เรียนถามเกี่ยวกับกัมมปัจจัย
โดย natural  2 มิ.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 24933

จากวรรณนานิทเทสแห่งกัมมปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยใน กัมมปัจจัยนิทเทส

ต่อไป. บทว่า กมฺมํ ได้แก่ เจตนาธรรม. สองบทว่า กฏตฺตา จ รูปานํ แปลว่า

รูปที่เกิดขึ้นเพราะถูกกรรมทำ (กรรมสร้าง) . บทว่า กมฺมปจฺจเยน ความว่า ด้วยอำนาจ

ของนานากขณิกกัมมปัจจัย ที่สามารถให้ผลของตนเกิดขึ้นได้ในที่สุดแห่งโกฏิกัป

มิใช่น้อย.

ขอเรียนถามว่า เกิดขึ้นได้ในที่สุดแห่งโกฏิกัป มิใช่น้อย หมายความว่าอย่างไร และปัญจโวการภพ จตุโวการภพ หมายถึง ภพใดบ้างคะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 2 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เกิดขึ้นได้ในที่สุดแห่งโกฏิกัป มิใช่น้อย หมายถึง เกิดมาจำนวนมากมาย นับชาติไม่ถ้วน เป็นจำนวนโกฏิกัปมิใช่น้อย คือ จำนวนที่มาก ไม่ใช่น้อย คือมากมายนั่นเองครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปัญจโวการภพ จตุโวการภพ หมายถึง ภพใดบ้างคะ

สัตว์โลก มีความแตกต่างกัน สัตว์บางพวกเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ครบ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ คือ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และ มนุษย์ภูมิ เทวดาบนสวรรค์ ๖ ชั้น และรูปพรหมภูมิ ๑๖ เว้น อสัญญสัตตาพรหม สัตว์เหล่านี้ เป็นผู้ที่มีขันธ์ 5 ครับ คือ มีทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ คือ มีทั้ง จิต เจตสิกต่างๆ และ มีรูป ด้วย เรียกว่า เป็นผู้ที่ขันธ์ 5 ครบ ครับ เรียกว่าภพ คือ ปัญจโวการภพ

บางพวกเกิดในภูมิที่มีขันธ์เดียว (อสัญญสัตตาพรหมภูมิ) เป็น อสัญญสัตตาพรหม คือ มีแต่รูปเท่านั้น ที่เป็นรูปขันธ์ ไม่มีนาม คือ ไม่มี จิต เจตสิก ที่เป็น สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ ที่เป็นเจตสิกทั้งหลาย และ วิญญาณขันธ์ คือ จิต ไม่มีนาม คือ จิต เจตสิกเกิดขึ้นเลย จึงเป็นสัตว์ที่มีแต่รูป รูปขันธ์ จึงเรียกว่า สัตว์ผู้มีขันธ์เดียว เรียกว่า เอกโวการภพ

บางพวกเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๔ (เฉพาะนามขันธ์) คือ เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ในอรูปพรหมภูมิ คือ ไม่มีรูปเกิดเลย เช่น ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีรูปร่างกาย มีแต่นาม คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น คือ มีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ครับ จึงเรียกว่า สัตว์ผู้ที่มีขันธ์ 4 เรียกว่าภพภูมิ คือ จตุโวการภพ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 2 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตมีมากมายทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อกรรมเหล่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลก็เกิดขึ้นเป็นไปสมควรแก่เหตุ เป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ในแต่ละชาติที่เกิดมา ก็ได้รับผลของกรรมมากมายตั้งแต่ขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต ก็เป็นผลของกรรม และในขณะนี้ที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง โดยไม่สามารถจะทราบได้ว่า เป็นผลของกรรมชนิดไหน ในชาติไหน

-คำว่า โวการะ ที่ปรากฏในคำว่า ปัญจโวการภพ จตุโวการภพ และ เอกโวการภพ นั้น มีความหมายถึง ขันธ์

ขันธ์ ไม่พ้นไปจาก ๕ ตามควรแก่ภพภูมินั้น ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิที่มีขันธ์ครบ ๕ ขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิที่มีขันธ์เดียว คือ อสัญญสัตตาพรหมที่มีแต่รูปธรรม หรือ ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๔ คือ มีเฉพาะนามธรรม (เวทนา สัญญา สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์) ซึ่งเป็นอรูปพรหมบุคคล นั้น ก็คือ ขันธ์ นั่นเอง ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย

ทุกขณะไม่พ้นไปจากขันธ์เลย (ขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน) ที่จะเป็นประโยชน์แล้ว ความเข้าใจมาก่อน ชื่อมาทีหลัง เพราะจริงๆ แล้ว ขันธ์ มีจริงๆ และมีจริงในขีวิตประจำวัน ในขณะนี้ด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ก็จะไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย ไม่ว่าจะยกสภาพธรรมใดขึ้นมากล่าว ก็ไม่พ้นจากขันธ์เลย ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น ล้วนมีจริงๆ เกิดแล้วดับไป ทั้งหมด เป็นขันธ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย natural  วันที่ 2 มิ.ย. 2557

เรียนถามเพิ่มเติมว่า

1.การให้ผลของกรรมจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของกรรมที่ทำและการให้ผลของแต่ละภพภูมิ ลำดับของขณะจิตที่เกิดกุศลหรืออกุศลกรรมในชวนจิต หรือมีรายละเอียดของปัจจัยที่มากกว่านั้น

2.การให้ผลของกรรมที่มากมายนับชาติไม่ถ้วน หมายถึง การให้ผลกรรมเกิดหลายครั้งจากการเกิดกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมครั้งเดียว หรือมีลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง หรือด้วยกรรมที่เกิดขึ้นมากมายจึงให้ผลกรรมที่มากมายนับชาติไม่ถ้วน

3.มโนกรรมถือเป็นเหตุที่ให้เกิดผลกรรมหรือไม่ และวิธีคิดที่แต่ละคนคิดแตกต่างกันไปเรียกว่ามโนกรรมใช่หรือไม่ อย่างไรคะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์และทุกท่านที่ช่วยให้ความเข้าใจค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 3 มิ.ย. 2557

1.การให้ผลของกรรม ที่เป็นวิบาก อาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง และละเอียดลึกซึ้ง ทั้งประเภทของกรรม และ เหตุปัจจัยในปัจจุบัน อื่นๆ อีกมากมาย เช่น คติ อุปธิ ปโยคะ กาละ เป็นต้น ครับ

2.กรรม ที่ทำ ก็คือ กุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดที่ชวนจิต 7 ขณะ ซึ่งชวนจิตขณะที่ 2 - 6 สามารถให้ผลได้ ยาวนาน จนกว่าจะไม่เกิดอีกเลยก็ได้ ครับ ให้ผลในชาติถัดๆ ไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของกรรม และ ปัจจัยอื่นๆ ด้วย ครับ

3.มโนกรรม จะให้ผลเกิดวิบาก ต้องสำเร็จ มีการล่วงออกมาทางกาย วาจา จนครบกรรมบถ ไม่ใช่เพียงคิดนึกในใจเท่านั้น ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 3 มิ.ย. 2557

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ