เห็นทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ - เบื่อ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
โดย พุทธรักษา  24 ก.พ. 2552
หัวข้อหมายเลข 11342

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง แต่ก่อน อย่างหนังในกรุงเทพโรงใหญ่ อยากจะดูแต่เดี๋ยวนี้มันรู้สึกเฉื่อยชา มันเบื่อ เบื่อกว่าเก่ามากทีเดียวเช่น หนัง หรืออะไรๆ ฯลฯ เบื่อจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์ เบื่อ แล้วรู้อะไรคะ เบื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรมหน่าย เพราะรู้จักนามธรรม และ รูปธรรม สภาพของจิตนี้ ใกล้เคียงกันมาก คนที่ไม่ได้ศึกษา โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ จะสับสน ปะปนกันบางคนเข้าใจว่า เป็นทุกข์มากๆ น่ะดี จะได้ใกล้อริยสัจจ์ แต่ความจริง ไม่ใช่

เห็นทุกข์ โดยไม่ต้อง "เป็นทุกข์" เลย ถ้าเป็น "ปัญญา" ที่เห็นสภาพธรรม ว่า ไม่ใช่ตัวตน ที่ว่า "ทุกข์" นั้นคือ เห็นสภาพธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทุกข์ เพราะต้องเกิด ตามเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไป หมดไป เปลี่ยนแปลงไปการรู้ความจริงอย่างนี้ ไม่เป็นทุกข์

ถ้าใครอยากจะเป็นทุกข์มากๆ เพราะเข้าใจว่า จะได้ใกล้อริยสัจจ์ อย่างนั้นผิดค่ะ.!เพราะว่า ขณะนั้น เป็นโทสมูลจิตเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ สติไม่เกิดจริงๆ จะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศลแม้แต่ ความเบื่อ
บางคนก็เบื่อเก่ง พอชินๆ เข้า ก็เบื่อ ชอบอะไรมาก พอได้รับอะไรมากๆ เข้า ชินเข้าๆ ก็เบื่อ เบื่ออย่างนั้นหรือ เป็นปัญญา ไม่ใช่เลย เป็นอกุศล

ท่านผู้ฟัง บางครั้ง กินแกงไก่บ่อยๆ แล้วเบื่อ อาจารย์ว่า เป็นกุศล หรือ อกุศล
ท่านอาจารย์ "ความเบื่อ" ก็ต้องเป็น อกุศล "ความรู้ลักษณะที่เบื่อ" ก็ต้องเป็น กุศล อย่าเอาความรู้ กับ ความเบื่อ มาปนกัน เพราะฉะนั้นขณะใด ที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมขณะนั้น ไม่ใช่กุศลขณะที่เบื่อ ก็เป็นโทสมูลจิต

เพราะฉะนั้น บางท่าน ก็อยากจะรีบเบื่อ โดยที่ยังไม่รู้อะไรเลย ขณะที่หลงลืมสติ เป็นอย่างไร ก็ยังไม่รู้.!ต่างกับขณะที่มีสติอย่างไร ก็ยังไม่ทราบ.!เพราะว่า "สติ" ยังไม่เคยเกิด ถ้าสติ ไม่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จะไม่รู้ ว่า ขณะที่หลงลืมสติ ต่างกับ ขณะที่มีสติอย่างไร เพราะว่า เต็มไปด้วย "ความหลงลืมสติ" อยู่เสมอ

ต่อเมื่อใด ที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจึงจะเกิดความรู้ ว่า ขณะที่มีสติ เป็นอย่างไร ซึ่งแตกต่าง กับขณะที่หลงลืมสติ มากทีเดียว "การรู้" เป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน "ความเบื่อ" ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวตน

ถ้าสติไม่เกิด ความเบื่อเกิดขึ้นแล้วเป็น "ตัวเรา" ที่เบื่อแต่ ถ้าสติเกิด จะรู้ว่า ลักษณะของความเบื่อ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะอย่างนั้นๆ อย่างนี้ จึงจะเป็น "ปัญญา" เป็นความรู้ ที่เริ่มเห็นความไม่ใช่ตัวตนในสภาพธรรมนั้น

ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอย่างไร ในวันหนึ่งๆ เช่น ความเบื่อ ความดีใจ ความเสียใจ ฯลฯสภาพธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น ในวันหนึ่งๆ จะปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อสติเกิดขึ้นแล้วระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่ปรากฏแต่ละลักษณะๆ ตามความเป็นจริง

ถ้าไม่เข้าใจว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญา ก็รีบไปเบื่อ วันนี้เบื่อไปหมด คล้ายๆ กับจะเป็นพระอรหันต์เสียภายในวันสองวันนี้เพราะว่าเบื่อแล้ว แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะ ของนามธรรม และรูปธรรมเลย

แล้วเบื่อทำไม เบื่อในอะไร เบื่อยังไง เบื่อไม่จริง เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เบื่อ ไม่ใช่กุศลแต่ การรู้ในลักษณะที่เบื่อ คือ รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลขณะนั้น จึงจะเป็นกุศล ที่รู้ความจริง ว่าลักษณะที่เบื่อ เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ "ปัญญา"ไม่ใช่ปัญญาที่หน่าย คลายความติด คลายความเห็นผิดและคลายความไม่รู้ ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ลักษณะของ "ปัญญา" เป็นสภาพธรรมที่ "ละ" ไม่ใช่ "ติด" หมายถึง การละ การคลาย การหน่าย ไม่ใช่อกุศลจิตที่ "เบื่อ"

แนวทางเจริญวิปัสสนาโดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดยคุณย่าสงวน สุจริตกุล

ขออนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย hadezz  วันที่ 24 ก.พ. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย opanayigo  วันที่ 24 ก.พ. 2552

เบื่อก็เป็นธัมมะ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย suwit02  วันที่ 24 ก.พ. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ