ความจริงแห่งชีวิต [009] ปริจเฉทรูป คือ อากาสรูป
โดย พุทธรักษา  9 มิ.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 12613

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ เป็น ๑๒ รูป นอกจากนั้นยังมี

ปริจเฉทรูป คือ อากาสรูป ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุกๆ กลาป ทำให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม ให้ทราบว่ามีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด ทำให้รูปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป รูปทั้งหลายก็ติดกันหมด แตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย แต่แม้รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โตก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้น ก็เพราะมีอากาสธาตุ คือปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกๆ กลาปนั่นเอง ฉะนั้น ปริจเฉทรูปจึงเป็นอสภาวรูปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งไม่มีลักษณะเฉพาะของตนที่เกิดขึ้นต่างหาก แต่เกิดคั่นอยู่ระหว่างกลาปต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั่นเอง

คำถามที่ ๑ แม้จะเป็นอสภาวรูปเหมือนกับลักขณรูป ๔ แต่ว่าต่างจากลักขณรูป ๔ ตรงที่ปริจเฉทรูปไม่มีลักษณะและสภาวะ แต่ลักขณรูป ๔ มีลักษณะ แม้ไม่มีสภาวะ

ยังไม่เข้าใจคำว่าสภาวะ ในที่นี้ หมายความว่าอย่างไรคะ

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ เป็น ๑๓ รูป

ไม่ว่ารูปจะเกิดที่ใด ภพภูมิใดก็ตาม จะเป็นรูปที่มีใจครอง (อุปาทินนกรูป) หรือรูปไม่มีใจครอง (อนุปาทินนกรูป) ก็ตาม จะปราศจากรูป ๑๓ รูปนี้ไม่ได้เลย

ส่วนรูปที่มีใจครอง ซึ่งเป็นรูปของสัตว์ บุคคลต่างๆ ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น มีปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน (ปัจจัย) ดังนี้ คือ

จักขุปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ๑ รูป
โสตปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับเสียงได้ ๑ รูป
ฆานปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับกลิ่นได้ ๑ รูป
ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับรสได้ ๑ รูป
กายปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับเย็น ร้อน (ธาตุไฟ) ๑ อ่อน แข็ง (ธาตุดิน) ๑ ตึง ไหว (ธาตุลม) ๑

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ เป็น ๑๘ รูป

รูปที่มีใจครอง คือ มีจิตเกิดกับรูปนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกขณะจะต้องเกิดที่รูปตามประเภทของจิตนั้นๆ คือ จักขุวิญญาณทำ​กิจเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณทำ​กิจได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณทำ​กิจดมกลิ่นเกิดที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณทำ​กิจลิ้มรสเกิดที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณทำ​กิจรู้โผฏฐัพพะ (ธาตุดิน ไฟ ลม) เกิดที่กายปสาทรูป

จิตอื่นๆ (ในภูมิที่มีขันธ์ ๕) นอกจากนี้เกิดที่รูปๆ หนึ่ง เรียกว่า หทยรูป เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ฉะนั้น วัตถุรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจึงมี ๖ รูป

รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ เป็น ๑๙ รูป

คำถามที่ ๒ เข้าใจว่าหทยรูปเป็นที่เกิดของจิตอื่นๆ ทั้งหมด ที่ไม่ใช่ปัญจวิญญาณ ถูกต้องหรือเปล่าคะ


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบาย ค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 9 มิ.ย. 2552

๑. อสภาวรูป คือ รูปที่ไม่มีสภาวะเป็นของตน ต้องอาศัยรูปอื่นเกิด แต่รูปแต่ละรูปก็มีลักษณะเหมือนกัน คำว่า "สภาวะ" ในที่นี้หมายถึง มีลักษณะเป็นของตน ไม่ต้องอาศัยรูปอื่น เช่น เตโช มีลักษณะ ร้อน ปฐวี มีลักษณะ แข็ง แต่อสภาวรูป เป็นอาการของสภาวรูป เช่น ลหุตารูป ความเบา ก็เป็นความเบาของสภาวรูป

๒. ถูกต้อง ครับ เว้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ไม่เกิดที่หทยรูป


ความคิดเห็น 2    โดย Sam  วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ปริศนา  วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขออนุญาตเรียนถามเพื่มเติมสักนิดนะครับว่า

ปริจเฉทรูป หรืออากาสรูป เป็นอสภาวะ และไม่มีลักษณะ ดังนั้น รูปประเภทนี้ จะไม่มีเกิด เจริญขึ้น เสื่อม ดับ อันเป็นลักขณรูป แต่ยังจะมีการเกิดและดับ อย่างไร โดยเงื่อนไขใด ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย prachern.s  วันที่ 9 มิ.ย. 2552

เรียน ความเห็นที่ 4

ปริจเฉทรูป มีการคั่นซึ่งรูปเป็นลักษณะ มีการประกาศที่สุดของรูปเป็นกิจ มีขอบเขตของรูปเป็นอาการปรากฏ มีรูปอันอากาศคั่นไว้เป็นปทัฏฐาน ปริจเฉทรูป มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเช่นเดียวกับรูปอื่นที่ตนคั่นอยู่ ดังนั้น ที่ว่าปริจเฉทรูป ไม่เกิด ไม่ดับ จึงไม่ถูกต้องครับ


ความคิดเห็น 6    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 9 มิ.ย. 2552

ขอบพระคุณอาจารย์และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย hadezz  วันที่ 23 มิ.ย. 2552

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ