เมื่อขันธ์เกิดแล้วดับ แต่มีหลักฐานเกี่ยวกับความถี่มั๊ยครับ
โดย govit2553  8 ต.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 17325

แค่ข้อมูลเบื้องล่าง อาจมีคนคิดไปได้ว่า เป็นแค่อธิบายการเกิดขึ้นของคน และตายไปของคน ในช่วงชีวิตหนึ่งเท่านั้น อยากได้หลักฐานอีกนิด ถึงความถี่ของการเกิดดับครับ ถึงขนาดที่มีคนสงสัยว่า ลัดนิ้วมือเดียวเกิดดับแสนโกฏิขณะนั้น มีหลักฐานหรือ ยังไงก็ขอความกรุณา ผู้รู้ในที่นี้ด้วยนะครับ ซึ่งผมทราบว่า ท่านเป็นผู้ละเอียดในพระธรรมจริง

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ -หน้าที่ 682

อรรถกถาอุทยัพพยญาณนิทเทส

พระโยคาวจรนั้น เมื่อเห็นความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ ๕ อย่างนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ ว่า การรวมเป็นกองก็ดี การสะสมก็ดี ย่อมไม่มีแก่ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก่อนแต่ขันธ์เหล่านี้เกิด ชื่อว่าการมา โดยรวมเป็นกอง โดยความสะสม ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่เกิดขึ้น, ชื่อว่าการไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับ ชื่อว่าการตั้งลงโดยรวมเป็นกอง โดยสะสม โดยเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับแล้ว. เหมือนนักดีดพิณ เมื่อเขาดีดพิณอยู่เสียงพิณก็เกิด, มิใช่มีการสะสมไว้ก่อนเกิด, เมื่อเกิดก็ไม่มีการสะสม การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ออกเสียงพิณที่ดับไปก็ไม่มี ดับแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สะสมตั้งไว้ ที่แท้แล้วพิณก็ดี นักดีดพิณก็ดีอาศัยความพยายามอันเกิดแต่ความพยายามของลูกผู้ชายไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ฉันใด ธรรมมีรูปและไม่มีรูปแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้นไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ พระโยคาวจรย่อมเห็นด้วยประการฉะนี้แล



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 8 ต.ค. 2553

ได้พบคำอธิบายเวทนาขันธ์ เกิดดับรวดเร็ว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวเกิดดับแสนโกฏิขณะ และนามขันธ์อื่นที่เหลือก็เช่นเดียวกันครับ

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 323

ข้อความบางตอนจากอรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ ๓

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต่อมน้ำย่อมเกิดและสลายตัวในเพราะหยดน้ำนั้นๆ อยู่ได้ไม่นาน ฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น ย่อมเกิดและสลายตัวไป อยู่ได้ไม่นาน ในขณะชั่วลัดนิ้วมือเดียว เกิดแล้วดับไปนับได้แสนโกฏิครั้ง


ความคิดเห็น 2    โดย govit2553  วันที่ 8 ต.ค. 2553

๗. จิตตสหภูทุกะ

[๑๕๓๗] สภาวธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต เป็นไฉน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเกิดพร้อมกับจิต

๑. อุปยสูตร ว่าด้วยความเข้าถึง

[๕๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความเข้าถึง ไม่ใช่ความหลุดพ้นความไม่เข้าถึง เป็นความหลุดพ้น ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูป เมื่อตั้งอยู่ ก็พึงมีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ

วิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อตั้งอยู่ ก็พึงมีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งเข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบัญญัติการมาการไป การจุติ การอุบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูปเวทนา สัญญา สังขาร’

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ภิกษุละได้แล้ว เพราะละความกำหนัดได้ อารมณ์จึงขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณก็ไม่มี ถ้าความกำหนัดในเวทนาธาตุ ถ้าความกำหนัดในสัญญาธาตุ ถ้าความกำหนัดในสังขารธาตุ ถ้าความกำหนัดในวิญญาณธาตุ ภิกษุละได้แล้ว เพราะละความกำหนัดได้อารมณ์จึงขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณที่ไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงามไม่ปรุงแต่ง ๑ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นจึงตั้งมั่น เพราะตั้งมั่นจึงสันโดษ เพราะสันโดษจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งย่อมดับไปเอง ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้วอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อุปยสูตรที่ ๑ จบ


ความคิดเห็น 3    โดย prakaimuk.k  วันที่ 9 ต.ค. 2553

สาธุ... ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 10 ต.ค. 2553

ในพระไตรปิฏกมีแสดงไว้ ความเร็วของหงส์ ความเร็วของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ความเร็วของเทวดา ไม่เร็วเท่ากับความเกิดดับของนามรูปค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย คุณ  วันที่ 12 ต.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 15 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 11 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ