บวชเป็นพระ แล้วปล่อยให้ตัวอ้วน น้ำหนักเกิน ผิดพระวินัยไหมครับ
โดย วลพ  2 ส.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21502

สื่อนอกตีข่าว พระสงฆ์ไทยอ้วนเกินพิกัดร้อยละ ๔๕ ส่วนอีกร้อยละ ๔๐ โรคภัยถามหา ชี้ของหวานเป็นเหตุ

//www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000094999



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 3 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับพระภิกษุ การฉันอาหาร ก็ควรจะอยู่ในปริมาณที่พอดี การฉันมากไป ก็เท่ากับว่า ไม่ได้พิจารณาในการฉันในขณะนั้น ที่ไม่รู้จักความพอดีกับตน ก็อาจทำให้อาบัติข้อใดข้อหนึ่งได้ ในขณะที่ฉัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่สำรวม การฉันมากไป ซึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านจะรู้จักประมาณในการฉัน โดยดื่มน้ำ ๗ คำ ก่อนอิ่ม แล้วท่านก็อิ่มเพียงพอให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เพราะ ในการฉันอาหารนั้น ภิกษุควรพิจารณาว่า เพียงบรรเทาเวทนาเก่า และ เพื่อเพียงพอให้ชีวิตดำรงอยู่เป็นเท่านั้น เพื่อประโยชน์คือ การประพฤติพรหมจรรย์ อบรมปัญญา ไม่ใช่เพื่อเล่น หรือ เพื่อความอร่อยครับ ดังนั้น แม้แต่การบริโภคอาหาร ก็จะต้องพิจารณาด้วยปัญญา เป็นสำคัญ

เพราะการบวชเป็นพระภิกษุ ไม่ใช่เพื่ออาศัยอาหารจากชาวบ้าน เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ต้องพิจารณาอาหารที่ผู้มีศรัทธาให้ ฉันพอควร และ อบรมปัญญา เป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 3 ส.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมครับเกี่ยวกับเรื่องที่ทรงอุปมา

- การฉันอาหารเสมือนสามีภรรยาผู้เดินทางกันดารกินเนื้อบุตรเพื่ออยู่รอด

- การฉันอาหารเปรียบเสมือนการหยอดน้ำมันที่ล้อเกวียนพอที่จะวิ่งต่อไปได้

- ทรงแสดงว่า หากปราชิกมีได้มากกว่า ๔ จะทรงบัญญัติเรื่อง การฉันอาหารโดยไม่สำรวม เป็นข้อที่ ๕

ข้อความข้างต้นอยู่ในบทใดของพระไตรปิฎกครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 3 ส.ค. 2555

พระพุทธเจ้าให้พิจารณาการบริโภคอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อประดับตกแต่ง ไม่ใช่เพื่อมัวเมา แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายดำรงชีวิตอยู่ได้ จะได้มีกำลัง มีแรงที่จะบำเพ็ญสมณธรรม

อ่านพระไตรปิฎก ปุตตมังสสูตร เล่ม ๒๖ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค และ อรรถกถา สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร เล่ม ๑๑ ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 3 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เพื่อขัดเกลากิเลสที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดอกุศลเลย แม้เพียงเล็กน้อย

การบริโภคอาหาร ไม่ใช่เพื่อประดับตกแต่ง เพื่อความมัวเมา เป็นต้น แต่เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ซึ่งก็หมายรวมการใช้สอยปัจจัย ๔ ทั้งหมด ทั้งเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ว่า เพื่อประโยชน์แก่การทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เพื่ออบรมเจริญปัญญา,

สำหรับเพศบรรพชิต นั้น เป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญ คือ ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เว้นในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้าม และ ประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดพระวินัยมีโทษสำหรับตนเอง ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย pat_jesty  วันที่ 3 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 4 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

- การฉันอาหารเสมือนสามีภรรยาผู้เดินทางกันดารกินเนื้อบุตรเพื่ออยู่รอด

เชิญคลิกที่นี่ครับ

การบริโภคอาหารเปรียบดั่งเนื้อของบุตร [ปุตตมังสสูตร]

- ทรงแสดงว่า หากปราชิกมีได้มากกว่า ๔ จะทรงบัญญัติเรื่อง การฉันอาหารโดยไม่สำรวมเป็นข้อที่ ๕

เชิญคลิกที่นี่ครับ

ผู้ไม่พิจารณาแล้วบริโภคอาหาร [อรรถกถาปุตตมังสสูตร]


การฉันอาหารเปรียบเสมือนการหยอดน้ำมันที่ล้อเกวียนพอที่จะวิ่งต่อไปได้

อยู่ในพระไตรปิฎก หมวดนี้ ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 189

ขออนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 4 ส.ค. 2555
บทว่า พหุํ ยาปนตฺถํ อภุญฺชึสุ ได้แก่ แม้เมื่อจะฉันอาหารมากอันประณีต ก็ฉันอาหารเพียงยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น. กว่านั้นไปก็ไม่ยินดีคือไม่ถึงกับยินดี. ไม่สยบ คือไม่พัวพันบริโภค เหมือนเจ้าของเกวียนใช้น้ำมันหยอดเพลา และเหมือนคนมีบาดแผลใช้ยาทาแผลฉะนั้น. ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากลิงก์ที่อาจารย์ผเดิมให้ไว้ เป็นอรรถกถาที่ลึกซึ้งมากครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจาย์วรรณี, อาจารย์คำปั่น, อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ