ทานบารมี - การให้อิสระจากภัยและความกลัว ตอนที่ 3-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]
โดย wittawat  22 พ.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30880

มีทานอีกประเภทหนึ่ง คือ "อภัยทาน" การให้อิสระจากภัยและความกลัว เราได้อ่านใน [เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ 492 เรื่อง "ปุญญาภิสันทสูตร" เกี่ยวกับการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และมหาทานทั้ง 5 เราได้อ่านเรื่องของมหาทาน 5 ดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน ... ทาน ๕ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน (ให้อิสระจากความกลัว ความเป็นศัตรู การกดขี่ทำร้าย) แก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน ประมาณมิได้ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทาน) "

กล่าวเช่นเดียวกันในเรื่องของการงดเว้นจากอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และ การดื่มน้ำเมา ดังนั้นก็สามารถที่จะพิจารณา "ศีล" โดยนัยของ "ทาน" ได้

"การงดเว้นจากการทำร้ายผู้อื่น" ตลอดจน "การให้การปกป้องผู้อื่นจากภัยอันตราย (จากตน และภัยอื่นๆ เช่นจากสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น) " นี้รวมอยู่ใน "อภัยทาน" (การให้ความไม่มีภัย หรือการให้อิสระแก่ผู้รับจากความกลัว จากภัย)

ยิ่งไปกว่านั้น "การอดโทษให้" ก็เป็นอีกนัยหนึ่งของ อภัยทานด้วย เมื่อเรายกโทษให้ใคร ก็จะไม่ส่งต่อความรู้สึกแย่ หรือไม่แก้แค้น

ถ้าไม่ทราบว่า การอดโทษนั้น เป็นบารมี ผู้นั้นก็จะไม่อดโทษให้กับคนที่ทำสิ่งไม่ดีให้เขา ถ้าเราไม่ยกโทษให้คนอื่นเลย จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม และดับกิเลสได้อย่างไร ถ้าเราพิจารณาความจริงนี้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดการให้อภัยได้ นี้เป็นทางของทานที่ละเอียดยิ่งกว่าอามิสทาน หรือการให้วัตถุสิ่งของ ถ้าเราไม่สามารถอดโทษคนที่เราไม่ชอบได้ นั่นก็หมายความว่าเราก็ไม่สามารถอบรมเจริญกุศลประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนี้ด้วย

ถ้าไม่มีการให้อภัยเขา และยังผูกโกรธเขา ก็ไม่สามารถเกื้อกูลเขาได้ ไม่แม้แต่จะให้วัตถุอะไรกับเขา หรือให้ธรรมกับเขา สนทนาธรรมกับเขาก็ไม่ได้ หรือให้คำปรึกษาแก่เขาถึงอะไรที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ในชีวิต

อภัยทานเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ศีลบารมีเจริญขึ้น ปรุงแต่งให้งดเว้นจากการกระทำทางกายและวาจาที่ผิด

ถ้าเราไม่อดโทษให้ใครเลย ความประพฤติของเราก็จะไม่เป็นความประพฤติของเพื่อน เพราะฉะนั้นกุศลก็จะไม่สามารถเจริญขึ้นได้ แล้วจะสามารถข้ามฝั่งอันแสนไกล หมายถึง การดับกิเลส ได้อย่างไร

นี่แสดงให้ทราบว่าการพิจารณากุศลธรรมในชีวิตประจำวันของเราควรที่จะมีความละเอียดยิ่งขึ้น
ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะสามารถรู้ชัดในอริยสัจธรรมทั้ง 4ได้ ควรที่จะรู้จิตของตนเองตามปรกติ ควรที่จะทราบว่าขณะไหนจิตเป็นโรคและขณะไหนที่กุศลธรรมไม่มีกำลัง ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นจะสามารถเดินทานในเส้นทางอันแสนไกลคือ มรรคมีองค์ 8 ได้อย่างไร ควรพิจารณาจิตของตนเอง เพื่อที่ว่าผู้นั้นจะได้มีจิตที่แข็งแกร่งด้วยหนทางคือบารมี

ควรที่จะรู้ว่าหนทาง คือ สติปัฏฐาน การอบรมเจริญความเข้าใจของลักษณะสิ่งที่มีจริง แต่สติเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าบารมีไม่มีกำลังพอ

เราทั้งหมดควรที่จะอบรมเจริญบารมีทั้ง 10 ด้วยปัญญา เมื่ออบรมการให้ทานในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะรู้ความจริง คือความต่างกันระหว่างการให้ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และการให้ที่ประกอบด้วยปัญญา เช่นกรณีของพระโพธิสัตว์ที่ให้ด้วยปัญญา ด้วยหนทางนี้ จะสามารถพิจารณาและเข้าใจสัจจบารมี คือความจริงใจในกุศลธรรม "เพื่อว่าเราจะสามารถเดินตามรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ผู้อบรมเจริญบารมีในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านไม่ได้อบรมเพียงชาติเดียวเพียงศีลบารมี และชาติอื่นเพียงเนกขัมมบารมี แต่ท่านอบรมบารมีทั้ง 10 ไม่เว้น ในแต่ละชาติ"

ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Generosity - Giving of freedom from danger and fear



ความคิดเห็น 1    โดย kullawat  วันที่ 24 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ