อนุสัยกิเลสกับวาสนาต่างกันอย่างไร
โดย apiwit  19 ก.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 33007

อนุสัยกิเลสนั้นตามที่ผมพอรู้คร่าวๆ คือ กิเลสที่สะสมนอนเนืองอยู่อยู่ในจิตใจ มีปัจจัยที่เกิดเป็นเช่นนั้นอีกบ่อยๆ ก็คงคล้ายๆ อุปนิสัยของคนๆ นั้น หรือติดเป็นความเคยชินเป็นนิสัยที่เคยชินที่จะแสดงกิริยาท่าทางแบบนั้น หรือจริตนิสัยแบบต่างๆ ของแต่ละบุคคล ซึ่งก็ดูคล้ายกับคำว่าวาสนาเพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวจนกลายเป็นกิริยาท่าทางของคนๆ นั้น ที่จะต้องแสดงออกแบบนั้น แต่ถึงจะดูเหมือนแต่ก็คงมีความแตกต่างที่ละเอียดลึกซึ้ง เพราะเคยได้ยินว่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายที่ไม่ใช่ระดับพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถละวาสนาได้ บางองค์อาจพูดวาจาที่ไม่ไพเราะ อย่างเคยได้ยินว่าในสมัยพุทธกาลก็มีพระอรหันต์องค์หนึ่งแต่ผมไม่ทราบว่าใคร ท่านองค์นั้นชอบใช้คำพูดว่าไอ้คนถ่อย อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งปุถุชนอย่างเราๆ ก็คงมีส่วนที่เป็นทั้งอนุสัยกิเลสกับวาสนาปะปนกันกันไปจนแยกความต่างในความละเอียดข้อนี้ไม่ออก อย่างการที่ผมมีบุคลิกนิสัยชอบนั่งไขว่ห้าง นั่งเขย่าขาจนเคยชินเป็นนิสัย อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นอนุสัยกิเลสหรือวาสนา ความแตกต่างที่ละเอียดระหว่างอนุสัยกิเลสกับวาสนาจะเป็นอย่างไร ขอท่านอาจารย์โปรดชี้แจงความละเอียดในเรื่องนี้ด้วย ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 20 ก.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วาสนา คือ ความประพฤติทั้งทางที่ดีและไม่ดีสะสมอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ หมายถึง การสะสมอุปนิสัยซึ่งเป็นความเคยชินที่ได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จนไม่สามารถที่จะละได้ เช่น บางคนเป็นผู้ที่ทำอะไรเร็ว เดินเร็ว พูดเร็ว ทานอาหารเร็ว หรือบางท่านมีกิริยาอาการที่ไม่น่าเลื่อมใส ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างแสดงว่า ...

วัสสการพราหมณ์ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์แห่งเมืองราชคฤห์ เห็นท่านพระมหากัจจายนเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์เดินลงมาจากภูเขา ก็ได้กล่าวว่าท่านผู้นี้มีกิริยาอาการคล้ายลิง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงให้ขอขมาโทษต่อท่านพระมหากัจจายนเถระ ไม่เช่นนั้นเมื่อวัสสการพราหมณ์สิ้นชีวิตแล้ว จะไปเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ แต่ด้วยมานะกิเลสของวัสสการพราหมณ์ จึงไม่ยอมขอขมาโทษและยังให้บริวารไปปลูกไม้ผลต่างๆ เพื่อที่เมื่อตนตายไปเกิดเป็นลิงแล้วจะได้มีผลไม้กิน

ในที่สุดวัสสการพราหมณ์ก็ได้สิ้นชีวิตแล้วไปเกิดเป็นลิงจริงๆ การสะสมอุปนิสัยของท่านพระมหากัจจายนเถระ ทำให้มีอาการบางอย่างที่ไม่น่าเลื่อมใสต่อผู้ที่พบเห็น ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า วาสนา แม้เป็นพระอรหันต์หรือพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ละไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สะสมอบรมปัญญาบารมีมาเพื่อเกื้อกูลสัตว์โลก จึงต้องสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แม้พระรูปกายและกิริยาอาการก็ต้องเป็นที่น่าเลื่อมใส พระองค์จึงทรงละกิเลสได้พร้อมทั้งวาสนาซึ่งเป็นอาการกิริยาที่ไม่ดี

ส่วน อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญาระดับมรรคจิตครับ

อนุสัย มี ๗ ประการคือ

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้


ดังนั้น ความประพฤติที่เคยชินที่เป็นวาสนา ไม่ได้เกิดจากกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลส จิตขณะนั้นไม่เป็นอกุศลจิตเลย ส่วนความประพฤติที่เคยชินต่างๆ ที่เกิดขึ้นของผู้ยังไม่ได้ดับกิเลส จิตเป็นอกุศลจิต เกิดจากอนุสัยกิเลสเป็นปัจจัยครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 20 ก.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กรณีของพระปิลินทวัจฉะ มีข้อความแสดงไว้ดังนี้

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๒๘

"ในอดีตกาล บุตรของเรานี้ บังเกิดในครอบครัวแห่งพราหมณ์ผู้มักกล่าวว่า ถ่อย ถึง ๕๐๐ ชาติ ดังนั้น บุตรของเรานี้ จึงกล่าว เพราะความเคยชิน มิได้กล่าวด้วยเจตนาหยาบ จริงอยู่โวหาร (คำพูด) แห่งพระอริยะทั้งหลาย แม้จะหยาบอยู่บ้าง ก็ชื่อว่า บริสุทธิ์แท้ เพราะเจตนาไม่หยาบ ไม่เป็นบาป แม้มีประมาณเล็กน้อยในเพราะการกล่าวนี้"


พระปิลินทวัจฉะ ท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ท่านย่อมไม่มีเจตนาที่เป็นอกุศล ที่จะด่าว่าใคร แต่ที่มีคำพูดอย่างนั้น ก็เพราะความเคยชิน เพราะสะสมการพูดอย่างนั้นๆ มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ดังนั้น แม้ท่านพระปิลินทวัจฉะ จะมีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้น มีคำพูดว่าคนถ่อยๆ ท่าน ไม่ได้กล่าวด้วยเจตนาหยาบเลย ครับ
* สำหรับ อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่า กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้ว แต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็น กิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่า มีโลภะ กิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้ เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต แต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีล หรือ กระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ว่า การที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส และไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้น

จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับ ขั้นหยาบและ ที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือ ขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบ กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้ นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภทและหมดไปตามลำดับมรรคด้วย กล่าวคือ

โสตาปัตติมรรค ดับ ทิฏฐานุสัย และ วิจิกิจฉานุสัย

อนาคามิมรรค ดับ กามราคานุสัย และ ปฏิฆานุสัย

อรหัตตมรรค ดับ มานานุสัย ภวราคานุสัย และ อวิชชานุสัย

พระอรหันต์เท่านั้น ที่เป็นผู้ไม่มีอนุสัยกิเลส นอนเนื่องอยู่ในจิตอีกต่อไป

กว่าจะดำเนินไปถึงการดับอนุสัยกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรม และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียวหรือ สองชาติเท่านั้น

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย talaykwang  วันที่ 21 ก.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Artwii  วันที่ 21 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนา สาธุครับ


ความคิดเห็น 7    โดย oritodesune  วันที่ 25 ก.ย. 2563

อนุโมทนา สาธุด้วยครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Nattaya40  วันที่ 26 ก.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Selaruck  วันที่ 1 ต.ค. 2563

กราบขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย มกร  วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย พานทอง*อินทรชัย  วันที่ 8 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ทุกท่าน ครับ

กราบอนุโมทนา สา..า...า....า ธุ สาธุๆ ๆ ครับ