรรมกับการปฏิบัติ
โดย oom  27 มิ.ย. 2551
หัวข้อหมายเลข 9036

ดิฉันจะชอบฟังธรรม ส่วนเพื่อนจะชอบปฏิบัติ คือเดินจงกรม นั่งสมาธิ ซึ่งดิฉันจะไม่ชอบนั่งสมาธิ ส่วนใหญ่เราก็จะมาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ดิฉันคิดว่าไม่ต้องไปวัดก็ได้ อยู่ในชีวิตประจำวันก็ปฏิบัติธรรมได้ แต่เพื่อนดิฉันคิดว่าถ้าได้ไปในสถานที่เฉพาะ จะมีเวลาปฏิบัติได้มากกว่าอยู่ข้างนอก เพราะอยู่ข้างนอกมีเรื่องที่มากระทบเยอะ ปฏิบัติไม่ค่อยได้ ดิฉันจึงแนะนำให้ฟังธรรม เพราะดิฉันฟังธรรมประจำ สามารถช่วยให้เข้าใจได้มาก แต่เพื่อนดิฉันบอกว่าไม่มีเวลา ก็ต้องแล้วแต่ความชอบ ส่วนใหญ่ก็จะสนทนาแลกเปลี่ยนกันเสมอ

อยากทราบว่าการฟังธรรมกับการปฏิบัติมีความแตกต่างกันหรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 27 มิ.ย. 2551

การฟังธรรม คือ การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจมีประโยชน์แก่ผู้ศึกษาเป็นอย่างมาก เป็นทรัพย์อันประเสริฐอย่างหนึ่ง คือสุตะ การฟังพระธรรม ทำให้เข้าใจความจริง ทำให้เข้าใจหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่หลงทำสิ่งที่ผิด รู้สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร การฟังธรรมเป็นกุศลขั้นภาวนา การปฏิบัติธรรม โดยมากในพระไตรปิฎกท่านหมายถึง การเจริญสมถภาวนาและการเจริญวิปัสสนาภาวนา (สมณธรรม) ถ้าขาดการศึกษาพระธรรมอย่างถูกต้องแล้วการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องย่อมมีไม่ได้ เพราะการปฏิบัติมี ๒ อย่าง คือปฏิบัติผิด ๑ ปฏิบัติถูก ๑ อนึ่งการปฏิบัติธรรมของผู้ที่เป็นฆราวาส ไม่จำเป็นต้องเข้าป่าหรือนั่งในห้องแคบๆ แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว แม้ในชีวิตประจำวัน สติปัฏฐานย่อมเกิดได้ สติขั้นสมถภาวนาย่อมเกิดได้ และกุศลจิตที่กระทำกิจหน้าที่ เช่น ดูแลมารดาบิดา เป็นต้น ก็เกิดได้ ดังนั้น ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ควรรีบปฏิบัติอะไร จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า คืออะไร รู้อะไร เพื่ออะไร 

..


ความคิดเห็น 2    โดย choonj  วันที่ 27 มิ.ย. 2551

ผมก็พอมีประสบการณ์การปฏิบัติและการฟังธรรม จีงขอแสดงความเห็นเพื่อบางทีจะได้เห็นความแตกต่างการปฏิบัติธรรม ก่อนที่จะเคยฟังธรรม ผมเคยไปสถานปฏิบัติแห่งสองแห่งและแต่ละแห่งไช้เวลา ๑๔ วัน ๓ วันแรกก็อยากกลับบ้านแต่พอวันที่ ๔ ก็พอไหว การปฏิบัติก็ตืนแต่เช้า นอนแต่หัวค่ำ นั่งสมาธิครั่งละชั่วโมงสองชั่วโมง วันละ ๑๑ ชั่วโมงทานวันละมื้อหรือสามมื้อ แล้วอาจารย์ก็สอนวิธีนั่ง และถ้ามีปัญหาก็ให้ถาม เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปเป็นการต่อสู่กับความปวดเพราะไม่ให้ขยับตัว และถ้าโชคดีความปวดหายและนั่งได้นานก็เข้าไจว่าเราพอนั่งได้แล้ว เพื่อนที่นั่งด้วยกันก็จะมีอาการแตกต่างกันไปตามที่ทราบกันอยู่บางคนก็ต้องนวดคลายปวด แล้ววันที่ ๑๔ ก็มาถึง สิ่งที่ได้คือมีความสงบบ้างแต่ทีหลังก็คิดได้ว่าความสงบเกิดเพราะไม่ได้เห็นแสงสีเป็นเวลา ๑๔ วัน และเมื่อกลับมาวันสองวันก็เหมือนเดิม ก็ดีเหมือนกันถ้าต้องการเพียงความสงบเพื่อสุขภาพ ทุกวันนี้ยังหาอาจารย์ที่สอนปฏิบัติดีๆ ไม่ได้ และถ้ามี ตัวผมเองคงปฏิบัติไม่ได้เพราะปัญญาไม่ถีง.

การฟังธรรม. ผมเริ่มศึกษาพื้นฐานอภิธรรมเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว และได้ฟังธรรมหลายแห่ง มีประสบการณ์ว่า ถ้าไม่เจออาจารย์ที่สอนถูกตามพระไตรปิฏกแล้วก็เหมือนกับการไปสถานปฏิบัติ จะบอกได้จากการฟังวิทยุทุกวันนี้ซึ่งถ้าฟังดีๆ แล้วจะรู้ว่าไม่ได้อะไรเลย บางที่ก็เอาพระสูตรมาอ่านและถ้าไม่รู้พระอภิธรรมก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วพระสูตรสอนอะไรบางแห่งก็ชวนไห้ทำบุญเสียส่วนใหญ่ บางแห่งก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่ ทุกวันนี้ผมฟังอาจารย์ สุจินต์ เพราะยังหาผู้ที่สอนดีกว่าท่านไม่ได้และคิดว่าไม่น่าจะมี

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าใจ เพราะเมื่อเข้าใจแล้วก็คือ การปฏิบัติไปในตัว เพราะไม่มีไครปฏิบัติ มีแต่สังขารธรรมปฏิบัติ การที่จะ "เข้าไจ" ก็ต้องมี การอ่าน การฟัง และการศึกษา เมื่อเข้าไจก็เป็นปัญญาซึ่งยอดปรารถนา ผู้ที่เกิดด้วยสองเหตุก็จะปฏิบัติหรือฟังได้ไม่ดีเท่าผู้ที่เกิดด้วยสามเหตุ ถ้าเราเกิดด้วยสองเหตุก็ฟังดีกว่าเพราะปฏิบัติไม่ได้แน่นอน ถ้ายังคิดจะไปปฏิบัติแล้วผิดก็มีโอกาสจะเป็นบ้าดังมีตัวอย่าง ถ้าฟังแล้วไม่บ้าแน่นอน. ถ้าเกิดด้วยสามเหตุก็ลองไปปฏิบัติดู และถ้าถูกก็อย่าลืมมาบอกกันด้วยโอกาสปฏิบัติถูกร้อยต่อหนึ่งนะ.


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 27 มิ.ย. 2551

พระสัทธรรมมี 3 อย่างคือ

1. ปริยัติ

2. ปฏิบัติ

3. ปฏิเวธ

ถ้าไม่อาศัยการฟังให้เข้าใจการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องก็มีไม่ได้ ในครั้งพุทธกาล แม้แต่ สาวกแปลว่าผู้ฟัง ยังต้องอาศัยการฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จึงจะสามารถบรรลุธรรมค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย prakaimuk.k  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

จากปกิณณกธรรม ๐๖๕๙๗ - มรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นด้วยอะไร

ทุกท่านคงจะคุ้นหูกับคำว่า มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ความเห็นถูก เป็นอีกคำหนึ่งของปัญญา ปัญญาไม่เห็นผิดเลย แต่มิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด ไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่

กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นขอให้พิจารณาว่า จะศึกษาหรือว่าจะฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น หรือว่าจะปฏิบัติด้วยความเป็นเรา เพราะว่า ถ้ายังไม่มีความเข้าใจธรรมอย่างถูกต้อง ยังมีความเป็นเราเต็มที่ แล้วก็มีความอยากที่จะปฏิบัติ โดยที่ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด แม้แต่ในรูปศัพท์ภาษาบาลี ที่ว่า ปฏิ + ปติ ปฏิ คือ เฉพาะ + ปติ คือถึง หรือ เห็น เพราะฉะนั้น ปฏิบัติจริงๆ ก็คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและสามารถที่จะระลึก คือ ถึงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ทีละลักษณะ เพราะว่าในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ในขณะที่คิดนึก เป็นสภาพนามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมากทีเดียว เพราะฉะนั้น เราก็จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่เราเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับเร็วมาก ไม่ใช่มีความเป็นเรา ที่อยากจะไปประจักษ์ความเกิดดับ ถ้าเป็นเราแล้วไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ เพราะว่าต้องเป็นปัญญาความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ ที่อบรมเจริญจนถึงขั้นที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมตามลำดับขั้น


ความคิดเห็น 5    โดย ปทปรม  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

การฟังธรรม ฟังแล้วพิจารณาสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ตรงต่อสภาพธรรม ที่กำลังเกิดปรากฏ ด้วยความเคารพต่อพระธรรม

การปฏิบัติธรรม เมื่อฟังเข้าใจแล้ว ก็น้อมมาประพฤติ ปฏิบัติตามกำลัง ปัญญาของตน


ความคิดเห็น 6    โดย เมตตา  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

วามหมายของการ "ปฏิบัติ" ขออนุโมทนาในการให้ความหมายของการปฏิบัติธรรมของคุณ study


ความคิดเห็น 7    โดย pornpaon  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาท่านผู้ให้ความรู้ความเข้าใจ และท่านผู้เจริญกุศลทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ไม่มีเรา  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาบุญค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย khampan.a  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป จึงได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาคุณที่จะเปลื้องหมู่สัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวง จึงทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟัง ได้ฟัง ได้ศึกษา และสั่งสมอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตรงตามที่พระองค์ได้ทรงแสดง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นความจริงทุกประการ และไม่พ้นไปจากปกติชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ท่านก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ ซึ่งต้องเป็นปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เมื่อไม่ใช่ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ได้ ปัญญา ย่อมเกิดจากการฟัง การศึกษา จึงต้องอดทนที่จะฟัง อดทนที่จะศึกษา ในสิ่งที่มีจริง เป็นจริง แล้วความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยไม่ต้องทำอะไรที่ผิดปกติทั้งนั้น ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องทรมานตนให้ลำบาก โดยประการทั้งปวง เพราะหนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เป็นทางสายกลาง ทางสายกลางนั้น ก็คือ การรู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาครับ...

..


ความคิดเห็น 10    โดย natnicha  วันที่ 28 มิ.ย. 2551

มีเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ แต่ไม่มีเวลาฟังธรรม การไปปฏิบัติธรรมที่สำนักใดสำนักหนึ่งบางครั้งต้องลางานไปหลายวัน แต่การฟังพระธรรมสามารถฟังได้โดยไม่ต้องลางาน การฟังธรรมคือการได้ฟังความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แต่การไปนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมไม่ได้ทำให้เราทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงตรัสรู้ความจริงอะไร แล้วสิ่งใดจะสำคัญกว่าระหว่างการฟังธรรมกับการไปปฏิบัติ?


ความคิดเห็น 11    โดย oom  วันที่ 30 มิ.ย. 2551

ขอบพระคุณในความคิดเห็นของทุกท่านมาก ที่ได้ให้ข้อคิดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับดิฉันและคนอื่นๆ

แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าทำไมสถานที่แต่ละแห่งส่วนใหญ่ จะสอนเน้นไปในทางปฏิบัติและการสอบอารมณ์ ทำไมไม่สอนเน้นไปทางการศึกษา การฟังธรรมให้เข้าใจ หรือว่าการสอนตามพระไตรปิฎกนั้น เป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนในยุคปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจังเหมือนท่านอจ.สุจินต์ เพราะดิฉันฟังอจ.สุจินต์มาตลอด ตั้งแต่ปี 2530 แรกก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ชอบฟังเสียงท่านอจ. เพราะฟังแล้วใจสงบเย็น และฟังมาตลอดจนปัจจุบัน ทุกวันนี้ดิฉันเข้าใจธรรมะจากการฟังมากเลย

ตอนก่อนก็ไปปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆ มากมาย พอกลับมาไม่นานก็เหมือนเดิม มีอะไรมากระทบก็ทุกข์ใจ จากการฟังเป็นประจำปัจจุบันทำให้ดิฉันมีความสุขมากขึ้นมองทุกอย่างเป็นธรรมะที่ให้เราได้เรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะการใช้ชีวิตอยู่ตามปกติ มีบททดสอบให้เราทำมากมาย

มีข้อสงสัยอีก 1 ข้อ คือ ผู้ที่มุ่งมรรคผล ถ้าเป็นเพศชายก็คือ การออกบวช และถ้าเป็นเพศหญิงต้องออกไปบวชเป็นชีหรือไม่


ความคิดเห็น 12    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 30 มิ.ย. 2551


อนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 13    โดย study  วันที่ 30 มิ.ย. 2551

ขอตอบความเห็นที่ ๑๑

เป็นคฤหัสถ์ก็บรรลุมรรคผลได้ครับ อยู่ที่กำลังของปัญญา ถ้าสะสมปัญญาจนคู่ควรแก่การบรรลุ ก็สามารถบรรลุได้ ..


ความคิดเห็น 14    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 1 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จากความเห็นที่ 11

ปัญญาไม่ได้เกิดจากการบวช แต่ปัญญาเกิดจากการฟัง การเข้าใจถูกต้องทีละเล็กละน้อย ดังนั้น หากบวช แต่ไม่เข้าใจหนทางการปฏิบัติ ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ แต่เมื่อเข้าใจหนทางแล้ว ไม่ว่าบวชหรือไม่บวชก็สามารถบรรลุได้เพียงแต่ว่าการบวชเป็นการขัดเกลากิเลสทุกทาง และต้องเป็นผู้สะสมอุปนิสัยมาในการเห็นโทษของการครองเรือนจึงบวช นี่เป็นจุดประสงค์ของการบวชที่ถูกต้อง ซึ่งย่อมเกื้อกูลต่อการปฏิบัติหากเข้าใจหนทางที่ถูกต้องและจุดประสงค์ถูกต้องในการบวช ตามที่กล่าวมา

ขออนุโมทนาครับ ..

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 15    โดย oom  วันที่ 7 ก.ค. 2551

ที่ว่าผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องทำ ๓ อย่างให้ครบ คือ ๑. ปริยัติ ๒. ปฏิบัติ ๓. ปฏิเวท กรุณาช่วยอธิบายในแต่ละข้อให้เข้าใจด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 16    โดย study  วันที่ 7 ก.ค. 2551

พระอริยสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีปริยัติ คือการฟัง การศึกษาพระธรรมขณะที่ท่านรู้ตามพระธรรมที่ฟังมาเป็นปฏิบัติ ขณะที่แทงตลอดอริยสัจจ์ดับกิเลสด้วยอริยมรรค ชื่อว่าปฏิเวธ ส่วนปุถุชนทั้งหลายยังไม่ถึงปฏิเวธ คือมีเพียงปริยัติและปฏิบัติ


ความคิดเห็น 17    โดย บรรพต  วันที่ 14 ก.ค. 2551

คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ระดับ “ปริยัติศาสนา” คือ การศึกษาให้เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงก่อน เพราะว่าถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย จะไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร ธรรมอยู่ที่ไหน ขณะนี้เป็นเราหรือเป็นธรรม แต่ถ้ามีความเข้าใจถูก ก็จะถึงอีกระดับหนึ่ง คือมีปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่แต่เพียงฟังเรื่องราวของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ขณะที่ฟังนี้ สภาพธรรมเกิดดับทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละประเภท แต่ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย เพียงแต่กำลังฟังให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้น ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ ทำให้มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ศึกษา ฟังเข้าใจ แล้วค่อยๆ ศึกษาอีกระดับหนึ่ง คืออธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา

เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องตรงกัน แยกกันไม่ได้เลยใครก็ตามที่ไม่มีปริยัติ ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรม แล้วจะปฏิบัติต้องผิด ใครก็ตามเมื่อไม่ได้ศึกษา แล้วปฏิบัติ ก็หมายความว่า คนนั้นไม่ได้มีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะว่าคิดเอง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วก็ต้องผิด เพราะว่าใครจะมีความรู้หรือมีความสามารถที่จะเข้าใจธรรมโดยไม่ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ค่อยๆ พิจารณาในความสมบูรณ์ของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งในขั้นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติกับการปฏิบัติธรรม ไปด้วยกันได้หรือไม่

ไม่มีตัวเราที่จงใจหรือตั้งใจที่จะแสวงหาวิธีที่จะปฏิบัติ

อนุโมทนาคร้บ


ความคิดเห็น 18    โดย บรรพต  วันที่ 14 ก.ค. 2551

ขอเชิญรับฟัง ...

มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะเพื่ออบรมปัญญา

อนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 19    โดย เมตตา  วันที่ 14 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 20    โดย บรรพต  วันที่ 15 ก.ค. 2551

พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น

๑. ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย

๒. ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลสดับทุกข์

๓. ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์

อนุโมทนาครับ