ปุถุชนทำหมู่ชนให้แตกสามัคคี จะได้รับวิบากกรรมอย่างไร
โดย pdharma  30 ก.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32607

พระเทวทัตท่านเกิดในอเวจีมหานรกเพราะกรรม คือ การทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

หากปุถุชน หรือฆราวาส ทำลายความสามัคคีของชุมชนหรือหมู่ชน จะเป็นวิบากกรรมให้ไปเกิดในนรก หรือเป็นเปรต เป็นอสุรกายหรือไม่ครับ

ขอขอบพระคุณ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 30 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความสามัคคี และ ความปรองดอง มีควาหมมายเดียวกัน ความปรองดอง หรือความสามัคคี มาจากภาษาบาลีว่า เอกีภาโว สภาพที่เป็นหนึ่งรวมกัน ไม่แบ่งแยก

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องความสามัคคีหรือความปรองดอง เป็นสุขในโลก

ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การฟังธรรม ความพร้อมเพรียงของหมู่ ความเป็นผู้ปรองดองกัน เป็นสุขในโลกนี้ "ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :- ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็น เหตุนำสุขมา, การแสดงธรรมของสัตบุรุษ เป็นเหตุ นำสุขมา, ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุข มา, ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำ สุขมา"


ซึ่งอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเป็นผู้มีจิตเสมอกันในทางกุศลธรรมและพร้อมเพรียงกันในทางกุศ เป็นความสามัคคี ปรองดองที่นำมาซึงความสุขที่แท้จริง และควรพิจารณาถึงความละเอียดของความปรองดอง สามัคคีให้เพิ่มขึ้นไปอีก ดังนี้ครับ

ความปรองดอง ที่ไม่แยกกัน เข้ากันได้ ของสภาพธรรม ประการหนึ่ง เรียกว่าสัมปยุตต์ธรรม คือ สภาพธรรมที่เข้ากันได้ ไม่แยกกัน เหมือน น้ำ กับน้ำนม ที่เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน ปรองดองกัน เข้ากันได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ประกอบกันนั่นก็คือ จิต เจตสิกทีเกิดขึ้น จิตเมื่อเกิดขึ้น จะต้องอาศัย เจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตกับ เจตสิกเข้ากันได้ดี เป็นธรรมที่เรียกว่า สามัคคีกัน ปรองดองกัน อันเป็นปัจจัยซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ทีเกิดร่วมกัน ที่เรียกว่า สัมปยุตต์ธรรม ครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่สภาพธรรม ความปรองดอง เข้ากันได้ ก็ต้องป็นเรื่องของสภาพธรรมเช่นกัน นั่นก็คือ จิต เจตสิกที่กำลังเกิดในขณะนี้ นี่แสดงให้เห็นว่าเมื่อพระพุทธเจ้า ไม่อุบัติย่อมไม่รู้ความจริงเลยว่า ไม่มีใคร ไม่มีเรา ที่จะสามัคคีปรองดอง แต่ มีแต่เพียงสภาพธรรมที่เข้ากันได้ และ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล นั่นก็คือ จิต เจตสิก ครับ นี่คือ ความหมายของการเข้ากันได้ ปรองดอง ที่เป็น สภาพธรรมทีเป็น สัมปยุตตธรรม คือ จิต เจตสิก โดยนัยที่ 1 ครับ

ดังนั้น การสามัคคีที่ประเสริฐคือเป็นไปในการที่ดี ถูกต้อง ในความเห็นถูก พระเทวทัตทำลายสงฆ์ ด้วยข้อปฏิบัติที่ผิด ด้วยความเห็นผิด พวกอัญญเดียรถีย์ มีความเห็นผิด ก็สามัคคีกับพวกที่เห็นผิด ปุถุชน สามัคคีกันด้วยความเห็นผิดก็มีโทษมาก ความสามัคคีนั้นทำลายตนเองและผู้อื่น ย่อมมีวิบากของผู้มีความเห้นผิด คือ เกิดในนรกหรือสัตว์เดรัจฉาน ส่วนผู้ที่มีความเห็นถูกเป็นคฤหัสถ์แสดงสิ่งที่ถูกต้อง ท่ามกลางผู้ที่เห็นผิด ด้วยจิตอนุเคราะห์หวังดี ท่ามกลางอัญญเดียรถีย์ ที่กล่าวว่า ตนเองเป็นชาวพุทธแต่ไม่ใช่ชาวพุทธ เพราะมีความเห็นผิด ก็ทำให้ คนเหล่านั้นเกิดอกุศล ก็ไม่สามัคคีกับความเห็นถูก ผู้ที่แสดงความเห็นถูก จะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ย่อมเป็นจิตที่ดีงาม ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก เพราะแสดงสิ่งที่ถูกต้อง โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เช่น ไม่มีใครไปทำสมาธิ เพราะ ไม่รู้แม้สมาธิว่ามีทั้งที่ผิดและถูก จึงไปทำสิ่งที่ผิด

ผู้แสดงให้เข้าใจถูกในความเป็นอนัตตา ก็ด้วยจิตที่ดีและสามารถทำให้คนที่เคยเห็นผิด กลับมาเห็นถูกได้ ชื่อว่า เคารพยำเกรงสมาธิ เพราะเข้าใจถูกต้องในเรื่องสมาธิ ดังนั้น คนอื่นที่แตกแยก ไม่สามัคคีก็เพราะมีความเห็นผิดเป็นอัญเดียรถีย์ ดั่งสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเห็นถูก ผู้ที่เห็นถูกก็สามัคคีกับผู้ที่เห็นถูก แต่ก็ทำให้อัญญเดียรถีย์ไม่พอใจ และไม่สามัคคีกับพระพุทธเจ้า เพราะความเห็นถูกและความเห็นผิด สามัคคีกันไม่ได้เลย

ดังนั้น คำในพระไตรปิฎก ไม่ใช่สำหรับอ่านแล้วจำ แต่ต้องศึกษาด้วยความเคารพ เพราะอรรถะ ความหมายที่ลึกซึ้งสุดประมาณ เพราะเป็นพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ทั้งหมดต้องสอดคล้องกันทั้งสามปิฎกและสอดคล้องไม่ขัดกันเลย ไม่ขัดแม้แต่คำว่าอนัตตา ครับ ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192
[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

[๑๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว.


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 30 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย yogototo  วันที่ 30 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 30 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าทำอกุศลกรรม ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศล มุ่งร้ายต่อผู้อื่น สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำ ก็ย่อมเป็นโทษ เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ก็ย่อมให้ผลเป็นผลที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนาไม่น่าใครไม่น่าพอใจ เท่านั้น โดยไม่มีใครทำให้เลย


แต่สำหรับการกล่าวพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละทิ้งในสิ่งที่ผิดที่เคยประพฤติปฏิบัติมา นั่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ไม่ใช่ความประพฤติที่ผิด ไม่ใช่การว่าร้ายหรือมุ่งร้ายแก่ใคร เพราะถ้ากล่าวถึง ความถูก กับ ความผิด แล้ว ย่อมแยกกันอย่างเด็ดขาด ไม่ปะปนกัน
ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 31 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย wannee.s  วันที่ 9 ส.ค. 2563

หากฆราวาสพูดส่อเสียดทำให้หมู่ชนที่รักกันแตกกัน ถ้ากรรมให้ผลไปเกิดในอบายภูมิค่ะ