ภิกษุคือใคร
โดย khampan.a  17 มิ.ย. 2561
หัวข้อหมายเลข 29821

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภิกษุคือใคร

คำว่า ภิกษุ มาจากภาษาบาลีว่า ภิกฺขุ มีความหมายหลายอย่าง เช่น ผู้ขอ (โดยธรรม) ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ เป็นการเห็นภัยของการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์ ผู้ทำลายกิเลสมีโลภะ โทส โมหะ เป็นต้น จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงถึงทั้งความเป็นภิกษุโดยสภาวะจริงๆ คือ ผู้ที่สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นจนถึงสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวงไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม และ อีกความหมายหนึ่งแสดงถึงภิกษุโดยเพศ คือ ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ มุ่งสู่เพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพระภิกษุหรือไม่ ก็ตามการสะสมของผู้นั้นจริงๆ

ข้อความใน [เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๙๕

๑๐. ภิกขกสูตร

ว่าด้วยความเป็นภิกษุ

แสดงถึงความเป็นภิกษุที่แท้จริง ดังนี้ คือ

“บุคคล หาชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงด้วยการขอคนอื่นไม่ บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ (คือ อกุศลธรรม) หาชื่อว่าเป็นภิกษุได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปเสียแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ (ประพฤติประเสริฐ) ด้วยการพิจารณา ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็น ภิกษุ”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงถึงความหมายของภิกษุว่าเป็นผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ดังนี้ คือ

“บทว่า ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์”

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถมีความรู้อะไรเลย แม้คำว่า ภิกษุ ก็ไม่รู้ว่า คือใคร ซึ่งลึกซึ้งอย่างยิ่ง คือ เป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ภัย คือ การมีชีวิตอยู่ที่เต็มไปด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น บุคคลในสมัยพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสเพราะท่านสะสมมาที่จะเห็นโทษของอกุศล และมีปัญญารู้ว่า กุศลย่อมดีกว่าอกุศลและรู้ว่าปัญญาเท่านั้นที่จะดับอกุศลได้ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว

ผู้ที่จะอุปสมบท (บวช) เป็นภิกษุ ย่อมเป็นผู้ที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์ เพราะว่าก่อนจะบวชก็มีกิเลส คฤหัสถ์ก็มีกิเลส และคนที่จะบวชก็จะต้องเห็นโทษของกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่ละยากในเพศคฤหัสถ์ และสะสมอัธยาศัยใหญ่ที่จะสละ ทุกอย่างที่เคยติดข้องอย่างคฤหัสถ์ สละหมดไม่เหลือเลยทั้งครอบครัว วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ไม่ผูกพันไม่ติดข้องในสิ่งเหล่านั้น เพื่อเข้าใกล้ความสงบจากกิเลส นี้คือจุดประสงค์ของการบวชเป็นพระภิกษุ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น และที่สำคัญ พระภิกษุทุกรูปในสมัยพุทธกาล ทั้งหมดและทุกยุคทุกสมัยด้วย ต้องเคารพในพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของพระภิกษุอันเป็นเพศที่สูงยิ่งโดยประการทั้งปวง

ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่จะบวชนั้น ก่อนบวชต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจ รู้อัธยาศัยของตนเองว่าสามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่งได้ จึงสละชีวิตของคฤหัสถ์ทุกประการ มุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต อุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อศึกษาพระธรรม รักษาพระวินัย และประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังข้อความใน

[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๑๘๗

มหาตัณหาสังขยสูตร ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ตถาคตนั้น ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลัง ในสกุลใดสกุลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว ย่อมตระหนักว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชา (การบวช) เป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขาขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต”

พระภิกษุ คือ ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส จึงสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ที่จะต้องมีชีวิตที่เหมาะควรแก่เพศของตน จะมาทำอะไร หรือ มีอะไรต่างๆ เหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้เลย เพราะสละชีวิตคฤหัสถ์แล้ว ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดอกุศลพอกพูนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง สิ่งนั้นพระภิกษุทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การรับเงินรับทอง การมีเงินมีทอง

พระภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับเงินและทองไม่ได้ เพราะเป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่พระภิกษุโดยประการทั้งปวง เพราะเงินและทองนำมาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รสและสิ่งที่กระทบสัมผัสกายอันเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ดังข้อความใน

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ หน้า ๒๑๒ มณิจูฬกสูตร ว่า

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตร พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายอะไรเลย”

พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง ไม่มีเงินและทอง มีเพียงบริขารเครื่องใช้อันเหมาะควรแก่บรรพชิต และอาศัยปัจจัย (สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้) ๔ ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ในการที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส เท่านั้น ได้แก่ อาหารบิณฑบาตที่ได้มาจากศรัทธาของชาวบ้าน จีวรเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเมื่อเกิดอาพาธ (เจ็บป่วย) พระภิกษุรูปใด รับเงินและทอง ย่อมผิดพระวินัย ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ตาม

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค ว่า

“อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

ต้องสละเงินนั้นในท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติ (ปลงอาบัติ) ได้ และทำให้เป็นผู้พ้นจากโทษนั้นได้ แต่ถ้าภิกษุรูปใด รับเงินและทอง มีเงินและทอง ยินดีในเงินและทองแม้ที่เขาเก็บไว้ให้เพื่อตน ไม่เห็นโทษของการล่วงละเมิดพระวินัย ภิกษุนั้น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ แต่เป็นภิกษุอลัชชีผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย เป็นมหาโจรหลอกลวงชาวบ้าน เป็นผู้ประพฤติไม่ประเสริฐ เป็นผู้มีความประพฤติต่ำทราม เป็นผู้เน่าใน เป็นผู้เพียงดังหยากเยื่อ อันเป็นการแสดงถึงความเป็นภิกษุผู้ไม่รักษาพระวินัย ล่วงพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว

นี้เป็นเพียง ๑ ตัวอย่างเท่านั้นที่พระภิกษุ ทำไม่ได้ คือ พระภิกษุ รับเงินและทองไม่ได้ เพราะถ้าทำไปแล้วเป็นอาบัติ มีโทษกับผู้นั้น เพราะกิจหน้าที่ที่สำคัญที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะกระทำได้ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องแล้ว ก็เผยแพร่พระธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นตามกำลังปัญญาของตน และกระทำกิจอันเหมาะควรแก่ความเป็นพระภิกษุ เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่บวช โดยไม่ใช่เพราะขัดเกลากิเลสหรือเพราะเข้าใจธรรม ถ้าหากล่วงละเมิดพระวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีโทษมากมาย ด้วยการต้องอาบัติคือล่วงละเมิดพระวินัยซึ่งมีโทษโดยส่วนเดียว

เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืน (คือไม่ได้แก้ไข) ตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรม และกั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้ทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง กำลังทำทางที่จะทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เหมือนอย่างตัวอย่างของพระภิกษุที่ประพฤติไม่ดี ล่วงละเมิดวินัย ไม่เห็นโทษของกิเลส บริโภคปัจจัย ๔ กล่าวคือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา แต่ไม่ได้มีคุณความดีอะไรเลย เป็นภิกษุลามก คือ ต่ำทรามชั่วช้า ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย เมื่อมรณภาพ คือ ตายจากชาตินั้นไปแล้ว ก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกนานแสนนาน พอพ้นจากการเกิดเป็นสัตว์นรกแล้ว ก็เกิดเป็นเปรต มีรูปร่างเหมือนพระภิกษุ ทรงบาตร ทรงจีวร ลอยอยู่ในอากาศ แต่ถูกไฟแผดเผาได้รับความทุกข์เดือดร้อนร้องครวญคราง โดยไม่มีใครทำให้เลย แต่เป็นเพราะความประมาท ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย นั่นเอง เหตุที่ไม่ดี ทั้งหมด นำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสู่สุคติภูมิได้เลย

ตัวอย่างพระภิกษุที่ประพฤติไม่ดี แล้วไปเกิดในอบายภูมิ มีปรากฏตามข้อความใน

[เล่มที่ 2] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๕๙๙

ดังนี้ คือ

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าว (กับพระลักขณะ) ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมลงจากคิชฌกูฏบรรพต เขตพระนครราชคฤห์ นี้ ได้เห็นภิกษุเปรต ลอยไปในอากาศ สังฆาฏิ บาตร ประคดเอว และร่างกายของภิกษุเปรต นั้น ถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้น ร้องครวญคราง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเปรต นั้น เคยเป็นภิกษุผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

มีพยัญชนะมากมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนพระภิกษุที่ประพฤติไม่เหมาะไม่ควรกับความเป็นพระภิกษุ ให้ได้เห็นโทษตามความเป็นจริง เกิดความสำนึกที่จะไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีก ดังข้อความใน

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๒๖๐

ดังนี้ คือ

“ผู้ทุศีล (ไม่มีศีล ไร้ศีล) มีธรรมอันลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ”

นอกจากนั้น ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย [เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๒๒๒ "ธรรมจริยสูตร" ยังแสดงถึงความเป็นจริงของภิกษุผู้ประพฤติไม่เหมาะไม่ควร ไม่มีคุณธรรม ว่า เป็นภิกษุลามก (คือ ชั่ว ต่ำทราม) เป็นปาปภิกษุ เปรียบประดุจข้าวลีบ ด้วย ดังนี้ คือ

“เหมือนอย่างว่า ข้าวลีบทั้งหลาย แม้ปราศจากข้าวสารในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนข้าวเปลือก เพราะมีแกลบอยู่ข้างนอก ฉันใด ปาปภิกษุทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม้เว้นจากคุณสมบัติมีศีล เป็นต้น ในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนกับภิกษุ ด้วยบริขารมีผ้ากาสาวะ เป็นต้น ในภายนอก”

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ก่อนบวชก็ไม่ได้ฟังธรรม ไม่เข้าใจธรรม รู้ไหมว่าบวชเพราะอะไร

คำตอบ คือ บวชเพราะไม่รู้ เต็มไปด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) และเมื่อบวชแล้วก็ไม่ศึกษาธรรมด้วย ไม่ประพฤติตามพระวินัยด้วย นั่น ย่อมไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า เป็นมหาโจร เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนธรรมดา ปล้นชิงเอาของของบุคคลอื่นมา ใครๆ ก็เห็นพฤติกรรมนั้นว่า เป็นโจร แต่นี่เป็นผู้ที่รับสิ่งของซึ่งเขาถวายให้กับผู้สมควร คือ ผู้ที่มีชีวิตที่ศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลส แต่ภิกษุผู้รับ ไม่มีความประพฤติที่ดีงามอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับลักขโมยเอาของที่เขาให้คนอื่น คือ ผู้ที่มีคุณอย่างนั้นมาเป็นของตน ซึ่งไม่มีคุณอย่างนั้นเลย และ การบริโภคก้อนข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา ของภิกษุผู้ทุศีล นั้น การบริโภคก้อนเหล็กแดงยังดีกว่า เพราะการบริโภคก้อนเหล็กแดง ทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์เฉพาะในชาตินี้ แต่การเป็นภิกษุทุศีล รับสิ่งของที่ผู้อื่นถวายด้วยศรัทธา เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย นานแสนนาน ดังข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๒๗

๑๑. อปายสูตร

(ว่าด้วยชน ๒ พวก เกิดในอบาย)

“ภิกษุทุศีล คือ ไม่มีศีล ไม่สำรวมด้วยกายเป็นต้น ปฏิญาณว่าเราเป็นสมณะ รับก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นให้ด้วยศรัทธาบริโภค ก้อนเหล็กร้อน มีแสงไฟ อันภิกษุผู้ทุศีลบริโภคยังประเสริฐกว่า คือ ดีกว่าการที่คนทุศีลบริโภคก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นให้ด้วยศรัทธา นั้น

ถามว่า เพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะการบริโภคก้อนเหล็กเป็นเหตุ เขาก็พึงไหม้ในอัตภาพเดียวเท่านั้น ส่วนภิกษุผู้ทุศีลบริโภคของที่เขาให้ด้วยศรัทธา เขาพึงไปเกิดในนรกหลายร้อยชาติ”

เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ภิกษุคือใคร ตรงตามความเป็นจริง สำหรับในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์ เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า ภิกษุคือใคร ก็จะได้ไม่ไปส่งเสริมสนับสนุนภิกษุอลัชชีผู้ไม่มีความละอาย และเมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ไม่เห็นด้วยกับความประพฤติที่ผิดพระวินัยของพระภิกษุหรือพฤติกรรมที่ทำลายพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว แต่จะมีความจริงใจ อาจหาญ กล้าที่จะเปิดเผยความจริง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูกของผู้อื่น ด้วยความเป็นมิตร หวังดี เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ยิ่ง ต่อไป

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีว่า แต่ละคนควรอบรมเจริญปัญญาในเพศใด แม้ไม่ได้สละอาคารบ้านเรือนอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็สามารถอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีในเพศคฤหัสถ์ได้ เพราะไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ข้อที่น่าพิจารณา คือ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวช แต่เป็นคฤหัสถ์ผู้ดำรงตนอยู่ในธรรมอันดีงาม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และมีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย กล่าวได้ว่า ชีวิตในชาตินี้ย่อมไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็ย่อมจะดีกว่าบวชไปแล้วเป็นภิกษุที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่า เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมน้อมประพฤติตามพระธรรม ตามควรแก่เพศของตน สะสมความดีและปัญญาเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้าได้ นี้แหละ คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ

ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้เป็นผู้มีเหตุผล ไม่ทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ได้พิจารณาในความเป็นจริง เพราะได้อาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ด้วยการตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพ เพราะเหตุว่าทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ (จาก) คนที่เคยไม่เข้าใจอะไรเลย เป็นผู้ที่เข้าใจความจริงยิ่งขึ้น กล่าวคือ มีปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ไปตามลำดับ

เพราะฉะนั้นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต และไม่ประมาทกำลังของกิเลส พึงเป็นผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ประมาทในคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่มีโทษเลยแม้แต่น้อย ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส และนำไปสู่ความดีทั้งปวง ทำให้ธรรมฝ่ายดี เจริญมั่นคงยิ่งขึ้นอย่างแท้จริง

... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่าน ครับ ...



ความคิดเห็น 1    โดย Thanapolb  วันที่ 17 มิ.ย. 2561

ภิกษุ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ จึงไม่ควรกระทำสิ่งไม่ดี

ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคของที่เขาให้ด้วยศรัทธา เขาพึงไปเกิดในนรกหลายร้อยชาติ

อ่านแล้ว น่ากลัว และน่าสงสาร นะครับอาจารย์คำปั่น

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับ อาจารย์คำปั่น


ความคิดเห็น 2    โดย Nataya  วันที่ 17 มิ.ย. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เจียมจิต  วันที่ 17 มิ.ย. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

กราบขอบพระคุณค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 18 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย 2491surin  วันที่ 18 มิ.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ครับ.


ความคิดเห็น 7    โดย thilda  วันที่ 18 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 18 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

เรียบเรียงประมวลมา ให้ศึกษาตามได้ ด้วยความมั่นใจในหลักฐานอ้างอิง สาธุค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย orawan.c  วันที่ 19 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย Nattaya40  วันที่ 21 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย meenalovechoompoo  วันที่ 21 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย jariya.tr  วันที่ 21 ม.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย คชาชาญ  วันที่ 22 ม.ค. 2563

สาธุ สาธุ สาธุ ครับ กรณีพระรับเงินทองเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทุกวัดต้องมีไวยาวัจกรเพื่อรับเงินทองสร้างสิ่งต่างๆ ให้ด้วย เรื่องยาวมาก ขออภัยที่ให้รายละเอียดไม่ได้ครับ


ความคิดเห็น 14    โดย ธีรพันธ์  วันที่ 8 เม.ย. 2563

การบำรุงพระพุทธศาสนา ถ้าปราศจากความเข้าใจพระธรรมวินัยเเล้ว ก็จะเป็นการทำลายพระศาสนาโดยเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยให้มีกำลัง ส่วนผู้ประพฤติตามพระธรรมวินัยก็จักไม่ได้รับการส่งเสริมเเละกลับเสื่อมถอยกำลังลง


ความคิดเห็น 15    โดย chatchai.k  วันที่ 9 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย เทพลิขิต  วันที่ 10 มิ.ย. 2564

พระภิษุแท้จริงไม่ค่อยมีคือไปงานบุญโยมใส่เงินในซองน้อยก็บ่น


ความคิดเห็น 17    โดย ไพรศรี  วันที่ 7 พ.ค. 2566

อนุโมทนา สาธุครับ.


ความคิดเห็น 18    โดย nui_sudto55  วันที่ 16 ก.พ. 2567

กราบสาธุครับ ทุกคนมีกรรมเป็นของตนจริงๆ