การเคลื่อนไหวร่างกายมาจากโทสะมูลจิตเป็นไปได้หรือไม่
โดย lokiya  19 ธ.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 41755

..



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ที่จะเคลื่อนไหวร่างกายไปได้นั้น ก็ด้วยอำนาจของจิต ที่เป็นชวนจิต รวมถึง โทสมูลจิต ด้วย ก็เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายได้ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ขอเชิญอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้
การที่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นในขณะที่ตื่น ต้องเป็นวิถีจิต
และวิถีจิตอื่น เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุวิญญาณเหล่านี้ จะไม่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใดๆ ได้ ต้องถึงชวนวิถีจิตรูปจึงจะเคลื่อนไหวได้ และสำหรับวาโยธาตุที่ตั้งขึ้นในชวนวิถีขณะที่ ๑ ย่อมสามารถค้ำจุนทรงไว้ซึ่งรูปกาย ที่เกิดพร้อมกับตน แต่ไม่สามารถจะให้เคลื่อนไหวไปมาได้

ชวนวิถีจิตมี ๗ ขณะ ขณะที่ต้องการจะเคลื่อนไหว จะก้าวไป หรือจะยกมือ จะคู้เข้า จะเหยียดออก เพียงชวนวิถีจิตขณะที่ ๑ รูปไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แม้ในชวนจิตขณะที่ ๒ ก็โดยนัยเดียวกัน

ดวงที่ ๑ ดวงที่ ๒ ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๕ ดวงที่ ๖ เพียงแต่สามารถ ค้ำจุนทรงไว้ซึ่งรูปกายที่เกิดพร้อมกับตน แต่ไม่สามารถที่จะให้เคลื่อนไหวไปมาได้

ส่วนวาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยชวนจิตดวงที่ ๗ ได้วาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยจิต ๖ ดวงเบื้องต้น (เพราะว่ารูปที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๑ จนถึงชวนจิตดวงที่ ๖ ยังไม่ดับ) เป็นปัจจัยสนับสนุนแล้ว ย่อมสามารถค้ำจุนทรงไว้ยังรูปกายที่เกิดร่วมกับตนให้เคลื่อนไหว ให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ถอยกลับ ให้แลดู ให้เหลียวดู ให้คู้เข้า ให้เหยียดออกได้ เพราะเหตุนั้นจึงเกิดการเดินไปเดินมา การเดินไปและการเดินมา กล่าวได้ว่า ไปได้โยชน์หนึ่ง ไปได้ ๑๐ โยชน์

ข้อความใน อัฏฐสาลีนี อุปมาว่า

เปรียบเหมือนนายเกวียนที่คู่โคจะพึงลากไปด้วยแอก ๗ แอก คู่โคที่เทียมอยู่ ที่แอกคู่ที่ ๑ ย่อมสามารถค้ำจุนทรงแอกไว้อยู่ได้ก่อน แต่จะให้ล้อหมุนไปหาได้ไม่

แม้ในคู่โคคู่ที่ ๒ เป็นต้น ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน แต่ในกาลใดนายสารถี ผู้ฉลาดเทียมคู่โคที่แอกคู่ที่ ๗ แล้วนั่งบนทูบเกวียน ถือเชือก เอาปลายปฏักกระตุ้น คู่โคตั้งแต่คู่โคหน้า คู่โคทั้งหมด ในกาลนั้น คู่โคทั้งหมดร่วมกำลังกันทรงทูบเกวียนและให้ล้อหมุนไปได้ กล่าวได้ว่า พาเกวียนไปได้ ๑๐ โยชน์ ไปได้ ๒๐ โยชน์ ฉันใด พึงทราบข้ออุปมัยนี้ ฉันนั้น

จะเห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้รูปเคลื่อนไหวไปได้ทุกๆ วันว่า ในขณะที่จะมีการเคลื่อนไหวก็เพราะชวนวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเคลื่อนไหวไปด้วยอกุศลจิตประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวไปด้วยโลภมูลจิต หรือบางครั้ง บางขณะ ก็เป็นการเคลื่อนไหวไปด้วยโทสมูลจิต


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย lokiya  วันที่ 20 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย lokiya  วันที่ 20 ธ.ค. 2564

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด


ความคิดเห็น 5    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 20 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Witt  วันที่ 26 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ธีรพันธ์  วันที่ 1 ม.ค. 2565

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาผู้ถามปัญหาและอาจารย์คำปั่น ผู้ดำเนินการแสดงเนื้อหาธรรมให้มีการพิจารณาไตร่ตรองครับ