ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๗
โดย khampan.a  26 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 37457

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๗ * *



~ แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส นำไปสู่ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
~ ความเป็นชาวพุทธ คือ เข้าใจพระธรรม
~ หนทางของการอบรมเจริญปัญญา ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในแต่ละหนึ่งว่าไม่ใช่เราและไม่สามารถจะไปทำให้อะไรเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น แต่เกิดต่อเมื่อมีปัจจัยที่สมควร
~ ควรที่จะเห็นความเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของการที่จะได้เข้าใจพระธรรม แต่ขอให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม เพราะว่าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องไตร่ตรอง ศึกษา ครบถ้วน ในความถูกต้อง มิฉะนั้น ก็คลาดเคลื่อน ถ้าเข้าใจผิดไป ก็เป็นภัยอย่างยิ่ง
~ ฟังพระธรรม เพราะรู้ว่า ความไม่รู้มีมาก ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ความไม่รู้ ก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น แล้วจะอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์อีกนานสักเท่าไหร่?
~ ไม่ประมาทที่เห็นประโยชน์ที่จะฟังธรรม เมื่อฟังแล้วก็ยังไม่ประมาทที่จะเข้าใจ ไตร่ตรองให้ถูกต้องตามเหตุตามผล
~ การอบรมเจริญปัญญาจะต้องเป็นผู้ที่ระแวดระวัง ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งใด ผิด ก็ละไม่ได้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะละ ถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องก็ละไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะศึกษาธรรมมาก มีบริวารมาก มียศมาก สอนมากด้วย แต่ปฏิบัติผิด เพราะเข้าใจผิด
~ มีทางที่จะพิจารณาเพื่อที่จะให้เกิดขันติความอดทนและเป็นกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำความเสียหายความเดือดร้อนให้ การกระทำของเขานั้นๆ ก็ดับไปในที่นั้นๆ ทำไมเราถึงจะยังโกรธต่อ ในเมื่อการกระทำนั้นหมดแล้ว จบแล้ว ดับแล้ว ขณะนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว แต่ยังอุตส่าห์ไปคิดถึงเรื่องเก่าที่เขาทำเพื่อที่ตนเองจะโกรธต่อไปอีก
~ ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม และก็เข้าใจพระธรรมมากกว่าอีกหลายคนทีเดียวที่ไม่ได้ฟังและไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ท่านจะโกรธคนที่ไม่รู้ ในเมื่อตัวท่านเป็นผู้ที่รู้แล้วหรือว่าเข้าใจพระธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่สมควรไหม?
~ ใครก็ตามที่มีความไม่รู้และไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมดาเหลือเกินที่บุคคลนั้นจะต้องทำสิ่งที่ผิดๆ หรือว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร หรือทำสิ่งที่เสียหายแม้กับตัวท่าน แต่ถ้าท่านพิจารณาว่าเพราะบุคคลนั้นไม่รู้จึงทำ แต่เมื่อท่านเองศึกษาแล้วพิจารณาธรรมเข้าใจแล้วรู้แล้ว ยังจะโกรธคนที่ไม่รู้เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลย ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ขณะนั้น ท่านก็จะมีขันติบารมีที่ว่าไม่ผูกโกรธ แล้วก็อภัยให้บุคคลนั้นด้วย
~ ปัญญา จะนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์มาให้เท่านั้น ปัญญาเห็นโทษของอกุศลทั้งหมดแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ปัญญาเห็นว่าขณะใดที่เป็นกุศลเท่านั้นที่ขณะนั้นจึงไม่เป็นอกุศล
~ ไม่มีสิ่งใดที่มีค่าเท่ากับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสามารถที่จะทำให้ความไม่รู้ค่อยๆ หมดไปจนกระทั่งเป็นความรู้ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ปัญญาที่รู้ถูก ก็นำไปในกิจทั้งปวง
~ เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง ก็มีความเมตตาเพิ่มขึ้น ก็มีทานมากขึ้น มีศีลมากขึ้น มีทุกอย่างมากขึ้นด้วยที่เป็นขณะที่จะช่วยให้รู้ว่าขณะนั้นเห็นโทษของอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญญาแล้วปัญญาก็ทำให้บารมีอื่นๆ เกิดขึ้นด้วย ตามเหตุตามปัจจัย
~ สิ่งใดเป็นประโยชน์ ควรทำ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ ควรทำไหม?
~ เมื่อถึงคราวที่จุติจิตจะเกิดขึ้นเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ (ตาย) ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีเงินทองมากมายมหาศาล หรือจะมีแพทย์สักกี่คน ก็ไม่สามารถทำให้ไม่ตายได้ และเมื่อสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้แล้ว จะไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย
~ ไม่เว้นโอกาสที่จะเป็นกุศล เพราะปัญญาเห็นคุณของกุศล ถ้าขณะใดกุศลไม่เกิด ก็เป็นอกุศล ประมาทแล้ว เพราะฉะนั้น คนที่มีปัญญา ขณะนั้นปัญญาต่างหากที่ทำให้เจริญกุศลทุกประการ
~ เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาที่ค่อยๆ มี ก็จะสะสมให้เป็นคนดีขึ้น แล้วก็ช่วยคนอื่นให้ค่อยๆ ดีได้ด้วย เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง พากันดีขึ้น
~ เราหลงติดข้องในสิ่งที่ไม่มี เพราะจากไม่มี แล้วมีแล้วก็หามีไม่ หายไปเลย ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น เราติดข้องในสิ่งที่ไม่มี เพียงเกิดขึ้นมีปรากฏให้ติดข้องนิดเดียวเล็กน้อยมากแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย โง่หรือฉลาดที่ติดข้องในสิ่งที่ไม่มี?
~ ถ้าเราทำความดีขณะใด ขณะนั้นใจไม่เดือดร้อน เป็นสุขตั้งแต่ขณะที่ทำ เพราะฉะนั้น ผลที่ตามมา ก็เป็นคนที่ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้หวังอะไรจากการกระทำสิ่งนั้น แต่ทำเพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำ เป็นประโยชน์
~ ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงภัยคือความน่ากลัวของอกุศล เกิดแล้วก็ไม่ได้ทำให้สบายเลย น่ากลัวคือทำร้ายจิตให้ขุ่นมัวให้เศร้าหมอง และถ้าเป็นการกระทำที่สำเร็จเป็นกรรมที่เป็นอกุศล ผลก็ยิ่งมากกว่านั้น
~ แค่คำว่าธรรม (สิ่งที่มีจริง) และคำว่าอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) เท่านี้เป็นคำที่จะนำไปสู่ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ทุกขณะไม่ขาดเลยธรรม มีจริงๆ ความจริงของธรรม เปลี่ยนไม่ได้ด้วย
~ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มีโอกาสที่จะทำความดีทุกอย่างทุกประการที่สามารถจะกระทำได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรทำ เพราะเหตุว่า ถ้าขณะนั้นไม่ใช่จิตที่ดี ก็เป็นอกุศลจิต, แม้เพียงเป็นกุศลจิต นิดเดียว ต่อไปจะเห็นค่าของหนึ่งขณะที่เป็นกุศล หรือแม้แต่การฟังธรรมแล้วเข้าใจแต่ละคำ แม้คำเดียว ก็มีค่า ที่จะทำให้เข้าใจคำอื่นต่อไปๆ
~ ถ้าสามารถที่จะรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด ความรู้นั้นก็จะละเว้นสิ่งที่ทำให้ใจเดือดร้อน
~ ความรู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจที่เห็นคนอื่นไม่ดี ควรมีไหม? หรือว่า เขาไม่ดี เห็นใจน่าสงสาร ผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นที่เขาจะต้องได้รับ มีทางไหนที่เราจะช่วย เขาเป็นใครไม่สนใจเลยทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ได้ผ่านไปแล้ว แต่ถ้าเราสามารถที่จะช่วยเขาได้ ถ้าเขารับฟัง หรือว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเราสมควรที่จะทำ แต่ถ้าทำไม่ได้ เพราะเขาไม่ฟัง ก็ไม่จำเป็นอะไรเลยที่เราจะไปเสียเวลา เพราะเหตุว่าไร้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของเรา ไม่แก้คนอื่น พอเราเห็นว่าคนอื่นมาทำไม่ดี ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร เมตตาหรือเปล่า รู้หนทางที่จะช่วยได้ จะช่วยไหม? ถ้าไม่มี ก็แล้วไป แต่ว่าใจเราไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่ใช่ฝ่ายที่จะเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างที่เขาเป็นอย่างนั้น
~ พระพุทธศาสนา ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง ไม่ได้จำกัดว่าใครจะเปิดเผยเลย ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่ควรฟัง เป็นคำที่ควรจะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ว่าใครจะพูด



* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๖



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย natthayapinthong339  วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย petsin.90  วันที่ 26 ก.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย มังกรทอง  วันที่ 26 ก.ย. 2564

แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส นำไปสู่ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ


ความคิดเห็น 4    โดย jaturong  วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย kukeart  วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Lai  วันที่ 26 ก.ย. 2564

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย เมตตา  วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ และยินดีในกุศลจิตค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Vanna  วันที่ 27 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาสาธุค่ะท่านอาจารย์สุจิตต์

อ่านแล้วเกิดความสงบในใจค่ะ

สาธุสาธุค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย Sottipa  วันที่ 27 ก.ย. 2564

สาธุ สาธุ สาธุ


ความคิดเห็น 11    โดย มังกรทอง  วันที่ 28 ก.ย. 2564

ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม และก็เข้าใจพระธรรมมากกว่าอีกหลายคนทีเดียวที่ไม่ได้ฟังและไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ท่านจะโกรธคนที่ไม่รู้ ในเมื่อตัวท่านเป็นผู้ที่รู้แล้วหรือว่าเข้าใจพระธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่สมควรไหม?น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ


ความคิดเห็น 12    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 28 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ