ทสุตตรสูตร [หมวด ๗] ... วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕
โดย มศพ.  1 เม.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 20895

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

๑๑. ทสุตตรสูตร (ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)

...จาก...

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐๙


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และ คณะวิทยากร

๑๑. ทสุตตรสูตร (ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)

[นำมาเพียงบางส่วน]

[๓๖๔] ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ .-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อ คัคครา ใกล้เมืองจำปา.

ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมา ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า

[๓๖๕] เราจักกล่าวทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อ

ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อ

บรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์.

... ว่าด้วยธรรมหมวด ๗

[ ๔๓๒ ] ธรรม ๗ อย่าง มีอุปการะมาก ธรรม ๗ อย่าง ควรเจริญธรรม ๗ อย่างควรกำหนดรู้ ธรรม ๗ อย่างควรละ ธรรม ๗ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ธรรม ๗ อย่างเป็นไปในส่วนพิเศษ ธรรม ๗ อย่างแทงตลอดได้ยาก ธรรม ๗ อย่างควรให้เกิดขึ้น ธรรม ๗ อย่างควรรู้ยิ่ง ธรรม ๗ อย่างควรทำให้แจ้ง.

[๔๓๓] ธรรม ๗ อย่าง มีอุปการะมากเป็นไฉน? คือ อริยทรัพย์ ๗ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ มีอุปการะมาก.

[๔๓๔] ธรรม ๗ อย่าง ควรเจริญเป็นไฉน?ได้แก่ สัมโพชฌงค์ ๗ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ ควรเจริญ.

[๔๓๕] ธรรม ๗ อย่าง ควรกำหนดรู้เป็นไฉน? ได้แก่ วิญญาณฐิติ ๗ คือ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เหมือนมนุษย์ เทพบางพวก วินิปาติกะบางพวก นี้ก็เป็นวิญญาณฐิติข้อที่หนึ่ง. สัตว์ทั้งหลายมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทพผู้นับเนื่องในพรหม ผู้เกิดในปฐมฌาน นี้ก็เป็นวิญญาณฐิติ ข้อที่สอง. สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เหมือนพวกเทพอาภัสสรา นี้ ก็เป็นวิญญาณฐิติ ข้อที่สาม. สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนพวกเทพสุภกิณหา นี้ก็เป็นวิญญาณฐิติข้อที่สี่. สัตว์ทั้งหลาย ล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญาได้ ไม่กระทำไว้ในใจซึ่งสัญญาต่างกัน โดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากาสานัญจายตนะว่า อากาศไม่มีที่สุด นี้ ก็เป็นวิญญาณฐิติ ข้อที่ห้า. สัตว์ทั้งหลาย ล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด นี้ ก็เป็นวิญญาณฐิติข้อที่หก. สัตว์ทั้งหลาย ล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะว่า ไม่มีอะไร นี้ก็เป็นวิญญาณฐิติ ข้อที่เจ็ด. ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ ควรกำหนดรู้.

[๔๓๖] ธรรม ๗ อย่าง ควรละเป็นไฉน? ได้แก่ อนุสัย ๗ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา. ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ ควรละ.

[๔๓๗] ธรรม ๗ อย่าง เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน? ได้แก่ อสัทธรรม ๗ คือ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่มีศรัทธาไม่ละอาย ไม่เกรงกลัว สดับน้อย เกียจคร้าน ลืมสติ ปัญญาทึบ. ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม.

[๔๓๘] ธรรม ๗ อย่าง เป็นไปในส่วนวิเศษเป็นไฉน? ได้แก่สัทธรรม ๗ คือ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีศรัทธา มีความละอาย มีความเกรงกลัว เป็นผู้สดับมาก ปรารภความเพียร มีสติตั้งมั่น มีปัญญา ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ เป็นไปในส่วนวิเศษ.

[๔๓๙] ธรรม ๗ อย่าง แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน. ได้แก่ สัปปุริสธรรม ๗ คือ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักเหตุ เป็นผู้รู้จักผล เป็นผู้รู้จักตน เป็นผู้รู้จักประมาณ เป็นผู้รู้จักกาลเวลา เป็นผู้รู้จักประชุมชน เป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล. ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ แทงตลอดได้ยาก.

[๔๔๐] ธรรม ๗ อย่าง ควรให้เกิดขึ้นเป็นไฉน. ได้แก่ สัญญา ๗ คือ อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญาวิราคสัญญา นิโรธสัญญา. ธรรม ๗ อย่างเหล่านี้ ควรให้เกิดขึ้น.

จบธรรมหมวด ๗ ที่นำมาเพียงบางส่วนเพียงเท่านี้.

อรรถกถา ธรรมหมวด ๗ นำมาเพียงบางส่วน

บรรดาบทเหล่านั้น ทรัพย์ คือ ศรัทธา ชื่อว่า ทรัพย์ คือศรัทธา ด้วยอรรถว่า ได้เฉพาะซึ่งสมบัติ. ในบททั้งปวง ก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็บรรดาอริยทรัพย์เหล่านี้ ทรัพย์คือปัญญา ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวง. เพราะว่า สัตว์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ในปัญญาแล้ว บำเพ็ญ สุจริต ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ให้บริบูรณ์ ย่อมเข้าถึงสวรรค์ คือ ย่อมแทงตลอด ซึ่งสาวกบารมีญาณปัจเจกโพธิญาณ และพระสัพพัญญุตญาณได้. ปัญญา ท่านเรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา เพราะเป็นเหตุแห่งการได้เฉพาะซึ่งสมบัติเหล่านี้. ก็อริยทรัพย์แม้ทั้ง ๗ ประการเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า เจือด้วยโลกิยะ และโลกุตตระทีเดียว. โพชฌงค์กถา ท่านกล่าวไว้แล้วเทียว. บริวารแห่งสมาธิ ชื่อว่าสมาธิปริกฺขารา. สัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีอรรถอันท่านกล่าวไว้แล้วนั่นเทียว ด้วยบทว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นต้นเหล่านี้ บริขาร ๗ ท่านกล่าวว่า เป็นทั้งโลกิยะ ทั้ง โลกุตตระเทียว. ธรรมของอสัตบุรุษทั้งหลาย ชื่อว่า อสัทธรรม อีกอย่างหนึ่ง ธรรมอันไม่สงบ คือ ธรรมอันลามก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อสัทธรรม. บัณฑิตพึงทราบสัทธรรม โดยปริยายตรงกันข้าม. บรรดาบทเหล่านี้ คำที่เหลือ มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น. ก็บรรดาสัทธรรมทั้งหลาย สัทธรรมแม้ทั้งปวง มีศรัทธาเป็นตัน ท่านกล่าวไว้เฉพาะวิปัสสนา.ปัญญา แม้ในสัทธรรมเหล่านั้น เป็นทั้งโลกิยะ ทั้งโลกุตตระ.

สองบทว่า สปฺปุริสานํ ธมฺมา ได้แก่ ธรรมของสัตบุรุษ. ชนใดรู้ธรรม ในบรรดาสัปปุริสธรรมเหล่านั้น มีสุตตะและเคยยะเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่า ธัมมัญญู (รู้จักเหตุ) . ชนใด รู้อรรถแห่งภาษิตนั้นๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่า อัตถัญญู (รู้จักผล) . ชนใด รู้จักตน อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีประมาณเท่านี้ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่า อัตตัญญู (รู้จักตน) . ชนใดรู้จักประมาณในการรับและการบริโภค เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่ามัตตัญญู (รู้จักประมาณ) . ชนใด รู้จักกาลอย่างนี้ว่า นี้กาลแสดง นี้กาลไต่ถาม นี้กาลบรรลุโยคธรรม[ความเพียร] เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่า กาลัญญู (รู้จักกาล) . ชนใด รู้จักบริษัท ๘ [กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ จตุมมหาราชบริษัท ดาวดึงส์บริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท] อย่าง เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่า ปริสัญญู (รู้จักบริษัท) . ชนใดรู้จักบุคคลที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ เพราะเหตุนั้น ชนนั้น ชื่อว่า ปุคคลัญญู (รู้จักบุคคล) .

จบอรรถกถา ธรรมหมวด ๗ ที่นำมาเพียงบางส่วน.



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 1 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อนมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นข้อความโดยสรุป ทสุตตรสูตร (ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้เมืองจัมปา พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายโดยได้แสดงทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์

คำว่า ทสุตตระ มาจากคำว่า ทสะ (๑๐) + อุตตระ (เป็นอย่างยิ่ง) แปลว่า มี ๑๐ เป็นอย่างยิ่ง หรือ ไม่เกิน ๑๐ หมายความว่า ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตร จำแนกธรรมเป็น ๑๐ หมวด คือ ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง หมวดที่ ๑๐ และ ในแต่ละหมวดๆ นั้น ก็แบ่งออกเป็น ๑๐ ข้อยืนพื้น (คือ มีอุปการะมาก, ควรเจริญ, ควรกำหนดรู้, ควรละ, เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม, เป็นไปในส่วนวิเศษ, แทงตลอดได้ยาก, ควรให้เกิดขึ้น, ควรรู้ยิ่ง, ควรทำให้แจ้ง) กล่าวคือ ธรรมหมวด ๑ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ ธรรมหมวด ๒ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ จนกระทั่งถึงธรรมหมวด ๑๐ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ

สำหรับที่จะสนทนาในวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕ นี้ ได้นำมาเฉพาะธรรมหมวด ๗ (บางส่วน) ว่า ธรรมหมวด ๗ ที่มีอุปการะมาก, ธรรมหมวด ๗ ควรเจริญ, ธรรมหมวด ๗ ควรกำหนดรู้, ธรรมหมวด ๗ ควรละ, ธรรมหมวด ๗ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม, ธรรมหมวด ๗ เป็นไปในส่วนวิเศษ, ธรรมหมวด ๗ แทงตลอดได้ยาก, ธรรมหมวด ๗ ควรให้เกิดขึ้น นั้น มีอะไรบ้าง (ดังที่ปรากฏในพระสูตร)

เมื่อท่านพระสารีบุตรได้แสดงทสุตตรสูตรจบ ภิกษุทั้งหลายก็ชื่นชมภาษิตของท่านพระสารีบุตร และในตอนท้ายของอรรถกถา ได้แสดงไว้ว่า พระภิกษุแม้ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นนึกถึงอยู่ซึ่งพระสูตรนี้นั่นเอง ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตต์ พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ อริยทรัพย์?

สัปปุริสธรรม

ธัมมัญญูสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔ อนิจจสัญญา ทุกเขอนัตตสัญญา ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย tanakase  วันที่ 2 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย paew_int  วันที่ 2 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Noparat  วันที่ 2 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย orawan.c  วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย เซจาน้อย  วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ