อันตรายจากการคอยฤกษ์ [อรรถกถานักขัตตชาดกที่ ๙]
โดย JANYAPINPARD  2 มี.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 11406

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 50 อรรถกถานักขัตตชาดกที่ ๙ พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหา-วิหาร ทรงปรารภอาชีวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ เป็นอาทิ. ได้ยินว่า กุลบุตรชาวบ้านนอกผู้หนึ่ง ไปขอกุลธิดานางหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ให้แก่ลูกชายของตน นัดหมายวันกันว่าในวันโน้น จักมารับเอาตัวไป ครั้นถึงวันนัดจึงถามอาชีวก ผู้เข้าไปสู่ตระกูลของตนว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้พวกผมจักทำมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ. อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่าคนผู้นี้ครั้งแรกไม่ถามเราเลย บัดนี้เลยวันไปแล้วกลับมาถามเราเอาเถิด จักต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง จึงพูดว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดีพวกท่านอย่ากระทำการมงคลในวันนี้เลย ถ้าขืนทำ จักพินาศ ใหญ่. พวกมนุษย์ในตระกูลพากันเชื่ออาชีวกนั้น ไม่ไปรับตัวในวันนั้น. ฝ่ายพวกชาวเมืองจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นพวกนั้นมา ก็กล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา แม้การงานของพวกเราก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว เรื่องอะไรจักต้องไปคอยพวกนั้น จักยกธิดาของเราให้คนอื่นไป แล้วก็ยกธิดาให้แก่ตระกูลอื่นไป ด้วยการมงคลที่เตรียมไว้นั้นแหละ. ครั้นวันรุ่งขึ้นพวกที่ขอไว้ก็พากันมาถึง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงส่งตัวเจ้าสาวให้พวกเราเถิด. ทันใดนั้น ชาวเมืองสาวัตถี ก็พากันบริภาษพวกนั้นว่า พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนลามก กำหนดวันไว้แล้ว ดูหมิ่นเสียไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากันนั่นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นแล้ว. พวกชาวบ้านนอก ก็พากันทะเลาะกับชาวเมืองครั้นไม่ได้เจ้าสาว ก็ต้องพากันไปตามทางที่มานั่นเอง. เรื่องที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคล ของมนุษย์เหล่านั้น ปรากฏว่ารู้กันทั่วไปในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. และภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในธรรมสภา นั่งพูดกันว่า อาวุโสทั้งหลาย อาชีวกกระทำงานมงคลของตระกูลเสียแล้ว. ฯลฯ