ผู้มีการเว้นในศีล 5 ต้องอาราธนาไหม
โดย เจริญในธรรม  23 ธ.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 30337

1. ผู้ที่พฤติกรรมและ นิสัย ไม่มีละเมิดศีล ๕ แต่ละข้อเลย ถือว่าถือ รักษาศีล ๕ ไหม แม้เขาจะไม่ได้อาราธนามาหรือตั้งใจงดเว้นมา

2. การถืองดเว้นศีล ๕ มีกี่แบบ กี่วิธี เช่น ต้องอาราธนามาอย่างเดียวไหม



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 24 ธ.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่า ศีล ๕ เป็นการงดเว้นที่จะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงไว้ว่า ศีล ๕ ได้แก่

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)

๒. อทินนาทานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

๔. มุสาวาทา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ)

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

ศีล ๕ เป็นเรื่องปกติจริงๆ ไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นกุศลหรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากิเลสหนาแน่นมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบและจะได้ตรวจสอบตนเองว่า มีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ

มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์

มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้

มีการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามี ของผู้อื่น

มีการพูดเท็จ มีการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่

ซึ่งเป็นการตรวจสอบในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม

ศีล ๕ นั้นเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ดังนี้ คือ

ศีลข้อที่ ๑ การเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นการให้ชีวิต ให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัย แก่สัตว์ทั้งหลาย

ศีลข้อที่ ๒ การเว้นจากการลักทรัพย์ ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น

ศีลข้อที่ ๓ การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ชื่อว่าให้ความปลอดภัย แก่บุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น

ศีลข้อที่ ๔ การเว้นจากการพูดเท็จ ชื่อว่า ให้ความจริงแก่ผู้อื่น และ

ศีลข้อที่ ๕ การเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วย

-จากคำถามข้อที่ ๑

ถ้ามีอัธยาศัยเป็นปกติที่ไม่ล่วงละเว้นในสิ่งที่เป็นโทษ ก็คือ ธรรมฝ่ายดีนั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน

ข้อความใน [เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ ๖๒๗ แสดงความเป็นจริงไว้ว่า

อนึ่ง ศีล ย่อมบริสุทธิ์โดยอาการ ๔ อย่าง คือ

โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑
โดยการสมาทาน (ถือเอาเป็นข้อประพฤติด้วยดี) ๑

โดยไม่ก้าวล่วง ๑
โดยทำให้เป็นปกติเมือมีการก้าวล่วง ๑

-จากคำถามข้อที่ ๒

ขอให้พิจารณาจาก การงดเว้น (วิรัติ) ๒ อย่าง ไม่ใช่ว่าจะต้องไปขอจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย ได้แก่

๑. สมาทานวิรัติ หมายถึง การที่เราเห็นโทษของกิเลสทางกาย วาจา จึงงดเว้นด้วยการสมาทาน (ถือเอาด้วยดี) ที่ไหนก็ได้ โดยที่ยังไม่เจอเหตุการณ์ที่จะให้ล่วงศีล แต่ได้ถือเอาเป็นข้อประพฤติแล้วว่า จะไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่เป็นโทษ

๒. สัมปัตวิรัติ หมายถึง การที่เราเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่จะล่วงศีล แต่ก็งดเว้นไม่ทำขณะนั้น เช่น ยุงมากัด ก็งดเว้นที่จะไม่ฆ่า เป็นต้น
ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะอุปการะให้กุศลธรรมเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศลธรรมทั้งหลาย ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย Selaruck  วันที่ 24 ธ.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย โพธิ์งามพริ้ง  วันที่ 30 ธ.ค. 2561

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 5    โดย ประสาน  วันที่ 6 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 9 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ