สติปัฎฐาน กับ มหาสติปัฎฐาน ต่างกันอย่างไร
โดย wkedkaew  18 ธ.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 24198

สติปัฎฐาน กับ มหาสติปัฎฐาน ต่างกันอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐาน มีหลายความหมาย ครับ โดยทั่วไปแล้ว เราจะเข้าใจว่า สติปัฏฐานคือตัว สติและปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ดังนั้น จะมุ่งหมายถึง ตัว สติเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึก เป็นสติปัฏฐาน แต่ สติปัฏฐาน นั้น มีหลากหลายนัย อธิบาย โดย 3 นัย ดังนี้ ครับ

1. ตัวสติ เป็นสติปัฏฐาน

2. การที่พระพุทธเจ้า ไม่ยินดี ยินร้าย เมื่อสาวก ปฏิบัติผิด หรือ ถูก เป็นสติปัฏฐาน

3. อารมณ์ของสติปัฏฐาน ชื่อว่า สติปัฏฐาน

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ความหมายสติปัฏฐาน​ ๓​ ​ [ทีฆนิกาย​ มหาวรรค​] ​

ดังนั้น โดยนัยที่ 3 ที่ว่า อารมณ์ของสติปัฏฐาน ชือ่ว่า สติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิก รูป หรือ จะกล่าวได้ว่า ธรรมต่างๆ ดังที่ผู้ถาม และท่านอาจารย์กล่าวไว้ เป็นสติปัฏฐาน เพราะ เป็นที่ตั้ง หรือ เป็นอารมณ์ให้สติระลึกรู้และ ให้ปัญญารู้ความจริง ครับ

หากไม่มีสภาพธรรม ก็ไม่มี สติปัฏฐาน คือไม่มีสติปัฏฐานเกิดได้เลย เพราะ ไม่มีสภาพธรรมให้สติระลึกรู้ ครับ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิก รูป เป็นธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฎในชีวิตประจำวัน เป็นสติปัฏฐาน โดยนัยที่เป็นอารมณ์ของสติแต่ไม่ได้หมายถึง ธรรมต่างๆ จะเป็น ตัวสติ ที่เป็นสติเจตสิก ครับ อกุศล เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ คือ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ได้ว่า อกุศลเป็นธรรมไม่ใช่เรา อกุศล ก็ชื่อว่าเป็นธรรมต่างๆ และ อกุศลก็เป็นสติปัฏฐาน โดยนัย ที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานเห็น ได้ยิน คิดนึก ที่เป็นจิต ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมต่างๆ ที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ธรรมต่างๆ ที่มีในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสติปัฏฐาน โดยนัย ที่เป็นที่ตั้ง อารมณ์ของสติปัฏฐาน ครับ ส่วนมหาสติปัฏฐาน ก็มีความหมายเดียวกับสติปัฏฐาน เพียงแต่ที่ใช้คำว่ามหาสติปัฏฐาน เพราะ มหา ใหญ่ มากมายเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ คือ สติสามารถเกิดระลึกได้มากมายในสภาพธรรมที่มีจริง จึงใช้คำว่า มหา แต่แท้ที่จริง ทั้งสองคำก็มีความหมายเหมือนกันครับสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และ ด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็มีจริง แต่ต้องเป็นหนทางแห่งปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แม้ว่าจะมี

สภาพธรรมที่มีจริง ก็ไม่สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้เลย ย่อมไม่มีเหตุที่จะสติปัฏฐานเกิดขึ้นได้เลย ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่พ้นไปจากเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงอะไรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่ใครไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนแต่อย่างใด แม้แต่ สติปัฏฐาน ก็เช่นเดียวกันซึ่งควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งหมด เป็นธรรม

"สติปัฏฐาน" เป็นเรื่องของการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่พ้นจากสติไปได้ สติย่อมมีอย่างแน่นอน โดยไม่มีตัวตนที่ระลึก หรือไปเจาะจงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติคือ เป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนั้น มีสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึก และ มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมเป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ มีสติที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึก ด้วย เพราะสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้นั้น ก็เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันนี้เองที่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่รู้ยาก เพราะสะสมอวิชชา ความไม่รู้มาอย่างเินิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

ประการที่สำคัญ นั้น ก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐาน ขอให้ฟังให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าพระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม อย่างมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ สัตว์บุคคลตัวตน เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคงจึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด แต่อย่าลืมว่าธรรม เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 18 ธ.ค. 2556

สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งให้สติระลึกในนามธรรมและรูปธรรม ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย wkedkaew  วันที่ 2 ม.ค. 2557

กราบขอบพระคุณค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย peem  วันที่ 24 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ