วิวาทมูลสูตร ... วันเสาร์ ๑๑ เม.ย. ๒๕๕๒
โดย บ้านธัมมะ  8 เม.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 11913

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตรที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๑ เม.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

วิวาทมูลสูตร

ว่าด้วยมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 624

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 624

๖. วิวาทมูลสูตร

ว่าด้วยมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการ

[๓๐๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดย่อมเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา ... แม้ในพระธรรม ... แม้ในพระสงฆ์ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดา ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสิ่งไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นซึ่งมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นเสีย ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงพิจารณาเห็นซึ่งมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้นครอบงำต่อไป การละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เห็นปานนั้น (และ) มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น ไม่ครอบงำต่อไป ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.

๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ

๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุ เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ ฯลฯ

๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด มีมารยา ฯลฯ

๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด ฯลฯ

๖. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความถือมั่นทิฏฐิของตนมีความถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก ภิกษุใดเป็นผู้ถือมั่นทิฏฐิของตน ถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก ภิกษุนั้น เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดา ... แม้ในพระธรรม ... แม้ในพระสงฆ์ ไม่กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ฯลฯ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศ เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นเสีย ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งการวิวาทเห็นปานนั้น ในภายในหรือภายนอกไซร้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นครอบงำต่อไป การละมูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้น (และ) มูลเหตุแห่งการวิวาทที่เป็นบาปนั้นไม่ครอบงำต่อไป ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการนี้แล

จบวิวาทมูลสูตร ๖

อรรถกถาวิวาทมูลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิวาทมูลสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

มูลเหตุของการวิวาท ชื่อว่า วิวาทมูล

ผู้ที่ประกอบด้วยความโกรธมีความเคืองเป็นลักษณะ ชื่อว่า โกธนะ (ผู้มักโกรธ)

ผู้ประกอบด้วยการผูกโกรธ มีการไม่สลัดเวรเป็นลักษณะ ชื่อว่า อุปนาหี (ผูกโกรธ)

บทว่า อหิตาย ทุกฺขาย เทวมนุสฺสานํ ความว่า การวิวาทของภิกษุ ๒ รูป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ถามว่า เป็นไปได้อย่างไร

ตอบว่า (เป็นไปได้อย่างนี้ คือ) เมื่อภิกษุ ๒ รูปวิวาทกัน อันเตวาสิกของท่านทั้งสองนั้น ในวัดนั้นก็จะวิวาทกัน ภิกษุณีสงฆ์ผู้รับโอวาทของภิกษุเหล่านี้ ก็จะวิวาทกัน เหมือนในคัมภีร์โกสัมพีขันธกะ ต่อจากนั้น อุปัฏฐากของท่านเหล่านั้น ก็จะวิวาทกัน ต่อมาอารักขเทวดาของมนุษย์ทั้งหลาย ก็จะแยกกันเป็นสองฝ่าย อารักขเทวดาของฝ่ายพระธรรมวาที ก็จะเป็นเช่นนั้น คือเป็นข้างฝ่ายพระธรรมวาที ของฝ่ายพวกอธรรมวาที ก็จะเป็นพวกอธรรมวาที

ต่อจากนั้น ภุมมเทวดาผู้เป็นมิตรของอารักขเทวดาทั้งหลาย ก็จะแตกกัน แต่ (ถ้า) ฝ่ายอธรรมวาที มีจำนวนมากกว่าฝ่ายธรรมวาที ต่อแต่นั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็จะยึดเอาสิ่งที่ คนจำนวนมากยึดถือ จะพากันละทิ้งธรรม ยึดเอาอธรรม เป็นจำนวนมากทีเดียว

เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น เมื่ออยู่อย่างยึดเอาอธรรมเป็นหลัก ก็จักเกิดในอบาย การวิวาทของภิกษุทั้งสองรูป ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนา ฉะนี้

บทว่า อชฺฌตฺตํ วา ได้แก่ บริษัทภายในของท่านทั้งหลาย

บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ บริษัทของคนเหล่าอื่น

ผู้ที่ประกอบไปด้วยการลบหลู่ ที่มีการลบล้างคุณของผู้อื่นเป็นลักษณะ ชื่อว่า มักขี

ผู้ที่ประกอบไปด้วยการตีเสมอ มีการจักคู่เป็นลักษณะ ชื่อว่า ปฬาสี (ตีเสมอ)

ผู้ที่ประกอบไป ด้วยความริษยา ที่มีความริษยาในสักการะเป็นต้นของผู้อื่นเป็นลักษณะ ชื่อว่า อิสฺสุกี (ริษยา)

ผู้ที่ประกอบไปด้วยความตระหนี่ทั้งหลาย มีความตระหนี่ที่อยู่เป็นต้น ชื่อว่า มัจฉรี (ผู้ตระหนี่)

ผู้ที่โอ้อวด ชื่อว่า สฐะ ผู้ที่ปกปิดสิ่งที่ทำไว้แล้ว ชื่อว่า มายาวี

ผู้ทุศีล ผู้ปรารถนาความยกย่องที่ไม่มีอยู่ ชื่อว่า ปาปิจฺโฉ (ปรารถนาลามก)

บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ นัตถิกวาทีบุคคล อเหตุกวาทีบุคคลอกิริยวาทีบุคคล

บทว่า สนฺทิฏฺฐิปรามาสี ได้แก่ ผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตนนั่นแล

บทว่า อาธานคฺคาหี ได้แก่ ผู้ยึดมั่น

บทว่า ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี ได้แก่ เป็นผู้ไม่อาจจะละทิฏฐิที่ตนยึดแล้ว

ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะไว้อย่างเดียวเท่านั้น

จบอรรถกถาวิวาทมูลสูตรที่ ๖



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 8 เม.ย. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 9 เม.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิวาทมูลสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการ

ข้อความโดยสรุป

พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ ประการแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ คือ

๑. มักโกรธ ผูกโกรธไว้

๒. ลบหลู่ ตีเสมอ

๓. ริษยา ตระหนี่

๔. โอ้อวด มีมายา

๕. มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด

๖. ถือมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น สละความเห็นของตนได้ยาก

พระองค์ทรงแสดงว่าในแต่ละประการนั้น เป็นเหตุให้เป็นผู้ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย เป็นเหตุให้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา และเป็นเหตุให้เกิดการวิวาทขึ้นในหมู่คณะ อันจะเป็นไปเพื่อความพินาศ ไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก พร้อมทั้งได้ทรงแสดงเพื่อให้ภิกษุทั้งหลาย ละมูลเหตุแห่งการวิวาท อันเป็นบาปเหล่านั้น ไม่ให้ครอบงำอีกต่อไป

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 9 เม.ย. 2552
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 4    โดย opanayigo  วันที่ 10 เม.ย. 2552

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย hptuna  วันที่ 12 เม.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 19 เม.ย. 2552
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 7    โดย พุทธรักษา  วันที่ 17 มี.ค. 2553

ข้อความบางตอนจากความเห็นที่ 2

... พระองค์ทรงแสดงว่า ในแต่ละประการนั้น เป็นเหตุให้เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ยำเกรง ในพระรัตนตรัย เป็นเหตุให้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา และ เป็นเหตุให้เกิดการวิวาทขึ้นในหมู่คณะ อันจะเป็นไปเพื่อความพินาศ ไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก พร้อมทั้งได้ทรงแสดงเพื่อให้ภิกษุทั้งหลาย ละมูลเหตุแห่งการวิวาท อันเป็นบาปเหล่านั้น ไม่ให้ครอบงำอีกต่อไป.

ผู้ที่จะทำเพื่อ "ประโยชน์ใหญ่" ได้จริงๆ ผู้ที่ ละ "มูลเหตุ" แห่งการวิวาท ได้จริงๆ ไม่ให้ "ครอบงำ" อีกต่อไปคือ พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันขึ้นไป เท่านั้น ใช่หรือเปล่าคะ.?


ความคิดเห็น 8    โดย prachern.s  วันที่ 17 มี.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 7

ควรจะเป็นคุณธรรมของพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันขึ้นไป แต่ ปุถุชนที่มีปัญญามากก็มีได้ แต่ไม่สมบูรณ์เหมือนพระอริยบุคคล


ความคิดเห็น 9    โดย Nataya  วันที่ 5 เม.ย. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 13 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น