ขณะเข้าใจถูกก็ละแล้ว
โดย เมตตา  1 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43577

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญญาคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะไม่รู้จึงยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ติดข้องในสิ่งนั้น การฟังพระธรรมก็เพื่อค่อยๆ เข้าใจความจริงที่กำลังมีขณะนี้ ขณะที่เข้าใจก็ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ ความติดข้องไปทีละน้อย ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งต่างๆ ที่เที่ยง ตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมแต่ละหนึ่งเกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด เกิดแล้วก็ดับทันที ไม่มีอะไรที่จะยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสิ่งที่เที่ยงได้เลย นี่เป็นความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เริ่มค่อยๆ ฟังคำจริง ฟังด้วยความเคารพในคำจริง พิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ ขณะใดที่เข้าใจก็ละความไม่รู้ ละความติดข้อง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 402

๑๓. นิพเพธิกปัญญสูตร

เจริญธรรม ๔ ประการเพื่อมีปัญญาชำแรกกิเลส

[๑๖๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญ แล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา เป็นเครื่อง ชำแรกกิเลส ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ การคบสัตบุรุษ ๑. การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส.

จบนิพเพธิกปัญญสูตรที่ ๑๓

จบมหาปัญญวรรคที่ ๗

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ตั้งต้นว่าไม่มีเรา

ไม่มีเรา มีแต่ธรรม

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 5

คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด.ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความฉิบหายบ้าง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ. อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเองหรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น. มิจฉาทิฏฐินั้นมีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโย-นิโส อภินิเวส ลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา) มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุฏฺฐานา) มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสน-กามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง. [๒๙๑] มิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น.

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มได้ที่ ...

สิ่งที่เป็นนิมิตก่อนตรัสรู้ [ปฐมสุริยูปมสูตร]

... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ ...



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 1 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย Smornmas  วันที่ 2 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เข้าใจ  วันที่ 2 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ