เหตุใดจึงดับโทสะได้เป็นสมุจเฉทก่อนโลภะ?
โดย TeTee  20 พ.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 8684


ในเมื่อ "โลภะ" เป็นปัจจัยให้เกิด "โทสะ" เพราะเหตุใดจึงสามารถดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท (เมื่อเป็นพระอนาคามี) ก่อนที่จะดับโลภะ (ที่เป็นเหตุปัจจัย) ได้เป็นสมุจเฉท (เมื่อเป็นพระอรหันต์) ?



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 20 พ.ค. 2551

ควรทราบความจริงตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ ว่า โลภะ มีหลายระดับชั้น คือตั้งแต่ระดับหยาบมาก ติดข้องมากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ให้ล่วงอกุศลกรรมบถก็มี ติดข้องในกามคุณ แต่ไม่ทำให้ล่วงอกุศลกรรมบถก็มี ติดข้องในภพ ในฌานก็มี ดังนั้นปัญญาที่สามารถดับโลภะได้ทุกระดับต้องเป็นปัญญาระดับพระอรหันต์เท่านั้น พระโสดาบันดับโลภะที่จะนำไปสู่อบาย พระสกทาคามีดับโลภะส่วนหยาบ พระอนาคามีดับโลภะที่ติดในกามคุณ พร้อมกับโทสะ เพราะฉะนั้นโลภะที่เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะควรจะหมายถึงโลภะที่ติดในกาม ที่พระอนาคามีดับได้ โลภะส่วนละเอียดคงไม่เป็นปัจจัยแก่โทสะโดยตรงครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 20 พ.ค. 2551

โดยปกติในชีวิตประจำวัน คนเรามีโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะ ความติดข้องต้องการ เป็นมูล) เป็นพื้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่ามีโลภมูลจิต มากเป็นพื้นอยู่ จึงทำให้เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อเป็นผู้ที่ดับความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ได้แล้ว ก็ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะอีก ซึ่งพระอนาคามีเป็นผู้ที่ละความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ ได้ รวมไปถึงดับโทสะได้โดยเด็ดขาด ครับ

พระอนาคามียังเป็นผู้ยินดีพอใจติดข้องในภพ ซึ่งยังเป็นผู้ที่มีโลภะอยู่ แต่ไม่ใช่โลภะที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ดังนั้น ผู้ที่จะดับโลภะได้โดยเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอรหันต์ ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 20 พ.ค. 2551

ปกติในชีวิตประจำวันของทุกคนในวันหนึ่งๆ ก็มีโลภะ โมหะ เกือบตลอดทั้งวันที่สติไม่เกิด โทสะเกิดบ้างไม่บ่อยเท่ากับโลภะและโมหะ พระอนาคามีละความยินดีในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส จึงไม่มีปัจจัยให้เกิดโทสะ ส่วนพระอรหันต์ละหมดทั้งโลภะ โทสะและโมหะ ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย baramees  วันที่ 20 พ.ค. 2551

ไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส แต่โลภะเมื่อยังไม่ดับ แม้เป็นพระอนาคามี

โลภะก็ยังไปติดในสิ่งอื่นได้ โลภะเป็นเหตุ เป็นสมุทัย ติดได้ทุกอย่างเว้นโลกุตตรธรรม และไม่ควรลืมโลภะก็ติดได้แม้คิดจะละโลภะก่อนความเห็นผิด


ความคิดเห็น 5    โดย เซจาน้อย  วันที่ 20 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 6    โดย suwit02  วันที่ 21 พ.ค. 2551

สาธุ


ความคิดเห็น 7    โดย ajarnkruo  วันที่ 21 พ.ค. 2551

การไถ่ถอนกิเลสต้องเป็นขั้นๆ ไปตามระดับของปัญญาครับ ผู้ที่ยังไม่เห็นภัยของการเกิดในภพภูมิต่างๆ จริงๆ เมื่อเกิดแล้ว ก็ย่อมจะมีความยินดีในภพชาติที่ตนเกิดทั้งสิ้น บางคนที่รำพึงว่า ชีวิตเป็นทุกข์ ตามปกติของปุถุชน ผู้ที่ยังมีกิเลสหนานั้น มีทุกข์เพราะไม่ได้รูปธรรมที่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทุกข์เพราะได้รับวิบากที่ไม่ดีเป็นทุกข์กาย ส่วนทุกข์เพราะไม่ได้รับวิบากที่ดีตามปรารถนาเป็นเพียงทุกข์จากความคิด แต่ยังไม่มีปัญญาเห็นถึงโทษภัยจริงๆ ของความยินดีในภพชาติที่ตนเกิดและเป็นอยู่ เพราะเป็นกิเลสที่ละเอียด ยากที่จะเห็นด้วยปัญญาเพียงขั้นต้น ถ้าโกรธที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มีความลำบากอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ยังไม่ใช่จากความยินดีติดข้องในภพชาติอยู่ดี เพราะโกรธในวิบากที่ได้รับ และโกรธในบัญญัติที่กำลังคิดนึกเท่านั้นครับ


ความคิดเห็น 8    โดย TeTee  วันที่ 21 พ.ค. 2551

ขอบคุณมากครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ประสาน  วันที่ 21 พ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ เจริญธรรม


ความคิดเห็น 10    โดย เมตตา  วันที่ 31 พ.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ