ทำกาละ?
โดย ธีรวุฒิ  21 มี.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 11711

บางส่วนจาก๘. วิสาขาสูตร ว่าด้วยรักมีเท่าไรทุกข์ก็มีเท่านั้น

[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาทของ

นางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล หลานของนาง

วิสาขามิคารมารดาเป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคาร-

มารดามีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับในเวลา

เที่ยง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้

ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ

มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง นางวิสาขากราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละ

เสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ใน

เวลาเที่ยง เจ้าค่ะ.

เรียนถามว่า คำว่า ทำกาละ หมายถึงอะไรเหรอครับ?

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 22 มี.ค. 2552

ทำกาละ หรือกาลกิริยา หรือมรณะ ภาษาไทยหมายถึง การตาย ความตาย การเปลี่ยนภพชาติ เปลี่ยนความเป็นบุคคลหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ชาติใหม่..


ความคิดเห็น 2    โดย ati  วันที่ 22 มี.ค. 2552
ขอถามต่อนะครับ เหตุใดท่านผู้เป็นโสดาบันที่ไม่เห็นผิดแล้ว จึงเสียใจกับการตายของบุคคลอันเป็นที่รัก และที่ท่านเสียใจนั้นท่านเสียใจในตัวตนของบุคคนอันเป็นที่รัก ใช่หรือไม่ครับ

ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 22 มี.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า กระทำกาละ (กาลกิริยา) เป็นอีกคำหนึ่งที่หมายถึง ความตาย แปลตามศัพท์หมายถึงสิ่งที่กระทำซึ่งที่สุดแห่งอัตภาพ,สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเหล่าสัตว์สิ้นไป นอกจากคำว่า กระทำกาละ ที่หมายถึง ความตายแล้ว ยังมีอีกหลายคำที่หมายถึง ความตายเช่น จุติ ความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความแตก-แห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ความตาย นั้นเป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้อย่างเด็ดขาด ไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป เมื่อยังมีกิเลสอยู่ยังต้องเกิดอยู่ร่ำไป สิ่งที่จะเป็นที่พี่งได้อย่างแท้จริงในชีวิตนั้น ก็คือความเข้าใจพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 22 มี.ค. 2552

โลกถูกมัจจุกำจัด ถูกชราล้อมไว้ ถูกลูกศรคือตัณหาเสียบไว้

ถูกความอยากเผาให้ร้อนตลอดกาลทุกเมื่อ

(ผู้ที่ประมาทก็จะหลงทำกาละทุคติอยู่เบื้องหน้าค่ะ)


ความคิดเห็น 5    โดย สุภาพร  วันที่ 23 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ajarnkruo  วันที่ 23 มี.ค. 2552

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 11711 ความคิดเห็นที่ 2 โดย ati ขอถามต่อนะครับ เหตุใดท่านผู้เป็นโสดาบันที่ไม่เห็นผิดแล้ว จึงเสียใจกับการตายของบุคคลอันเป็นที่รัก และที่ท่านเสียใจนั้นท่านเสียใจในตัวตนของบุคคนอันเป็นที่รัก ใช่หรือไม่ครับ


พระโสดาบันดับความเห็นผิดทั้งหมดเป็นสมุจเฉทแล้วก็จริง แต่ปัญญาของท่านยังไม่เพียงพอที่จะดับโลภะที่ติดข้องในกามคุณได้ ท่านจึงยังคงละความยินดีในสิ่งอันเป็นที่รักไม่ได้ เมื่อยังละไม่ได้ โลภะที่สะสมไว้ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความโศกความโทมนัส เมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งๆ นั้นเป็นธรรมดา แต่ถึงจะดีใจ เสียใจอย่างไร ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ก็จะไม่มีความเห็นผิดเกิดอีกเลย เพราะปัญญาของพระโสดาบัน มีความรู้ชัด เห็นถูกว่า สิ่งที่เกิดปรากฏทุกๆ ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ที่เสียใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดเพราะยังมีเหตุปัจจัยให้ต้องเสียใจ ความเสียใจที่เกิดนั้น เกิดตามอำนาจของอกุศลที่สะสมไว้และยังไม่ได้ดับ แต่ปัญญาของพระโสดาบันเห็นถูกโดยตลอด ชัดเจน และไม่คลาดเคลื่อน เพราะไม่เหลือพืชเชื้อของความเห็นผิดให้ท่านหลงยึดถือนามธรรมที่เสียใจนั้นว่า เป็นท่าน เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเพราะใครทำให้ท่านเสียใจอีก ขณะที่จิตของพระโสดาบัน คิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความเศร้าโศก เสียใจขณะนั้นปัญญาของท่านก็รู้ว่า บุคคลนั้นไม่มีจริง แต่มีสัญญาที่จำได้ว่าเป็นใคร ตามความเป็นไปของจิตที่จะต้องมีการคิดถึงบัญญัติ ไม่มีใครจะสามารถห้ามความคิดนึกได้ เพราะความคิดเป็นธรรมะ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แม้ท่านจะเป็นถึงพระอริยเจ้าก็ตาม ท่านก็ห้ามความคิดไม่ได้ แต่ปัญญาของท่านรู้ชัดว่าขณะที่กำลังคิดนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่กำลังตรึก นึกไปด้วยอำนาจของกุศลธรรมบ้างหรืออกุศลธรรมบ้าง ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ยังมีการคิดที่เป็นไปตามอำนาจของอกุศลธรรม ซึ่งท่านก็รู้ว่าท่านยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าท่านจะบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับอกุศลที่ยังไม่ได้ดับเหล่านั้นเป็นสมุจเฉทได้ทั้งหมดตามลำดับขั้นครับ ว่าแต่ขณะนี้ ที่กำลังปุถุชนอย่างนี้ ความยึดถือว่าเป็นตัวตน ยังมีอยู่มากไหม?


ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 23 มี.ค. 2552

ตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้ ตอนนั้นท่านเป็นพระโสดาบันค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย booms  วันที่ 23 มี.ค. 2552

จากความคิดเห็นที่2 คุณati....

ความเสียใจกับ การตายของบุคคลอันเป็น ที่รัก ความเสียใจนี้เป็นโทสะมูลจิต สัมปยุตต์ด้วย โทมนัสเวทนาเจตสิก โดยโทสะมูลจิตจะ ดับได้เป็นสมุจเฉทปหาน ต้องเป็นในระดับ ขั้น พระอนาคามีบุคคล ขึ้นไป......ท่านผู้เป็นพระโสดาบันบุคคล จึงยังคงมี โทสะมูลจิต ยังคงมีความเสียใจกับ สิ่งที่รักอยู่ แต่ที่ท่านเสียใจนั้น ท่านมีสติระลึกรู้ พร้อม ปัญญา รู้ในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่า ...เกิดโทมนัสเวทนา ต่อขันธ์ 5 กองนี้ ,ก้อนทุกขสัจจ์นี้ (บุคคลอันเป็นที่รัก) ซึ่งเป็น การระลึกรู้ ในสภาพปรมัตถธรรม ดับสักกายทิฏฐิ เป็นสมุจเฉท ..........


ความคิดเห็น 9    โดย ati  วันที่ 24 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ตอบปัญหาทุกๆ ท่านครับ สาธุ สาธุ

ความคิดเห็น 10    โดย pornpaon  วันที่ 7 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย คุณ  วันที่ 8 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย natta  วันที่ 29 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย lotustoday  วันที่ 27 ต.ค. 2563

สาธุคะ