เหตุปัจจัยกับกรรม ต่างกันอย่างไร
โดย anucha98  17 ธ.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 24194

กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

ผมมีข้อสงสัย คำว่าเหตุปัจจัยกับกรรม ฟังดู พิจารณาดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน อยากทราบความแตกต่างของสองคำนี้ ต่างกันอย่างไรครับ

แล้วก็อยากถามอีกเรื่องคือการสวดมนต์กับการฟังธรรมมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไรครับ การสวดมนต์คือการภาวนาหรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ พิจารณาไตร่ตรองในคำที่ได้ยินได้ฟัง ในที่สุดความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะคำแต่ละคำ ที่เป็นชื่อของธรรมต่างๆ นั้น ไม่มีผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งในความหมายและความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่สำคัญจะต้องมีความอดทนที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย เหตุปัจจัย มีความหมายกว้างขวาง ซึ่งเป็นสภาพธรรมท่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีปัจจัย ๒๔ ประการ ซึ่งเหตุทั่วไปมี หกประการ ครับ

เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท ที่จะเป็นเหตุเป็นมูลรากให้สภาพธรรมอื่นๆ เจริญขึ้น ได้แก่ อกุศลเหตุ ๓ (โลภะ โทสะ โมหะ) และโสภณเหตุ ๓ (อโลภะ อโทสะ และอโมหะ)

ส่วนเหตุปัจจัย มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัย รวมปัจจัยที่เป็นกรรมด้วยคือ กัมมปัจจัย

เมื่อพูดถึง กรรม กรรม ก็คือ เจตนาเจตสิก ดังนั้นขณะที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมๆ กับ เจตสิกอื่นมีผัสสะ เป็นต้น เจตนาเจตสิกที่เป็นไปในกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เป็นกัมมปัจจัยครับ ไม่ใช่ไม่เป็นครับ เพราะให้ผลคือ วิบากจิตและเจตสิก รวมทั้งให้ผลคือ รูปที่เกิดจากกรรม (กฏัตตารูป) ด้วย ให้ผลต่างขณะ เรียกว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย ส่วนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กับเจตนาเจตสิก ในขณะที่ทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เช่น ผัสสะ เวทนา สัญญา มนสิการ เป็นต้น ไม่เป็นกัมมปัจจัย เพราะ กัมมปัจจัย หมายถึง เจตสิกประเภทเดียวคือ เจตนาเจตสิกเท่านั้นครับ

ส่วน เจตนาที่สัมปยุตตกับสหชาตธรรมหรือ เจตนาที่เกิดพร้อมกับ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามคือ จิต เจตสิก และแก่รูปที่เกิดพร้อมกับเจตนานั้น ชื่อว่า สหชาตกัมมปัจจัย ครับ ส่วน เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับเจตนา เช่น ผัสสะเวทนา สัญญา รวมทั้งจิตและรูปที่เกิดพร้อมกับเจตนา (เช่น ขณะปฏิสนธิ) จิต เจตสิกอื่นที่ไม่ใช่เจตนาและรูป ไม่เป็นกัมมปัจจัย คือ ไม่เป็นสหชาตกัมมปัจจัยครับ แต่เจตนาที่เกิดพร้อมกับสภาพธรรมอื่นๆ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ดังนั้น ตัวกรรม คือ เจตนา เป็นกัมมปัจจัย แต่จะเป็นกัมมปัจจัยประเภทอะไร ก็ขึ้นอยู่กับการเกิดของเจตนานั้นว่าเกิดกับจิตประเภทอะไรครับ

พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 80

วรรณนานิทเทสแห่งกัมมปัจจัย

พึงทราบวินิจฉัยใน กัมมปัจจัยนิทเทส ต่อไป บทว่า กมฺม ได้แก่ เจตนาธรรม

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

กัมมปัจจัย

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

สุ. เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ สหชาตกัมมปัจจัย หมายความถึงเจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

เพราะฉะนั้นเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากเจตสิก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนา เพราะเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะเหตุว่าเกิดกับกิริยาจิต เพราะฉะนั้น ก็ต้องจำแนกแม้เจตนาว่า เจตนาที่เป็นกรรม เป็นนานักขณิกกรรม ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่า “นานักขณิกกรรม” หมายความถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสหชาตกรรม เจตนานั้นให้ผลคือ ทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกรรม แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกรรม ก็หมายความถึงกรรมที่เราเข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือ ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น

จึงควรเข้าใจแม้แต่การศึกษาเรื่องพระอภิธรรม เรื่องกรรม และ เรือ่งๆ อื่น ว่าต้องใช้เวลาปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังเพียงครั้งเดียว หรือ สองครั้งเท่านั้น จึงต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผล ขณะที่สามารถทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชีวิต เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ส่วนมากจะเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล (อกุศลไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย) แต่บางครั้งบางเวลาก็มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะสละเวลาจากที่เป็นอกุศล มาเพื่อฟังพระธรรม (ซึ่งหาฟังได้ยาก อย่างยิ่ง) และจากการฟังในแต่ละครั้งความเข้าใจย่อมจะค่อยๆ เจริญขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐจริงๆ เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน กิเลสที่มีมาก ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะขจัดออกไปจากจิตใจได้ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมากถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และอโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย

แต่ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ ว่า สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ ก็เป็นการกล่าวโดยรวมให้เข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป เช่น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัย ทั้ง ที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีสีเป็นอารมณ์ ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต ให้ผลทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องกรรม ก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย แต่กรรมที่จะให้ผลเกิดในภายหน้าต้องเป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เท่านั้น เพราะกรรมี ๒ อย่าง ได้แก่ สหชาตกัมมะ และนานักขณิกกัมมะ ดังข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้

"กัมมปัจจัยอีกประเภทหนึ่ง คือ “นานักขณิกกัมมปัจจัย” ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบัน คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูปเกิดขึ้น ในภายหลัง เมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิต และในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา ถ้าเจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบากหรือเจตนาในจิตที่เป็นกิริยาแล้ว เป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ถ้าเป็นเจตนาในกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่าเมื่อจิตและเจตนาเจตสิกอื่นๆ นั้น ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นในภายหลัง ต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน"

ขณะที่สวดมนต์ ไม่ใช่ว่าจะเป็นกุศลเสมอไป เพราะถ้าสวดด้วยความหวัง ต้องการ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ นั้นเป็นไปด้วยโลภะ จะเป็นกุศลไม่ได้ แต่ถ้ามีความเข้าใจถูก เป็นการกล่าวหรือสวดเพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ขณะนั้นไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้กระทำทุจริตกรรมใดๆ ก็เป็นกุศลในขั้นศีล แต่สิ่งทีสำคัญ ไม่ใช่เพียงการสวดมนต์ ควรที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะการฟังพระธรรม เป็นเหตุให้ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นกุศลที่เป็นภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาจากที่ไม่มี ก็ให้มีขึ้น หรือที่มีแล้วก็ให้เจริญยิ่งขึ้น ดังนั้น ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบ เพราะพระธรรมแต่ละคำ เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงในสิ่งที่มีจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 18 ธ.ค. 2556

เหตุปัจจัย เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด กรรม คือ การกระทำ ที่เป็นในทางที่ดี และ ไม่ดี ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย fouron  วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย napachant  วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย anucha98  วันที่ 19 ธ.ค. 2556

ขอบคุณมากครับ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ