ต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรมเท่านั้น_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖
โดย เมตตา  21 พ.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 45970

- ต้องไม่ลืม เราฟังธรรมซึ่งเราไม่มีโอกาสได้ฟังความจริงของชีวิตทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะนี้มีทุกอย่างทุกสิ่งที่ได้กล่าวถึงแล้ว แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ทุกคำที่เราได้ยินกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมี ซึ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เป็นเหตุให้ไม่รู้ความจริงสักอย่างตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ.

- เพราะฉะนั้น เริ่มฟังเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้ ก็เริ่มรู้ความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งกำลังมีเดี๋ยวนี้.

- เดี๋ยวนี้มีสัมปฏิจฉันนจิตไหม? (มี) เคยรู้มาก่อนไหม? (ไม่) สัมปฏิจฉันนะจิตเป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีเหตุให้เกิดสัมปฏิจฉันนะเกิดได้ไหม? (ไม่ได้) เดี๋ยวนี้สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตอะไร? (เกิดหลังสันตีรณะ) เดี๋ยวนะ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจิตอะไร? (จิตที่เวลานี้อย่างเช่น เห็น ... ) ขอโทษนะ ฟังคำถามก่อนดีๆ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตอะไร ต้องตรง เราจะนำไปถึงความลึกซึ้ง? (เกิดหลังจากสันตีรณะครับ) อะไรกัน คุณอาช่า นี่เป็นเหตุที่ดิฉันถามโน่น นี่ นั่น เพื่อให้รู้ว่าความเข้าใจจริงๆ สามารถที่จะตอบได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ถ้ายังไม่ถูกต้องหมายความว่า ความเข้าใจยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ถามอีกครั้งหนึ่งคิดดีๆ ก่อนตอบ สัมปฏิจฉันนะ สัมปฏิจฉันนะ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจิตอะไร? (หลังจากเห็นครับ) เห็นไหม ลืมแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้มีเห็น เห็นดับไหม? (ดับ) สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วดับไหม? (ดับ) จิตอะไรเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ? (โวฏฐัพพนะ) ฟังดีๆ นะ สัมปฏิจฉันนะดับ สัมปฏิจฉันนะดับ สัมปฏิจฉันนะดับจิตอะไรเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ? (โวฏฐัพพนะครับ) สัมปฏิจฉันนะดับ จิตอะไรเกิดต่อ? (สันตีรณะ) เห็นไหมว่า แม้เพียง ๓ ชื่อ ได้ยินบ่อยๆ แต่สามารถจะรู้ได้ไหมในเหตุในผลก่อนที่จะเข้าใจความลึกซึ้ง.

- จิตเห็นดับ แล้วจิตอะไรเกิดต่อบ้าง? (จิตเห็นดับ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ ตามด้วยสันตีรณะ ตามด้วยโวฏฐัพพนะ) เรายังไม่ได้พูดถึงโวฏฐัพพนะเลยนะ จิตได้ยิน เกิดแล้วก็ดับ จิตอะไรเกิดต่อบ้าง? (สัมปฏิจฉันนะ ตามด้วยสันตีรณะครับ) จิตได้กลิ่นดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ? (สัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะครับ) จิตลิ้มรสดับ จิตอะไรเกิดต่อ? (สัมปฏิจฉันนะ และตามด้วยสันตีรณะครับ) จิตที่กำลังรู้แข็งหรือเย็นดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ? (นั่นก็เหมือนกัน สัมปฏิจฉันนะตามด้วยสันตีรณะ) รู้แล้วใช่ไหมว่า ถามอะไรต้องตอบอย่างนั้นใช่ไหม? (ครับ) .

- จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นขณะเดียวแล้วดับ ถ้าไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อ จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่กรรมทำให้เกิดจิตเห็นดับ แล้วจิตที่เป็นสภาพธรรมที่ต้องรู้เห็นต่อ ทำหน้าที่รับต่อเป็นสัมปฏิจฉันนะดับ และกรรมทำให้สันตีรณะเกิดต่อ ไม่พอเพียงแค่รับไว้ แต่รับไว้จึงสามารถที่จะรู้เพิ่มขึ้น ทั้ง ๓ นี้นะเป็นผลของกรรม.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และกราบยินดีในกุศลจิตของคุณสุคินด้วยค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 21 พ.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น เกิดมาต้องรู้ว่าเป็นผลของกรรมแน่นอน แต่เมื่อไหร่ต้องรู้ด้วย ต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรมเท่านั้น.

- เพราะฉะนั้น ให้เขาบอกว่า จิตที่เป็นผลของกรรมมีอะไรบ้าง ทำกิจอะไรบ้าง เมื่อไหร่ เพื่อเขาจะได้รู้ว่า ตลอดชีวิตทุกชาติ ขณะไหน อะไรบ้าง ที่เป็นผลของกรรมมากน้อยอย่างไร เท่าที่เขารู้เพื่อไม่ลืมว่า ไม่มีเรา และเท่าที่เขารู้มีอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรม.

- กรรมดีกรรมไม่ดีที่ได้ทำแล้ว ทำให้เกิดผลของกรรมขณะไหนบ้างในชีวิต เพราะฉะนั้น ให้เขาเริ่มบอกด้วยความเข้าใจของเขาเองว่า ผลของกรรมเริ่มเมื่อไหร่ และมีอะไรบ้าง? (ปฏิสนธิ) ค่ะ เป็นผลของกรรมอะไร? (ผลของกรรมที่เกิดก่อนจุติเป็นผลของกรรมนั้นครับ) ถามว่า เกิด เป็นผลของกรรมอะไร? (เป็นผลของกุศลกรรมครับ) เท่านั้นหรือ? (ถ้าพูดถึงชีวิตของเราเอง ... ) ไม่ได้พูดถึงชีวิตเรา ดิฉันถามว่า ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมอะไรบ้าง ไม่ได้พูดถึงชีวิตของใครเลย พูดถึงจิต? (เป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม) เขาเริ่มเป็นผู้ตรงต่อความหมายและความจริง ไม่ใช่ว่าไปคิอเรื่องอื่น แต่ต้องฟังคำถามแล้วตอบให้ตรง เพราะฉะนั้น เขาเริ่มมั่นใจเริ่มเชื่อหรือยังว่า แต่ละชีวิตหลากหลายตั้งแต่เกิดเพราะกรรมต่างกัน มั่นคงไหม? (มั่นคง) .

- เพราะฉะนั้น กรรมที่ไม่ดีที่ทำไว้ชาตินี้ ถ้าจากโลกนี้ไปทำให้เกิดในนรก ทำให้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ในป่า เป็นเปรต ได้ไหม? (เป็นไปได้) เป็นไปได้นะ นกตัวหนึ่ง ชาติก่อนของนกตัวนั้นทำความดีเยอะเยะได้ไหม? (เป็นไปได้) เพราะฉะนั้น ไม่ประมาท เกิดเป็นคนนี้ไม่ทราบว่าชาติก่อนๆ ทำดีไว้มากแค่ไหนทำไม่ดีไว้มากแค่ไหน เพราะฉะนั้น เห็นใจคนที่เกิดในชาตินี้มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมแต่ไม่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น เห็นใจสงสารคนที่เกิดเป็นคนแต่ยังไม่เข้าใจธรรม ถ้าช่วยให้เขาได้เข้าใจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสังสารวัฏฏ์ทั้งเราและเขาไหม? (ครับ) .

- แต่ธรรมละเอียดลึกซึ้งเป็นประโยน์เมื่อได้เข้าใจถูกต้อง ถ้าเข้าใจผิดพูดผิดทำให้คนอื่นเข้าใจผิดด้วยไม่เป็นประโยชน์เลย.

- เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดคือ รู้ว่าธรรมมีจริงๆ ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ความจริงของธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาด้วยความเคารพเพื่อให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้อง คือ ไม่ใช่ฟังแต่ชื่อ ฟังแต่เรื่อง แล้วก็จำ แต่ต้องรู้ความจริงของสิ่งที่ได้ฟังด้วยว่าขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น.

- เพราะฉะนั้น กรรมให้ผลขณะแรกคือขณะเกิด เกิดแล้วจนถึงวันนี้อะไรเป็นผลของกรรมบ้าง? (ภวังค์ เห็น ..) ปฏิสนธิก่อน (ครับ ปฏิสนธิ ภวังค์ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่สัมผัสกาย สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ จุติ) เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิในชาติหนึ่งมีกี่ขณะ? (หนึ่งขณะ) ต่อจากนั้นเป็นอะไร? (ภวังค์) จิตที่ทำปฏิสนธิกับจิตที่ทำภวังคกิจเป็นจิตเดียวกันหรือเปล่า? (เป็นจิตประเภทเดียวกันครับ) ถามว่า จิตที่เกิดครั้งแรกดับ จิตที่เกิดต่อเป็นจิตเดียวกันหรือเปล่า? (ไม่ครับ) แต่เป็นจิตประเภทเดียวกันเพราะเป็นผลของกรรมเดียวกันที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย เมตตา  วันที่ 21 พ.ค. 2566

- ตอนนี้เป็นคำถามที่ต้องคิดดีๆ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมหนึ่งดับแล้ว กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงขณะเดียว แต่กรรมทำให้จิตเกิดสืบต่อเป็นจิตที่เป็นผลของกรรมเดียวกันเป็นจิตประเภทเดียวกัน รู้อารมณ์อะไร? (เป็นภวังค์จิตรู้อารมณ์เดียวกันกับของปฏิสนธิจิต) ถูกต้อง เพราะอะไร? (เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน) เก่งมาก เพราะฉะนั้น ขณะไหนที่ไม่มีอารมณ์เดียวกับภวังค์? (ตอนเห็นครับ) .

- เห็นเป็นผลของกรรมหรือเปล่า? (เป็น) เป็นผลของกรรมเดียวกับกรรมที่ทำให้เกิดปฏิสนธิ ภวังค์ หรือเปล่า? (ไม่) แน่ใจหรือ? (แน่ใจ) ถ้าเป็นผลของกรรมดีเกิดดี เห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดหรือเปล่า? (ไม่ได้ครับ) เพราะฉะนั้น กรรมดีให้ผลเพียงแค่ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ เท่านั้นหรือ? (ตามที่คิดแล้วก็น่าจะเป็นแบบนั้น แต่ว่ากรรมที่ทำให้เกิดแค่ให้เกิดปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ) ไม่ต้องรับผลของกรรมต่อจากนั้นเลยหรือ? (เข้าใจว่า ก็ต้องมีเห็น มีได้ยิน แต่ว่า จะเป็นผลของกรรมในอดีตหรือชาตินี้ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่กรรมเดียวกันที่ให้เกิดปฏิสนธิ ภวังค์) ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรใช่ไหม? (คิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ว่า ผลของกรรมให้เกิดเฉพาะปฏิสนธิ ภงังค์ และจุติ น่าจะมีเกิดมาแล้วต้องมีผลอื่นด้วย) นี่เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง เราก็อาจจะคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้ได้ แต่เหตุผลมีนะ เช่น ถ้ากรรมทำให้เกิดในนรกมีปฏิสนธิแล้ว จะไม่รู้ความทรมานทุกข์ไฟแรงๆ ตลอดเวลาไม่ดับไปเลยอย่างนั้นหรือ? เพราะฉะนั้น นั่นเกิดจากอะไร ก็ต้องเป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องได้รับสิ่งนั้นเพราะเกิดในนรก จึงต้องมีอารมณ์ที่เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดในนรก เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ไม่รู้ว่า กรรมจะให้ผลเมื่อไหร่ จะให้ผลในชาตินั้นหรือจะให้ผลในชาติต่อไป หรือยังไม่ให้ผลในชาตินั้นยังไม่ให้ผลในชาติต่อไป แต่ยังให้ผลในชาติอีกยาวไกล เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรมไหนไม่ทราบในแสนโกฏิกัปป์ก็ได้ เป็นผลของกรรมในชาตินี้ก็ได้ที่ทำให้เกิด.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เมตตา  วันที่ 21 พ.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น เราจะรู้ไม่ได้เลย แต่เพียงเข้าใจเผินๆ ว่า กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว แค่นั้นไม่พอ ต้องรู้ว่า กรรมคืออะไร ไม่ใช่เรา ขณะเกิดไม่ใช่เรา ขณะที่กรรมให้ผลไม่ใช่เรา ต้องเข้าใจว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป.

- กรรมเป็นจิต เจตสิก ที่เป็นกุศลและอกุศล ให้ผลเป็นจิตและเจตสิกที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก.

- ถ้าพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงว่า ไม่มีเราแต่มีธรรม ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยถึงความจริงว่า ขณะนี้เป็นอะไร.

- ขณะนี้เป็นเราหรือเป็นจิต เจตสิก รูป? (เป็นจิต เจตสิก รูป) เพราะฉะนั้น ขณะแรกที่เกิด กรรมทำให้กุศลวิบากจิตเกิด และรูปที่เป็นผลของกรรมเกิดด้วย.

- เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจความจริงที่ไม่ใช่เราทีละเล็กทีละน้อย อกุศลกรรมทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดพร้อมเจตสิก และรูปซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดพร้อมกัน.

- เพราะฉะนั้น ในขณะเกิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า มีจิต เจตสิกอะไรเกิด และมีรูปอะไรเกิดในขณะนั้นไม่ใช่ทั้งหมดแต่เป็นเฉพาะรูปที่เกิดจากกรรมบางรูป.

- ขณะเกิดยังไม่เป็นปัจจัยที่จะให้จักขุปสาทรูปเกิดแม้ว่าจักขุปสาทรูปจะเป็นผลของกรรม ในขณะเกิดกุศลกรรมทำให้เกิดรูปต่างกับขณะที่เป็นอกุศลกรรม แต่ขณะนั้นรูปยังไม่ปรากฏเป็นนก เป็นลิง เป็นคน กรรมทำให้รูปต่างกันตั้งแต่เกิดภายหลังเป็นนก เป็นปลา เป็นสิงโต เป็นตุ๊กแกได้ คนก็เป็นคนต่างๆ เป็นหญิงเป็นชายรูปร่างหน้าตาต่างๆ .

- เพราะฉะนั้น กรรมก็ทำให้จิต เจตสิก รูปเกิด แต่จิต เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นผลที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ส่วนรูปเป็นผลซึ่งไม่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพราะฉะนั้น ใครเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นธรรมไม่ได้เลย.

- ตาปลา กับตาคน กับตานก ต่างกันหรือเหมือนกัน? (ต่างกัน) ตานกฮู้ กับตามดต่างกันใช่ไหม แต่จักขุปสาทไม่ต่าง เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจมั่นคงนะ ปลามีสัมปฏิจฉันนะไหม? (มี) เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าใครเปลี่ยนแปลงวิบากไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ทำให้เกิดเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย สุญญตาทุกขณะ.

- ช้างโกรธไหม? (โกรธ) ช้างเป็นช้าง คนเป็นคน แล้วโกรธเป็นอะไร? (เป็นเจตสิก) เจตสิกต่างกับจิตอย่างไร? (ต่างกันตรงที่จิตรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกรู้อารมณ์เดียวกันแต่ไม่รู้แจ้งอารมณ์ครับ) เพราะฉะนั้น จิตเกิดขณะที่เป็นมดเกิด ช้างเกิดคนเกิด กับขณะที่เป็นต่างกันเป็นสัตว์เป็นคนเกิด ปฏิสนธิต่างกันตรงไหน? (แค่ทราบว่าต่างกันว่า ถ้ายกตัวอย่างช้างกับเสือ เกิดเป็นช้างก็ผลของกรรมอย่างหนึ่ง เกิดเป็นเสือก็ผลของกรรมอีกอย่างหนึ่ง) เกิดเป็นช้างเป็นผลของกรรมอะไร เกิดเป็นเสือเป็นผลของกรรมอะไร? (ผลของอกุศลครับ) ต่างกันที่ไหน? (คุณสุคิน: แกบอกว่าต่างกันตรงกรรมหนักกรรมเบา ผมบอกว่าแค่นั้นเองหรือ แกบอกว่าไม่ทราบครับ) เราต้องถามเขาสั้นๆ ทีละน้อยให้เขาเข้าใจให้เขาคิด ถ้ายาวๆ เขาคิดเยอะเขาไม่เข้าใจเพราะคิดโน่นคิดนี่ แต่ถ้าสั้นๆ เขาต้องไตร่ตรองละเอียดขึ้นจนเข้าใจ (ต่างกัน) เพราะฉะนั้น จะถามสั้นๆ ปฏิสนธิจิตของนก กับปฏิสนธิของช้างมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากันไหม? (เท่าที่พิจารณาน่าจะเท่ากัน) .

- ปฏิสนธิจิตของมด ปฏิสนธิจิตของช้างเป็นจิตอะไร? (เป็นผลของอกุศลกรรม) คำถามว่า ปฏิสนธิจิตของมด ปฏิสนธิจิตของช้าง เป็นจิตอะไรที่ทำกิจปฏิสนธิของมดของช้าง? (เป็นวิบากจิต) วิบากที่เป็นอกุศลวิบากมีเท่าไหร่? (มี ๗ ครับ) อกุศลวิบากอะไรใน ๗ ดวงที่ทำปฏิสนธิ? (สันตีรณะครับ) .

- สันตีรณจิตที่ทำกิจปฏิสนธิของนก กับสันตีรณจิตที่ทำกิจปฏิสนธิของช้างมีเจตสิกจำนวนเท่ากันไหม? (ไม่ทราบ) เปลี่ยนจิตแต่ละหนึ่งขณะให้เป็นอื่นได้ไหม? (ไม่ได้) สันตีรณจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ เปลี่ยนให้เป็นมากกว่านั้นน้อยกว่านั้นได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น ตามที่เราเคยพูดกัน ให้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น ก็คือ จิตแต่ละจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจ มีจิตไหนที่เกิดขึ้นแล้วไม่ทำกิจอะไรบ้างไหม? (ไม่มี) .

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย เมตตา  วันที่ 21 พ.ค. 2566

- จิตแต่ละจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจ มีจิตไหนที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ทำกิจอะไรบ้างไหม? (ไม่มี) เพราะฉะนั้น ที่คิดว่าเป็นเราทำทั้งวันความจริงเป็นอะไร? (เป็นจิต เจตสิก รูปครับ) ความจริงรูปทำอะไรเองได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น อะไรทำ? (จิต เจตสิก) .

- เพราะฉะนั้น ตอนนี้ทบทวนเรื่อง กิจของจิต ที่เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุที่เป็นอกุศลวิบาก เริ่มตั้งแต่อกุศลวิบากจิตดวงที่ ๑ ให้เขาพูดไปทำกิจอะไรทั้ง ๗ ดวง? (เห็นครับ) จักขุวิญญาณทำกิจอะไร? (เห็นครับ) ถ้าไม่เห็นจิตนั้นจะชื่อว่า จักขุวิญญาณ ไหม? (ไม่ครับ) เพราะฉะนั้น กำลังเห็นไม่เรียกว่าจักขุวิญญาณได้ไหม? (ไม่มีชื่อก็ยังทำกิจเห็นอยู่ครับ) ถูกต้อง แต่ไม่รู้ว่าจิตไหน ด้วยเหตุนี้เราพูดถึงจิตนั้นเท่านั้นที่เห็น ทำทัสสนกิจ ทำกิจเห็น.

- จักขุวิญญาณทำกิจอะไรได้บ้าง? (เฉพาะเห็น) จิตเดียวใช่ไหม? (จิตเดียวครับ) .

- เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุดวงที่ ๒ คืออะไร? (โสตวิญญาณครับ) ทำกิจอะไร? (รู้เสียง) เพราะฉะนั้น ขณะนี้ให้ทราบว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องกิจของจิตเพราะจิตเกิดแล้วไม่ทำกิจไม่ได้.

- จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่? (๗ ครับ) ดีมากที่ไม่ลืม เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีจักขุวิญญาณ มีโสตวิญญาณไหม? (มีครับ) เป็นเราหรือเปล่า? (ไม่) นี่เป็นความมั่นคงที่เปลี่ยนไม่ได้จนกว่าจะรู้ความจริง.

- อเหตุกจิตที่เป็นอกุศลวิบากต่อไปคืออะไร? (ฆานวิญญาณเป็นจิตที่รู้กลิ่น) มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่? (มี ๗) ทำกิจอะไร? (รู้กลิ่น) .

- จักขุวิญญาณมีเจตสิก ๗ โสตวิญญาณมีเจตสิก ๗ โสตวิญญาณมีเจตสิก ๗ ทำกิจเห็นได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ แต่ละหนึ่งมีกี่กิจ? (แต่ละหนึ่งมี ๑ กิจ) .

- อเหตุกจิตกุศลวิบากจิตต่อไปเป็นอะไร? (ชิวหาวิญญาณ) เดี๋ยวนี้มีไหม? (มีครับ) รสอะไร? (คุณสุคิน: แกรู้ครับ ผมเองก็ยกตัวอย่างเมื่อกี๊พูดถึงชิวหาวิญญาณก็เลยรู้สึกปากขม ผมเลยถามแก แกก็ไม่รู้สึกขมแต่รู้สึกอย่างอื่นครับ) อะไรคะ อย่างอื่น? (แกจำไม่ได้) เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มีไหมจิตที่ลิ้มรส? (เวลานี้ไม่มีครับ) เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รับประทานอาหารจะมีรสปรากฏไหม? (ได้ลิ้มรสต่อเมื่อมีอาหารในปากครับ) เมื่อสิ่งนั้นกระทบลิ้นรสก็ปรากฏ.

- ต่อไปเป็นอเหตุกกุศลวิบากอะไร? (กายวิญญาณ) มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่? (ทีแรกแกตอบว่าอาจจะเยอะกว่าเมื่อเทียบกับอีก ๔ ทวารว่า การกระทบไม่เหมือนกัน แต่พิจารณาแล้วตอบว่าเท่ากันมี ๗ เจตสิก) เท่ากันแต่ต่างกันตรงไหน? (ต่างกันตรงที่ความรู้สึกเวทนาครับ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นอุเบกขาเวทนา แต่ทางกายจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาครับ) เรากำลังพูดถึงอกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกกายวิญญาณ (ต่างกันที่อุเบกขาเวทนา กับทุกขเวทนา) นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มเห็นความไม่ใช่เรา ทุกคำเพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง จึงไม่ใช่เราจนกว่าจะรู้ความจริง.

- เริ่มเข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นฟังทีละเล็กทีละน้อง จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนมั่นคง.

- อกุศลวิบากมีทั้งหมดเท่าไหร่? (มี ๗) มีมากกว่า ๗ ได้ไหม? (ไม่ได้) เกิดในนรก กับเกิดเป็นลิง อกุศลวิบากเท่ากันไหม? (เท่ากัน) แล้วถ้าเป็นมนุษย์มีอกุศลวิบากมากกว่า ๗ ได้ไหม? (ไม่ได้) .

- เพราะฉะนั้น เราพูดถึงอกุศลวิบากแล้วกี่ดวง? (๕ ครับ) เพราะฉะนั้น เหลืออีก ๒ ใช่ไหม? (ใช่) อะไรเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส? (สัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะเห็นไหม? (ไม่เห็น) สัมปฏิจฉันนะรู้สิ่งที่กระทบตาไหม? (รู้ครับ) สัมปฏิจฉันนะทำกิจอะไร? (รับอารมณ์ต่อครับ) เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ? (สันตีรณะ) ทั้งหมดอกุศลวิบากมีเท่าไหร่? (มี ๗) มีมากกว่านั้นได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิตไหนที่ทำกิจปฏิสนธิ? (สันตีรณะ) เพราะอะไร? (แกเทียบกับจิตที่เกิดก่อนหน้า แกบอกว่าถ้าเป็นเห็นไม่สามารถทำได้ สัมปฏิจฉันนะก็ไม่สามารถทำได้เพราะสันตีรณะจะทำกิจที่มั่นคงกว่าถึงทำกิจปฏิสนธิได้ครับ) เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สันตีรณะทำกิจได้ทั้งหมด ๕ กิจ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 21 พ.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น แม้ว่าสันตีรณะรู้อารมณ์เดียวกับจิตเห็น จิตได้ยิน แต่ในฐานะที่รู้เพราะไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจรับ ทั้งหมดทำแล้ว เพราะฉะนั้น สันตีรณะรู้อารมณ์นั้นโดยไม่ต้องทำกิจเห็น กิจได้ยิน กิจได้กลิ่น กิจสัมปฏิจฉันนะ จึงสามารถที่จะทำกิจปฏิสนธิได้.

- ยังเหลืออีกจิตเดียวที่เรายังไม่ได้กล่าวถึงซึ่งเป็นกิจของสันตีรณะที่ ๕ เพราะฉะนั้น เราจะไม่พูดอะไรโดยไม่เข้าใจเพียงแค่จำนะ แต่เมื่อถึงเวลาก็เริ่มเข้าใจเหตุผลที่ว่า ทำไมจิตนั้นจึงทำกิจนั้นได้.

- ไม่มีอะไรสงสัยเกี่ยวกับอกุศลวิบากใช่ไหม ต้องเป็นอเหตุกะไม่ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็ต่างกันโดยกิจ? (ครับ) .

- เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะพูดถึงกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้น ชื่อว่า อเหตุกวิบาก เท่าที่เขาทราบนะอเหตุกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดมีเท่าไหร่? (๑๘ ครับ) ต่างกันอย่างไร ๑๘? (๗ เป็นอกุศลวิบาก, ๘ เป็นกุศลวิบาก และ ๓ เป็นกิริยาครับ) ดีมากนะ เพราะฉะนั้น ยังเหลือที่เราจะต้องพูด คือ กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ.

- ถ้าจิตใดไม่ประกอบด้วยเหตุ จิตนั้นจะมีกำลังไหม บางคนคิดว่าทำไมต้องเรียนชื่อต่างๆ เรียนจิตต่างๆ เรียนเจตสิกยุ่งยาก (อาช่าว่าคิดอย่างนั้นไม่ถูก ถ้าเราไม่เรียนละเอียดแล้วจะไม่เข้าใจความลึกซึ้งของธรรม) ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ธรรมที่มีในชีวิตประจำวันทุกวันไม่พ้นจากที่เรากำลังพูดถึง สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง แต่ไม่รู้ความจริงของแต่ละหนึ่งอย่างเลยทั้งสิ้น จนกว่าเริ่มฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่มีในชีวิตทั้งหมด เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์เพราะสามารถที่จะมีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง.

- ความรู้ถูกต้องที่รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป.

- ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจนกว่าจะตายก็ยังไม่รู้ความจริงว่าต้องเป็นอย่างนี้ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง.

- ไม่รู้อะไรเลย แล้วคิดว่าจะไม่มีกิเลสอีกต่อไปได้แม้คนนั้นจะได้ยินคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแต่ก็ไม่เข้าใจเลย.

- เพราะฉะนั้น ตอนนี้เรื่องของอเหตุกวิบาก ๑๕ ดวงมีข้อสงสัยอะไรไหม หรือเริ่มเข้าใจแล้ว ต้องพูดถึงสิ่งที่เราได้ฟังบ่อยๆ เพื่อไม่ลืมเพื่อเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ถามว่าสันตีรณจิตมีกี่กิจ? (๕ ครับ) สันตีรณกุศลวิบาก กับสันตีรณอกุศลวิบากต่างกันตรงไหน? (ต่างกันที่เป็นผลของกุศลกรรม ๑ และผลของอกุศลกรรม ๑) เดี๋ยวก่อนนะ อกุศลกรรมทำให้เกิดอกุศลวิบากอเหตุกะเท่าไหร่? (๗ ครับ) กุศลกรรมทำให้เกิดอเหตุกกุศลวิบากเท่าไหร่? (๘ ครับ) ต่างกันตรงไหนค่ะ ๘ กับ ๗? (ต่างกันตรงที่ สันตีรณะที่เป็นผลของกุศลมีสันตีรณะ ๒ และผลของอกุศลมี ๑ ครับ) ๑ กับ ๒ ต่างกันตรงไหน? (ถ้าเป็นกุศลวิบากอเหตุกะมี ๒ จะประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๑ และสุขเวทนา ๑ และก็ ... ) ขอโทษนะ ไม่ใช่สุขเวทนาเพราะสุขเวทนาต้องเกี่ยวกับกายต้องเป็นโสมนัสเวทนา (เป็นโสมนัสเวทนาครับ ส่วนผลของอกุศลกรรมหมายถึงอกุศลศลวิบากอเหตุกจิตตรงนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา ส่วนคุณมาธุตอบว่าประกอบด้วยทุกขเวทนา) ไม่ได้ค่ะ สันตีรณะไม่ได้ประกอบด้วยทุกขเวทนาเพราะทุกขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณเท่านั้น สุขเวทนาก็เกิดกับกายวิญญาณเท่านั้นไม่เกิดกับจิตอื่นเลย (ค่ะ) นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจความละเอียดขึ้นนะ เพราะฉะนั้น เห็นความอ่อนมากของผลของกุศลที่เพียงทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแสนสั้นแล้วหมดไป.

- เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผลของกุศลทำให้รู้อารมณ์ที่ดี และอารมณ์ที่ดีเลิศได้ ในชีวิตประจำวันถ้าเห็นสิ่งใดที่เป็นผลของกุศลที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ความรู้สึกก็ไม่มากธรรมดาเฉยๆ เพราะฉะนั้น เรารู้ไม่ได้ว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นต้น มีความประณีตสวยงามพิเศษหรือธรรมดา นี่เป็นเหตุที่ทางฝ่ายกุศลจะมีอารมณ์ที่ประณีตขึ้นๆ ๆ เห็นแหวนธรรมดาทองธรรมดา เพชรธรรมดา แต่ถ้าเป็นแหวนเพชรที่สวยพิเศษบริสุทธิ์มาก ขณะนั้นทำให้เกิดโสมนัสสันตีรณะ.

- เพราะฉะนั้น ทบทวนอีกครั้งหนึ่งสันตีรณะที่เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ทำกิจอะไรได้บ้าง? (รวมกันแล้ว ๕ ครับ) เพราะฉะนั้น สันตีรณกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะทำกิจได้กี่กิจ (ที่แกตอบว่า ๕ คือแกจำตัวเลขได้แต่จำรายละเอียดไม่ได้ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยทบทวน) ค่ะ ๕ กิจนะ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ กี่กิจแล้ว? (๓ กิจ) มีอีกกิจหหนึ่งไหม? (อีกกิจหนึ่งคือสันตีรณะครับ) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ยังเหลืออีกกิจเดียวที่เรายังไม่ได้กล่าวถึง เพราะเราต้องค่อยๆ กล่าวถึงตามลำดับ.

- กุศลวิบากอเหตุกสันตีรณะทำได้กี่กิจ? (๔ กิจ) เหมือนกับอเหตุกะที่เป็นอกุศลวิบากหรือเปล่า? (เหมือนกันครับ) เหมือนกันคือ อเหตุกกุศลวิบาก กับอเหตุกอกุศลวิบากทำทั้งหมดได้ ๕ กิจ แต่เราไม่พูดถึงกิจที่ ๕ แต่สันตีรณกุศลวิบากมี ๒ ต่างกันที่อุเบกขากับโสมนัส เพราะฉะนั้น กุศลอย่างอ่อนเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากสันตีรณะที่เป็นอุเบกขาเวทนาที่ทำกิจได้ ๕ กิจ แต่โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำได้กิจเดียว.

- เพราะฉะนั้น ความต่างกันของอเหตุกกุศลวิบากอุเบกขากับอเหตุกสันตีรณะโสมนัสต่างกันที่กิจหน้าที่ อกุศลวิบากสันตีรณอุเบกขาทำได้ ๔ กิจ แต่อุเบกขาสันตีรณโสมนัสทำได้กิจเดียว มิเช่นนั้นทั้งสองจิตนี้ก็ไม่ต่างกัน.

- คราวต่อไปเราจะได้พูดถึงกิจของโสมนัสสันตีรณะ และอุเบกขาสันตีรณะ แต่การที่เราพูดถึงอเหตุกจิตทั้งหมดเป็นพื้นฐานที่จะให้รู้ความต่างของความเป็นไปในชีวิต.

- ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล และกิจหน้าที่ก็จะเข้าใจถูกต้องเวลาที่เราพูดถึงจิตประเภทอื่นต่อไป เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงที่เป็นจริงใช่ไหม? (ครับ) ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้จะไม่รู้อะไรเลย ฟังแล้วไม่ลืมคิดถึงไตร่ตรองเพิ่มขึ้นเข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ มิเช่นนั้น ก็มีแต่ความไม่รู้ความจริงทุกขณะต่อไป.

- ก็ยินดีด้วย ขอบคุณ และยินดีในกุศลของคุณสุคิน และทุกคนที่เริ่มเข้าใจความจริงที่จะดำรงความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป สวัสดีค่ะ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Wiyada  วันที่ 23 พ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

พระธรรมของพระพุทธองค์ที่ท่านนำมาแสดงมีประโยชน์มากมายมหาศาลจริงๆ ค่ะ เป็นบุญที่ได้พบท่านค่ะทำให้ได้พบรัตนะที่ประเสริฐยิ่ง ชาตินี้เป็นชาติที่ประเสริฐมากแล้วจริงๆ ค่ะ

บัดนี้มีความเข้าใจมั่นคงว่า ไม่มีเรา จริงแท้แน่นอนแล้ว จะเพียรพยายามศึกษาต่อไปค่ะ

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ