การรอบรู้ในศิลปะ (มงคลสูตรข้อที่ 8)
โดย talaykwang  17 ต.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 33110

อยากขอคำอธิบาย ความหมายของ มงคลข้อที่ ๘ ว่าด้วย "การรอบรู้ในศิลปะ" ค่ะ และคำว่าศิลปะ ในความหมายของพระธรรมนั้น มีอะไรบ้าง และ เกิดขึ้นเพราะจิต หรือ เจตสิกใดบ้าง

ขอบพระคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย talaykwang  วันที่ 18 ต.ค. 2563

ที่มาของคำถามนี้ สืบเนื่องจาก ได้ฟังสนทนาธรรมทางวิทยุออนไลน์ ในเรื่องของ "การพูดความจริง" มีการยกตัวอย่างในการสนทนา "ถ้าจะพูดความจริงกับแม่ กลัวแม่จะเป็นเป็นทุกข์ หรือกังวล" ส่วนตัวมีความเข้าใจมาตลอด ว่า การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่วิธีการพูดความจริง เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจนั้น เป็นเรื่องของศิลปะ การพูดความจริง น่าจะทำให้ผู้รับสารเข้าใจและยอมรับในความจริงที่เกิดขึ้น และเป็นทุกข์น้อยกว่า การกล่าวคำไม่จริงไปเรื่อยๆ จนวันนึงความจริงปรากฎ ผู้รับสารอาจจะทุกข์มากกว่า คือ ทุกข์เพราะเรื่อง..ที่พูดไม่จริง และทุกข์เพราะถูกคนที่รัก...ปกปิดความจริง และก็เข้าใจต่อไปอีกว่า ผู้ใหญ่ที่เขาผ่านอะไรมามากมายในชีวิต ไม่มีเหตุผลเลยที่เขาจะรับ...ความจริงนั้นไม่ได้ แม้ความจริงอาจจะทำให้เข้าไม่มีความสุข แต่ก็คงเป็นแค่เพียงระยะเวลาไม่นาน จึงนึกถึงมงคลสูตร และได้เห็นว่า มงคลสูตรข้อที่ 8 ได้กล่าวถึง "การรอบรู้ในศิลปะ" จึงอยากทราบความหมายของ "ศิลปะ" คำนี้ แต่ความเข้าใจส่วนตัวอาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าที่ควร จึงได้เรียนถามมาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 ต.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ศิลปะ (ศิลปะ) เป็นความสามารถ ความชำนาญในการกอบประกิจการงานต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ผิดศีลธรรม เป็นมงคลเพราะทำให้เจริญ คือ ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่เดือดร้อน และ เกื้อกูลต่อการที่จะได้มีโอกาสอบรมปัญญา เจริญกุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้อีกด้วยจากความสามารถในศิลปะ นั้นๆ

ยากที่จะพ้นจากอกุศล แม้ความเป็นผู้เรียนรู้เพื่อความเป็นผู้สามารถในด้านต่างๆ เพราะขณะใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ในการรักษาศีล ในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็เป็นอกุศลโดยตลอด แต่ถ้ามีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ด้วยความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี โดยไม่ต้องการอะไรเลย นั่นเป็นสภาพธรรมที่ดีงามที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับการพูดนั้น ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนให้พูดไม่จริง ตามข้อความในวาจาสูตร

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๓๙ ดังนี้

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียนองค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจจ์ (คำจริง) ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความประพฤติที่ดีงาม รวมถึงการพูดด้วยว่า คำใดควรพูด ไม่ควรพูด และควรพูดเมื่อใด ไม่ควรพูดเมื่อใด ด้วย ครับ


ขอเชิญอ่านข้อความเรื่องศิลปะเป็นมงคล ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ศิลปะ เป็นมงคล [ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ]
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย talaykwang  วันที่ 19 ต.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 21 ต.ค. 2563

ชื่อว่าศิลปะ คือ ความสามารถ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Artwii  วันที่ 22 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนา สาธุครับ