ว่าด้วยปัจจเวกขณญาณ [ปัจจเวกขณญาณุทเทส]
โดย JANYAPINPARD  1 ต.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 13793

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 78

๑๔. อรรถกถาปัจจเวกขณญาณุทเทส

ว่าด้วยปัจจเวกขณญาณ
คำว่า ตทา สมุทาคเต ธมฺเม ปสฺสเน ปญฺญา แปลว่า ปัญญาในการพิจารณาเห็นธรรมที่เข้ามาประชุมในขณะนั้น ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องเห็นเพ่งรู้ในธรรมคือมรรคและผลกับทั้งในธรรมคือสัจจะ ๔ ที่เกิดขึ้นในมรรคขณะและผลขณะ คือมาพร้อมแล้ว ถึงพร้อมแล้ว ประชุมกันในกาลนั้น ด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะ และด้วยสามารถแห่งการแทงตลอด.

คำว่า ปจฺจเวกฺขเณ ญาณํ ปัจจเวกขณญาณ ความว่า ญาณเป็นเครื่องหมุนกลับมาเห็นรู้แจ่มแจ้ง. ก็ปัจจเวกขณญาณท่านกล่าวไว้ด้วยญาณทั้ง ๒ นี้. ก็ในที่สุดแห่งโสดาปัตติผลในมรรควิถี จิตของพระโสดาบันก็ลงภวังค์ ต่อแต่นั้นก็ตัดภวังค์ขาด มโนทวาราวัชชนะก็เกิดขึ้นเพื่อ พิจารณามรรค, ครั้นมโนทวาราวัชชนะนั้นดับลงแล้ว ชวนจิตพิจารณามรรคก็เกิดขึ้น ๗ ขณะโดยลำดับ ฉะนี้แล

ครั้นแล้วก็ลงสู่ภวังค์อีกอาวัชชนจิตเป็นต้น ก็เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาธรรมทั้งหลายมีผลเป็นต้นโดยนัยนั้นเอง. เพราะความเกิดแห่งธรรมเหล่าใดมีผลเป็นต้น พระโสดาบันนั้น ก็พิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลือ และพระนิพพาน ก็พระโสดาบันนั้นพิจารณามรรคว่า เรามาแล้วด้วยมรรคนี้หนอ, ต่อแต่นั้นก็พิจารณาผลว่า อานิสงส์นี้เราได้แล้ว ต่อแต่นั้นก็พิจารณากิเลสที่ละแล้วว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสเหล่านี้ เราละได้แล้ว

ต่อแต่นั้นก็พิจารณากิเลสที่มรรคเบื้องบนจะพึงประหาณว่ากิเลสเหล่านี้เรายังเหลืออยู่, ในที่สุดก็พิจารณาอมตนิพพาน ว่าธรรมนี้เราได้แล้วโดยความเป็นอารมณ์ พระอริยสาวกชั้นโสดาบัน มีปัจจเวกขณะ ๕ อย่าง ด้วยประการนี้

ปัจจเวกขณะของพระสทาคามี และพระอนาคามี ก็มีเหมือนพระโสดาบัน แต่ของพระอรหันต์ มีปัจจเวกขณะ ๔ อย่างคือ ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ รวมปัจจเวกขณญาณทั้งหมดมี ๑๙ ด้วยประการฉะนี้ นี้เป็นการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ ฯลฯ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ