[คำที่ ๒๓o] อิจฺฉา
โดย Sudhipong.U  21 ม.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 32350

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อิจฺฉา

คำว่า อิจฺฉา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อิด - ฉา] แปลว่า ความอยาก ความต้องการ เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงถึงกิเลสประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ  อยากได้ เขียนเป็นไทยได้ว่า อิจฉา เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก นั่นเอง ซึ่งตราบใดก็ตามที่ยังไม่สามารถดับได้ ก็ยังมีกิเลสประเภทนี้อยู่ ซึ่งมีทั้งที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ติดข้องต้องการที่ไม่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม เช่น ติดข้องในเสื้อผ้า อาหาร ไปเที่ยว ณ สถานที่ต่างๆ เป็นต้น จนถึงมีกำลังกล้าถึงขั้นล่วงเป็นการกระทำอกุศลกรรม เช่น ลักขโมย เป็นต้น,  อิจฉา (ความอยาก ความต้องการ) เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความริษยา เพราะความริษยา กับ อิจฉา เป็นธรรมคนละประเภทกัน  ถ้าเป็นความริษยา คือ ทนไม่ได้เมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข จะใช้คำว่า อิสสา ส่วน อิจฉา ในทางธรรมแล้ว เป็นกิเลสประการหนึ่งที่เป็นความติดข้องต้องการอยากได้ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาพระธรรมค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะมีความมั่นคงในความจริง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง

เป็นธรรมดาจริงๆ ที่สัตว์โลกยังถูกผูกไว้ด้วยความอยาก ยากที่จะพ้นไปได้ เพราะต้องถึงความเป็นพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะดับความอยากได้อย่างหมดสิ้น ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อิจฉาสูตร ว่า

 “โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้ จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง โดยพยัญชนะต่างๆ โดยนัยต่างๆ ก็เพื่อให้ไม่ลืมในความเป็นจริงของธรรม แม้แต่ในเรื่องของโลภะ ความติดข้องต้องการ ยินดีพอใจ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ควรศึกษาให้เข้าใจ ซึ่งความจริงความติดข้องมีมากมายตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ กุศลเกิดน้อยกว่าอกุศล และอกุศลประเภทโลภะก็มีปัจจัยที่จะเกิดอยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าได้พิจารณาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ก็จะเตือนให้รู้ลักษณะของโลภะ ว่า มีมากมายซึ่งจะก่อให้เกิดภพชาติต่อๆ ไปในสังสารวัฏฏ์อีกมาก ทำให้เวียนว่ายตายเกิดต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ถ้าความอยากยังไม่ได้คลายหรือเบาบางเลย ก็คิดถึงจำนวนของชาติข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีอีกต่อไป เพราะเหตุว่าความพอใจในรูป ก็ยังเต็ม ความพอใจในเสียง ความพอใจในกลิ่น ความพอใจในรส ความพอใจในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ความพอใจในเรื่องราวต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ยังเต็ม แล้วสังสารวัฏฎ์ข้างหน้าจะหมดสิ้นไปได้อย่างไรในเมื่อยังไม่ได้ขัดเกลาละคลายความติดข้องเลยแม้แต่น้อย

คำว่า อิจฉา นี้ เป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นความติด ความพอใจ ความอยาก เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีความอิจฉาอย่างมาก ก็เรียกว่า เป็นผู้มีความโลภมาก ซึ่งก็คือ ธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น

ก่อนที่จะศึกษาธรรม บางคนก็กล่าวว่า ตนเองไม่โลภ แสดงให้เห็นว่า แม้โลภะเกิด ก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ จึงได้กล่าวว่า ไม่โลภ แต่ว่าที่จริงแล้วในวันหนึ่งๆ ไม่รู้จักโลภะ เพราะเหตุว่าโลภะมีหลายระดับขั้น ถ้าไม่ใช่ในระดับที่เป็นความโลภมาก ก็เป็นความโลภธรรมดาๆ ที่ชินตั้งแต่เกิด  กล่าวคือ โลภทางตาที่เห็น ก็อยากเห็น ทางหูก็อยากได้ยิน เสียงต่างๆ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มากไปด้วยความอยาก ซึ่งเป็นอย่างนี้จนกระทั่งเป็นชีวิตที่ติดกับโลภะ แยกไม่ได้ ขาดโลภะไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ดูเหมือนกับว่าเป็นธรรมดา เหมือนกับว่าไม่ใช่โลภะ เพราะเหตุว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่ขณะใดที่รู้สึกว่าโลภเกิดขึ้น คือ ความพอใจหรือความยินดีนั้นมีกำลังขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็จะได้เห็นว่า ขณะนี้กำลังโลภ แต่ถ้ายังไม่มีกำลังถึงขั้นนั้น ก็จะไม่รู้สึกตัวเลยว่า โลภะมีตลอดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะคิดนึกเรื่องอะไรที่เป็นปกติประจำวันจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วขณะที่คิดนั้นก็ด้วยโลภะที่คิด แต่ใครจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นไปกับโลภะความติดข้องแล้ว ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรม ไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย      

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เกื้อกูลโดยตลอดให้เข้าใจในความเป็นจริงของโลภะ ตามความเป็นจริง ปัญญาเกิดก็สามารถรู้ได้ว่า เป็นความติดข้องที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เรา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะการดับกิเลส ดับโลภะ ดับความอยาก เป็นเรื่องที่ยาวไกลมาก เพราะต้องถึงความเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความติดข้องยินดีพอใจในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ และต้องถึงความเป็นพระอรหันต์จึงจะสามารถดับโลภะ ความอยาก ที่เหลืออยู่ได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าชื่อหนึ่งของพระอรหันต์ ก็คือ นิจฉาตะ แปลว่า ผู้ดับความอยากได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากความอยาก อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จะขาดการอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว เพราะทุกขณะเป็นธรรม มีธรรมอยู่ตลอด แต่ถ้าไม่เริ่มฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ