วิปัสสนารู้อะไร?
โดย เมตตา  30 ธ.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 47202

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงบ่าย)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 383

๙. ปุพพังคสูตร (๑)

ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์เมื่อจะอุทัย คือแสงเงินแสงทอง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือสัมมาทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจาย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะย่อมเพียงพอ

แก่บุคคลผู้มีสัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาอาชีวะ สัมมาสติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวายามะ สัมมาสมาธิย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสติ สัมมาญาณะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสมาธิ สัมมาวิมุตติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาญาณะ.

จบปุพพังคสูตรที่ ๙


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

อนึ่ง จักขุนั้น ชื่อว่า เป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ. อีกอย่างหนึ่ง ความที่จักขุนั้นเป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะ ๓ เหล่านี้คือ จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูญ ไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้น จึงชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ

โดยความเป็นของสูญ ๑

โดยความไม่มีเจ้าของ ๑

โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑

โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑


[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 44

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ปฐมเทศนา

[๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพคือ:-

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑.

การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน.

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ตั้งจิตชอบ ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.


ท่านอาจารย์: สิ่งที่มีเมื่อกี๊นี้ กับที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่า เป็นคนเป็นเรานั่งที่นี่ เป็นธรรมที่เกิดดับสืบต่อ ไม่กลับมาอีกเลย มั่นคงไหมว่า ธรรมเป็นอนัตตา

อัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าแตกย่อยสิ่งนี้ให้ละเอียดยิบเป็นผง แยกย่อยได้ไหม เป็นผงได้ไหม เพราะฉะนั้น ความจริงไม่ต้องแยกก็รู้ว่า ทุกสิ่งที่อยู่ตรงนี้เกิดดับ

เพราะฉะนั้น วิปัสสนารู้อะไร? ถ้าไม่มีธรรมที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ วิปัสสนารู้อะไร ถ้าไม่ใช่ธรรมที่เกิดดับเดี๋ยวนี้ วิปัสสนาจะรู้การเกิดดับของอะไรได้ไหม ใครอยากทำวิปัสสนาบ้าง? ที่นี่มีใครอยากทำวิปัสสนาบ้าง?

ชาวอินเดีย: ไม่ครับ

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะรู้ว่า วิปัสสนาไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาที่รู้ความจริง เข้าใจสิ่งที่กำลังมียิ่งขึ้น จนถึงระดับที่สามารถรู้ได้ทีละหนึ่ง

อริยสัจจ์ ๔ มี ๓ รอบ เป็นอาการของปัญญา ๑๒ ความเข้าใจมีจริง ความเห็นถูกมีจริง ใช้คำว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น หนทางที่จะรู้ความจริงมี ๘ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีทุกขณะ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกความเข้าใจถูกมีจริงไหม?

ชาวอินเดีย: มีจริง

ท่านอาจารย์: เป็นจิต หรือเจตสิก

ชาวอินเดีย: เจตสิก

ท่านอาจารย์: จริงไหม เพราะจิตไม่มีความเห็นผิดถูกใดๆ เลย จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้น จิตเห็นสีเขียว จิตเห็นสีขาว จิตเห็นสีน้ำเงิน รู้แจ้งในความต่าง เพราะฉะนั้น จิตไม่มีความเห็นใดๆ เพราะจิตเกิดขึ้นเห็นแจ้ง แต่เจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกครั้งแล้วแต่ว่า เป็นจิตประเภทใด

ขณะนี้กำลังเห็น มีความเห็นถูกมีปัญญาเกิดพร้อมกับจิตเห็นได้ไหม?

ชาวอินเดีย: คิดว่า เป็นไปได้

ท่านอาจารย์: กำลังเห็น เห็นอะไร? เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ไม่มีความเข้าใจอะไร เพียงแต่เห็น

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

อัตตสัญญา

กำจัดความมืดคืออวิชชาด้วยสัมมาทิฏฐิ

พากันไปไหน

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

มิจฉา - สัมมา

ปัญญาคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 31 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ