อ.สุจินต์ มอบพระบรมสารีริกธาตุ และพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) สูงค่ายิ่ง แก่ มูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย
โดย วันชัย๒๕๐๔  26 พ.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 43157

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ ผู้อุปถัมภ์ (Patron) มูลนิธิพระธรรม (Dhamma Foundtion) ประเทศอินเดีย ได้ทำพิธีมอบ พระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราชปริวรรต (จำลอง) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้ทำการแบ่งจากพระบรมสารีริกธาตุ ที่ มศพ. ได้รับประทานจาก สมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน เมื่อครั้งเปิดอาคารที่ทำการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ ให้แก่ มูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย โดยมี คุณอาช่า สินธุ (Ashaji Sindhu) ประธานมูลนิธิพระธรรม (Dhamma Foundation) ประเทศอินเดีย เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ อาคารของมูลนิธิพระธรรม ที่กำลังจะจัดสร้างขึ้น ที่เมืองลัคเนาแห่งนี้

โดยพิธีการดังกล่าว จัดขึ้น ณ โรงแรม Lineage เมืองลัคเนา รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ประเทศอินเดีย เมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ระหว่างการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจสำคัญ ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพื่อการประดิษฐานพระธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

พระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์นี้ อาจารย์พีระพล คล้ายณรงค์ ช่างทองหลวง ผู้เชี่ยวชาญงานเครื่องประดับอัญมณี ได้จำลองแบบจากพระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราชปริวรรต องค์จริง ที่สร้างขึ้นด้วยทองคำ ประดับอัญมณี เพชร พลอย สูงค่า มีความงดงามยิ่ง และหาประมาณค่ามิได้ ซึ่งทางมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดสร้างและถวายไว้ ณ พระมูลคันธกุฎี เมืองสารนาท กรุงพาราณสี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ เพื่อเป็นองค์ครอบพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์เก่าแก่ ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างไว้ เมื่อสองพันกว่าปีที่ผ่านมา (ซึ่งมีบางส่วนได้เกิดการชำรุดตามกาลเวลา)

(ภาพเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะ เดินทางไปถวายพระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราชปริวรรต ณ พระมูลคันธกุฎี เมืองสารนาท กรุงพาราณสี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ : คลิกอ่านรายละอียดที่ลิงก์นี้ : ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศอินเดีย ๒๓ - ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ [ตอนที่ ๓] )

โดยในช่วงเช้าของวันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ได้มีการสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ณ เมืองลัคเนา แดนพุทธภูมิ โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นวันที่สอง ณ ห้อง Galaxy ของ โรงแรม Lineage เมืองลัคเนา ประเทศอินเดีย โดยมีชาวอินเดียให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก จนเต็มที่นั่งที่ได้จัดเตรียมไว้ให้

หลังจบการสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ในช่วงเช้า ทางมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ชาวอินเดียทั้งหมดที่เดินทางมาร่วมฟังการสนทนาธรรม ณ ห้องอาหาร Urban Terrace ห้องอาหารที่หรูที่สุด บนชั้นดาดฟ้าของโรงแรม

คุณอาช่า สินธุ (Asahaji Sindhu) ประธานมูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย และ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และในเวลาบ่าย พิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุและพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) ก็ได้เริ่มขึ้น โดยท่าน พลตรี ดร.วีระ พลวัฒน์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบถึงประวัติและความเป็นมาของ พระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราชปริวรรต และพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์นี้ โดยมี คุณสุขิน เดอร์ปาลซิงห์ นฤหล้า กรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้แปลเป็นภาษาฮินดี

สำหรับชาวอินเดียที่เคยมีโอกาสได้เดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระมูลคันธกุฎี เมืองสารนาท พาราณสี ย่อมจะทราบถึงความสวยสดงดงามสมพระเกียรติ และความสูงค่า หาประมาณมิได้ ของพระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราช ปริวรรต สมกับเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่งแก่เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย พระองค์นั้น

จากนั้น ท่านอาจารย์ได้ทำการมอบพระบรมสารีริกธาตุและพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) แก่ คุณอาช่า สินธุ (Asahaji Sindhu) ประธานมูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย พร้อมทั้ง โคมประทีปบูชาและสมุดบันทึกประวัติความเป็นมา ของการสร้างพระรัตนบุษยภาชน์ อโศกมหาราชปริวรรต ที่ พลตรี ดร.วีระ พลวัฒน์ ได้เรียบเรียงขึ้น ประกอบด้วยภาพและข้อความที่จะเป็นหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ ของการก่อตั้งมูลนิธิพระธรรม และการประดิษฐานพระธรรม กลับคืนสู่แดนพุทธภูมิ อันกล่าวได้ว่า เป็นบันทึกประวัติศาตร์หน้าใหม่ของพระพุทธศาสนา ในประเทศอินเดีย ที่เป็นการเริ่มต้น การประดิษฐานพระธรรม กลับคืนสู่แดนพุทธภูมิ สมมหากุศลเจตนาของ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ผู้เสียสละและทุ่มเทเวลาให้กับพระพุทธศาสนาจนหมดใจ

ภายหลังการมอบพระบรมสารีริกธาตุและพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) ให้แก่มูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย เสร็จสิ้นลง ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงความในใจของท่านในวันนี้ อย่างน่าประทับใจ ซาบซึ้งใจยิ่งแก่ผู้ที่ได้รับฟัง ว่า

" ... วันนี้ เป็นวันที่ปีติที่สุด ในชีวิตของดิฉัน ... เกิดมา ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันนี้ ... ทุกคนก็เช่นกัน เกิดมา ก็ไม่เคยรู้ว่าจะนั่งตรงนี้ ได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ

ณ กาลครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จจาริกทั่วประเทศอินเดีย เพื่อกล่าวคำที่เราได้ยิน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อมีความเข้าใจพระธรรม เห็นคุณสูงสุดในสังสารวัฏ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อเราทุกคน จะได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ... "

หลังจากนั้น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้มีเมตตา ให้ชาวอินเดียและทุกๆ ท่านที่อยู่ร่วมในที่ประชุม ได้มีโอกาสเข้านมัสการสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และชื่นชมพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) โดยใกล้ชิด นำมาซึ่งความตื่นเต้น ดีใจ ของทุกๆ ท่าน เฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอินเดีย ที่เข้าร่วมฟังการสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ในวันนี้

ได้ทราบในภายหลังว่า มีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปีฉบับหนึ่ง ของลัคเนา ได้ลงข่าวโดยกล่าวชื่นชมสูงสุดต่อท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จากประเทศไทย ว่า ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย ที่พวกเขาได้รับโอกาสที่สูงค่ายิ่งเช่นนี้ ซึ่งเป็นความประทับใจ ซาบซึ้งใจยิ่ง ทั้งพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานและการเผยแพร่พระธรรมของมูลนิธิพระธรรม (Dhamma Foundation) ประเทศอินเดีย ด้วยความภูมิใจและเต็มใจยิ่ง

อนึ่ง นอกจากจะมีชาวอินเดีย ที่มาจากต่างสาขาอาชีพ เข้าร่วมในพิธีแล้ว ยังมีนายแพทย์ศัลยกรรมและต่อมไร้ท่อ ที่มีชื่อเสียงของประเทศอินเดียท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ Gyan Chand จาก สถาบัน Sanjay Gandhi Postgraduate Institute of Medical Sciences ของประเทศอินเดีย ได้เข้าร่วมฟังและเป็นสักขีพยานในพิธีมอบด้วย ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้มีเมตตา สนทนาธรรมด้วย เป็นเวลานาน

พระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์นี้ เป็นหนึ่งในพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) จำนวน ๓ องค์ ที่ อาจารย์พีรพล คล้ายณรงค์ สร้างขึ้นจากทองคำส่วนเหลือจากการที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้รับบริจาคมา เพื่อการสร้างพระรัตนบุษยภาชน์ฯ องค์จริง ซึ่งพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) ทั้ง ๓ องค์ ประดับด้วยพลอยสีต่างกัน ทั้ง ๓ องค์ โดยมีนัยความหมายเมื่อแรกสร้างดังนี้

๑. พระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์สีทอง สร้างด้วยทองคำ ประดับด้วยพลอยสีบุษราคัม มีความหมายถึง สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดใหญ่กว่าทั้งสององค์ที่เหลือ

๒. พระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์สีน้ำเงิน สร้างด้วยทองคำ ประดับด้วยพลอยสีไพลิน มีความหมายถึง ท่านพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๓. พระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์สีทับทิม สร้างด้วยทองคำ ประดับด้วยพลอยสีทับทิม มีความหมายถึง พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) ที่สวยงามและสูงค่ายิ่ง ทั้ง ๓ องค์ นี้ ได้อัญเชิญเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ มศพ. ได้รับประทานจากสมเด็จพระญานสังวรสมเด็จพระสังราช พระองค์ก่อน จำนวน ๓ องค์ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ทำการแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน (พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานมา มีจำนวนเพิ่มขึ้น) เมื่อบ่ายของวันวิสาขบูชา ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา

โดยพระบรมสารีริกธาตุส่วนแรก ท่านอาจารย์ได้อัญเชิญลงผอบแก้วใสที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์สีทอง ซึ่งได้มีการอัญเชิญมามอบแก่ มูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดียและชาวอินเดีย ในครั้งนี้ เพื่อประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพบูชาและเป็นกำลังใจแก่ชาวอินเดีย ที่จะตั้งใจร่วมกันศึกษาและเผยแพร่พระธรรม ให้มีความเจริญรุ่งเรือง มั่นคงสืบไป ในดินแดนพุทธภูมิ

อีกสองส่วน ท่านอาจารย์ได้อัญเชิญลงผอบแก้วใสที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) องค์สีทับทิม และ องค์สีไพลิน เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ บ้านธัมมะภาคเหนือ และ บ้านธัมมะภาคใต้ ต่อไป ส่วนที่สี่ ท่านอาจารย์ได้อัญเชิญบรรจุไว้ในตลับทองคำ ที่ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์แก้ว แล้วนำขึ้นประดิษฐาน ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ดังเดิม

อนึ่ง การที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้เดินทางมาเพื่อ การสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ณ เมืองลัคเนา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ด้วยตัวของท่านเอง เป็นครั้งแรก เมื่อช่วงเช้าของวานนี้ (วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕) กับทั้งวันนี้ ท่านได้ทำการมอบพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระรัตนบุษยภาชน์ทองคำ (จำลอง) องค์สีทอง ให้แก่ มูลนิธิพระธรรมและชาวอินเดีย เป็นความสมบูรณ์ของภารกิจ ในการประดิษฐานพระธรรม ณ แดนพุทธภูมิ และ การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แก่มูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อันจะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ของพระศาสนา ที่จะดำรงมั่นคง ในดินแดนพุทธภูมินี้สืบไป อีกคำรบหนึ่ง

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๐๖-๓๐๗

" ... ดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ ย่อมเป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต

ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้ หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ... "

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐

(๑๔๑) ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดา ล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ... "


ขอเชิญคลิกชมบันทึกการถ่ายทอดสดพิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุและพระรัตนบุษยภาชน์ (จำลอง) ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ในวันนั้น ตามลิงก์ด้านล่าง :


ขอเชิญติดตามกระทู้ที่เกี่ยวข้องได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาสาฬหบูชา ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘

- การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ สู่แดนพุทธภูมิ ๒๒-๒๕ พ.ค. ๒๕๖๕ นำโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

- ชาวอินเดีย จัดพิธีต้อนรับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ยิ่งใหญ่ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ เมืองลัคเนา

- คุณ Ashaji Sindhu ประธานมูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย เข้าพบและมอบของที่ระลึกแด่ อ.สุจินต์

- การประดิษฐานพระธรรม ณ แดนพุทธภูมิ โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เริ่มขึ้นแล้ว! ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕

- มูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย จัดพิธีต้อนรับ อ.สุจินต์ และคณะ อย่างเป็นทางการ สุดยิ่งใหญ่

- หนังสือพิมพ์ ๑๒ ฉบับ ทั่วอินเดีย เสนอข่าว อาจารย์สุจินต์ กับภารกิจครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ชาวพุทธ

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เมืองลัคเนา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ซาบซึ้งในหทัย : ถ้อยคำจากใจ คุณอาช่า สินธุ ประธานมูลนิธิพระธรรม ประเทศอินเดีย



ความคิดเห็น 1    โดย petsin.90  วันที่ 26 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย papon  วันที่ 26 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย Nataya  วันที่ 26 พ.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ


ความคิดเห็น 4    โดย chaweewanksyt  วันที่ 26 พ.ค. 2565

สาธุ


ความคิดเห็น 5    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 26 พ.ค. 2565

ขอกราบอนุโมทนา ด้วยความปลื้มปิติ ยินดีอย่างสูงยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 26 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย meenalovechoompoo  วันที่ 26 พ.ค. 2565

กราบ​อนุโมทนา​สาธุ​ค่ะ​


ความคิดเห็น 8    โดย พจน์ ชนะสูงเนิน  วันที่ 27 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย นิคม  วันที่ 27 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย siraya  วันที่ 27 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย ไพรศรี  วันที่ 27 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนา สาธุครับ.


ความคิดเห็น 12    โดย k-2504  วันที่ 27 พ.ค. 2565

ขอกราบอนุโมทนาสาธุค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย เมตตา  วันที่ 27 พ.ค. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งและกราบยินดีในในความดีของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย Tathata  วันที่ 30 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย majweerasak  วันที่ 1 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 16    โดย ธีรพันธ์  วันที่ 5 มิ.ย. 2565

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระพุทธรัตนะอันประเสริฐสุดพระองค์นั้น พร้อมแห่งพระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะคือหมู่แห่งพระอริยบุคคลผู้เลิศกว่าหมู่ใด


ความคิดเห็น 17    โดย Witt  วันที่ 18 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 18    โดย chvj  วันที่ 24 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งครับ