ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันที่ ๔ - ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการเดินทางไปในช่วงเวลานี้ของทุกๆ ปี นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นต้นมา จุดประสงค์ของการเดินทางไปในทุกๆ ครั้ง คือ การนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ยากไร้ตามแนวชายแดนพม่า ทั้งเพื่อเยี่ยมเยียน และมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนยากจน ที่อยู่ในความอุปการะของท่าน ซึ่งแต่เดิม มีจำนวนทั้งสิ้น ๖ คน และ เพื่มเติมในปีนี้อีกถึง ๓ คน รวมเป็น ๙ คน
และเช่นเคยกับทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้เมตตาร่วมเดินทางไปด้วย ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม และคณะฯ ได้ออกเดินทางโดยรถตู้ จำนวน ๖ คัน และ รถบรรทุกสิ่งของบริจาคอีก ๒ คัน จากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ กรุงเทพมหานคร ในเวลา ๙.๓๐ น.โดยแวะพักรับประทานอาหารกลางวัน ที่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
คณะทั้งหมด ได้เดินทางถึงที่พักที่อำเภอสังขละบุรี ราว ๑๖.๓๐ น รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้น ถึง ๗ ชั่วโมง เนื่องจากเป็นการเดินทางขึ้นเขาในช่วงท้าย เราเข้าพักที่เดิมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา คือที่ พนธ์นทีรีสอร์ท ครับ เป็นรีสอร์ทที่สร้างด้วยไม้ ให้บรรยากาศและความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ สบายๆ ท่ามกลางทัศนียภาพสวยงาม อากาศที่สดชื่น มองเห็นคุ้งน้ำไกลสุดสายตา
ปีนี้ ข้าพเจ้าได้รับโอกาสดี จากท่านอาจารย์ดวงเดือน ซึ่งจัดให้ข้าพเจ้าได้พัก ห้องเดียวกับอาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ซึ่งพี่ๆ สหายธรรมหลายท่าน เมื่อทราบข่าว ก็แสดงความดีใจกับข้าพเจ้า ที่จะได้มีโอกาสสนทนาธรรมเป็นการส่วนตัวกับท่านส่วนข้าพเจ้าเองไม่ได้คิดเช่นว่านั้น คิดเพียงว่า ได้พักห้องที่มีวิวสวยมาก ทั้งอยู่ติดกับห้องคุณคำปั่น อักษรวิลัย และ พี่ปริญญา สีดาโสม อีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็กังวลว่า ต้องระวังตัวมากๆ ในเวลานอน ที่จะไม่ให้นอนกรน อันจะเป็นการรบกวนการนอนของอาจารย์อรรณพท่าน จึงนอนหลับๆ ตื่นๆ จนตลอดคืน
ขณะที่เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ พลันก็เหมือนเทวดาตกสวรรค์ กล่าวคือ พี่ปริญญา เดินมาปรึกษาว่า ที่ห้องของท่าน ซึ่งอยู่ติดกันกับข้าพเจ้า มีกลิ่นแรงมากคล้ายมีหนูตาย เมื่อข้าพเจ้าไปสำรวจ ก็พบว่า เป็นกลิ่นหนูตายจริงๆ ทางรีสอร์ทจึงเปลี่ยนห้องให้ และ กลิ่นหนูตายก็รุกรานมาถึง ในห้องของข้าพเจ้าและอาจารย์อรรณพด้วย จากที่กำลังได้รับกุศลวิบากอยู่ดีๆ แท้ๆ ก็พลิกกลับไปหาอกุศลวิบาก ให้ต้องระหกระเหินไปนอนที่รีสอร์ทข้างเคียง ที่ไกลออกไป เพราะห้องที่พักเต็มหมดแล้ว ทางรีสอร์ทก็ใจดีมาก จัดให้เราไปที่พักใหม่อย่างรวดเร็ว
แต่ในคืนถัดมา เราก็ขอกลับมานอนที่ห้องเดิม เพราะได้รับการแก้ไขดีแล้ว คืนนั้น เมื่อข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาตอนตี ๓ รู้สึกว่าอาจารย์อรรณพ ท่านก็รู้สึกตัวเช่นกัน หวังว่าคงไม่ได้ตื่นเพราะเสียงกรนของข้าพเจ้า อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ถึงพร้อมในขณะนั้น และความรู้สึกรื่นรมย์ในใจที่มีมาก ใคร่ที่จะสนทนาธรรม จึงกราบเรียนถาม อ.อรรณพ ถึงเรื่องที่ค้างคาอยู่ในใจ จากขณะที่ได้สนทนากันในตอนกลางวัน ในเรื่องของ "อคติ" เพราะ อคติ ทำให้บุคคลมีความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งอาจารย์อรรณพ ได้กรุณาแสดงถึง อคติ ทั้ง ๔ ประการ โดยละเอียด กล่าวคือ
๑. ฉันทาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะรัก เพราะชอบเป็นพิเศษ คนที่เรารัก พวกที่เราชอบ พูดอะไรทำอะไร ก็ถูกต้องถูกใจ ไปเสียทั้งหมด เพราะเป็นเรา พวกของเรา
๒. โทสาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะชัง เพราะความเกลียดชัง ความไม่ชอบ คนที่เราชัง เราเกลียด พวกที่เราไม่ชอบ พูดอะไร ทำอะไร ก็ไม่ถูกไปหมด ไม่ดีไปหมด พูดอะไรมา ก็ไม่สนใจ ไม่ฟัง ไม่ แม้แต่จะมอง เป็นต้น
๓. ภยาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ เห็นดีด้วย ชอบด้วย ชังด้วย เพราะกลัวภัยจากเขา ไม่กล้ายืนหยัดแสดงความถูกต้อง เพราะเกรงใจ เพราะกลัวภัย
๔. โมหาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะไม่รู้ ถ้ารู้ (คือ ปัญญา) จะเอียงไหม? ที่เอียง เพราะไม่รู้ นั่นเอง ไม่รู้นี้ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าทั้งหมด เป็นแต่ธรรม ถ้าตรงตามธรรม ไม่เอียง คือ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล จะให้เปลี่ยนเป็นอกุศลได้ไหม? ธรรมใดเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล เปลี่ยนไม่ได้
ชั่วคือชั่ว ดีคือดี พวกเรา พวกเขา จึงจะมีแต่ที่ไหน? มีเพียงพวกที่เป็นกุศล และ พวกที่เป็นอกุศล เท่านั้น ควรที่จะน้อมไปสู่ทางใด ย่อมเป็นผู้ที่ใฝ่ใจใคร่ครวญ ด้วยประโยชน์แห่งตนเองเป็นสำคัญ อาจารย์อรรณพ ยกตัวอย่างว่า อคติ พิสูจน์ได้เมื่อเวลาที่ลูกๆ ทะเลาะกัน การติดสินของเรา เป็นการเข้าข้าง ฝ่ายที่ผิด ด้วยเหตุจากความรัก ความชัง ในคนหนึ่งคนใด มากกว่าอีกคนหนึ่งหรือไม่? หรือ ยืนในหนทางของความถูกต้อง ในความเป็นผู้ตรง ไม่เอนเอียงไป ด้วยความรัก หรือ ความชัง สำหรับข้าพเจ้าแล้ว นี้เป็นสิ่งที่น่าใคร่ครวญอย่างยิ่งของบุคคล ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะความเห็นผิด ความเห็นที่ไม่ตรง ย่อมเป็นอันตรายแก่บุคคลนั้นเอง หาใช่ใครอื่นไม่
เราอาจลืมไปว่า จะมีเวลาเหลือพอสำหรับการปรับความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคงขึ้นเท่าไหร่ ประโยชน์อะไร? กับความเห็น ที่ประกอบไปด้วยอคติ ซึ่งจะสะสมไปและทำร้ายตนเอง ด้วยความเอนเอียง ที่หนาแน่น มั่นคงขึ้นๆ จนหลงออกไปจากหนทางอย่างไม่มีวันกลับ เรื่องราวทั้งหลาย ไม่มีอยู่จริง กุศลจิตและความเข้าใจที่ถูกและตรง เท่านั้น ที่จักเป็นประโยชน์ยิ่งแก่บุคคล ในเวลาอันมีค่าและแสนสั้นนี้
นอกจากนั้น เราสนทนากันในเรื่องอื่นๆ อีก เป็นที่ร่าเริงอย่างยิ่ง รวมเวลาถึงสองชั่วโมง กล่าวคือ ตั้งแต่ตี ๓ ถึงตี ๕ ก็พอดีได้เวลาที่ข้าพเจ้านัดคุณเอ๋ (สุภัทรา ใจชาญสุขกิจ) และ เพื่อนๆ สหายธรรม ออกไปเดินเล่น และ ใส่บาตรพระยามเช้า ไปเที่ยวสะพานมอญ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องไปในทุกเช้าสำหรับข้าพเจ้า เมื่ออยู่ที่นี่ เพราะมีบรรยากาศที่สวยงาม แตกต่างกันไปในแต่ละวัน ไม่เหมือนกันเลย ชีวิตก็เป็นปรกติอย่างนี้ สนทนาธรรมเสร็จ ก็พลิกไปหารูป รส กลิ่น เสียง โดยพลันทันที แต่ประโยชน์ของพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อฝังไว้หนาแน่น มั่นคงขึ้น ในหทัย
การพบเห็นสิ่งใดรอบกาย จะเป็นเหตุให้พิจารณาถึงธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังบ้างไหม? ขณะที่ย่างก้าวไปบนสะพานไม้นั้น "แข็ง" อาจปรากฏขึ้น ได้ไหม? "เย็น" อาจปรากฏขึ้น ได้ไหม? แม้เพียงเล็กน้อย นิดหน่อย ใครรู้? ปรากฏ กับ อะไร?
เล่าเรื่องต่างๆ เลยไปไกล ขอย้อนกลับมาเมื่อได้เข้าเช็คอินห้องพักเรียบร้อยแล้ว ทุกท่านก็มาช่วยกันจัดสิ่งของที่จะนำไปบริจาคในวันรุ่งขึ้น ทุกท่านสนุสนานกันมาก ในบรรยากาศยามเย็นใกล้ค่ำ ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ บรรยากาศจึงอบอวลไปด้วยกุศลจิต และ มิตรภาพ ที่เป็นที่ประทับใจของทุกคน
ข้อความสนทนาธรรม ณ อาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ถอดเทปบันทึกเสียงโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล
.........
"...ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยกำลังของเราเองและยังสามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัย หรือช่วยหลือบุคคลอื่นได้ด้วยตามสมควรควรจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?และถ้าเรามีความสามารถในการงาน มีความฉลาดในการบริหารทรัพย์และ สามารถที่จะเพิ่มพูนทรัพย์ได้ "ในทางสุจริต" เป็นสิ่งที่ควรหรือเปล่า?ปัญหาที่ควรพิจารณา คือ ถ้าเราจะต้องลำบากแต่ เราสามารถที่จะใช้ทรัพย์นั้น "เพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น"ฉลาดพอหรือไม่?...ที่คิดว่าทรัพย์ของตนจะเพิ่มขึ้นได้ "ในทางสุจริต"ถ้ามีทรัพย์สินมาก และไม่ติดข้องมากจนเกินไป มีความพอใจเท่าที่มีและ ยังสามารถที่จะสละทรัพย์ของตนให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นด้วยก็เป็นสิ่งที่สมควร..."
...ถ้ามีทรัพย์ พอที่จะสละให้ผู้อื่นได้ โดยพิจารณาว่า "มีเหตุผล-สมควรที่จะให้"ก็สามารถให้ด้วยความสบายใจ โดย ไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง.!ในการดำรงชีวิตของคฤหัสถ์ นั้น เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจด้วยว่า เมื่อยังมีโลภะอยู่...ก็ควรเป็นผู้ฉลาด...
ฉลาด คือ เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ชีวิตของคฤหัสถ์นั้น มีความแตกต่างกันไปถ้าเรามีความสามารถที่จะช่วยเหลือใครได้ ก็ควรกระทำ.ไม่ใช่เป็นผู้ที่ "ไม่สละ" อะไรเลย จนถึงกับ "ตระหนี่"หรือ "ไม่สันโดษ" พอใจในสิ่งที่ตนมีจนถึงกับ "มีเท่าไร-ก็ไม่พอ"และควรเป็น "ปัญญา" ที่เข้าใจตามความเป็นจริง ว่า"ความติดข้องยิ่งน้อยลงเท่าไร...ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น"
และ "ปัญญา" ที่เข้าใจอย่างนี้ ที่ทำให้ชีวิตของคฤหัสถ์-ที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเป็นผู้ที่ฉลาดในการใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น.แต่ ถึงแม้จะมีทรัพย์สินมากมาย"ผู้มีปัญญา" ย่อมเป็นผู้ที่ลด-ละ-โลภะ ในตนเองด้วย "การเห็นโทษของโลภะ"บางครั้ง การที่จะสละสิ่งที่เราพอใจให้บุคคลอื่นนั้น....ดูเหมือนยากแต่ ถ้าสามารถ "สละได้"....ก็คือ "ชนะโลภะ"
มีหลายเหตุการณ์ ในชีวิตคฤหัสถ์ที่ "ปัญญา" จะทำให้มีชีวิตอยู่โดยเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง และ บุคคลอื่น.จริงๆ แล้ว "การให้"เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ตามกาล-เทศะ ในแต่ละสถานการณ์ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น-อันเป็นปัจจัย-ที่จะให้หรือไม่ให้.!เพราะในชีวิตจริงๆ นั้น มีคนยากไร้มากมาย ที่ช่วยเท่าไร ก็ช่วยได้ไม่หมดเพราะ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"
แต่ "การช่วยเหลือที่ดีทีสุด"คือ การช่วยให้บุคคลอื่น "เข้าใจพระธรรม" คำสอนของพระผู้มีพระภาคฯและบำเพ็ญกุศลกรรม ละคลายอกุศลกรรม ตามกำลังปัญญาของบุคคลนั้นซึ่งเป็นหนทางเดียว ที่เป็นการดับทุกข์ได้ อย่างแท้จริงและเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดด้วย.
หลังการช่วยกันจัดสิ่งของเสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนก็ได้ร่วมกันรับประทานอาหารค่ำ เป็นมื้อแรกที่สังขละฯอันแสนอร่อย และ ปีติยินดี ที่รู้สึกว่า ได้ทำความดีร่วมกันในวันนี้ หลังอาหาร คุณใหม่และเพื่อนๆ สหายธรรมหลายท่าน ได้ชักชวนกันออกไปเดินย่อยอาหาร ซึ่งข้าพเจ้าย่อมไม่พลาดอยู่แล้ว และ เมื่อกลับมาจากเดินเล่น ก็พบว่า ท่านอาจารย์ กำลังสนทนาธรรมอยู่กับพี่วีระ พี่แอ๊ว (ฟองจันทร์) อาจารย์อรรณพ พี่กัปตันเกื้อกูล พี่อ้อม คุณแอน และ อีกหลายๆ ท่าน แม้ว่าเป็นเวลาที่ท่านกำลังพักผ่อนอยู่ที่ลอบบี้ แต่ท่านอาจารย์ก็มีเมตตาอย่างยิ่ง ที่เปิดโอกาสให้ทุกท่านได้สนทนา สอบถามปัญหาธรรม ท่านกำลังสนทนากันเรื่อง ความหมายของคำว่า อุปปัตติ กับคำว่า นิพพัตติ ซึ่งก็เป็นโอกาสอันวิเศษยิ่ง ที่ข้าพเจ้าได้รับฟังด้วย และ ขออนุญาตนำมาฝากทุกๆ ท่าน พร้อมกับภาพกิจกรรมการเจริญกุศลในครั้งนี้ให้ทุกๆ ท่านได้ชมไปพร้อมๆ กันนะครับ
อนึ่ง ต้องขอออกตัวไว้อีกครั้งหนึ่งว่า นี่จะเป็นกระทู้ที่ยาวมากอีกกระทู้หนึ่ง เนื่องจากว่าเป็นการบันทึกกิจกรรมทั้งสามวันไว้ในกระทู้เดียว แต่ก็หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์ตามควรแก่กาล เช่นเคยนะครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะไม่ใช้คำว่า อุปปัตติ กับจิตอื่น นอกจาก จักขุวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ฆานวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ชิวหาวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ กายวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ พูดทบทวนให้ครบ เพื่อที่จะได้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเลย นอกจาก ขณะนั้น เป็นอย่างนั้น
โลกไม่มี อะไรไม่มี มีชั่วธาตุที่อุบัติ เกิดขึ้น "เห็น" แล้วดับ แต่ว่า เป็นปัจจัย ให้จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น ไม่ได้เห็น อย่างที่กำลังเห็นนี้เลย แต่ว่า รับรู้ต่อ ทันที โดยอาศัยเจตสิก คือ วิตักกะ "ตรึก" ถึงสิ่งที่จิดเห็นเกิด "เห็น" แล้วดับไป นี่คือ แสดงความละเอียด เพื่อความ (เข้าใจว่า) ไม่ใช่เรา จนกว่าจะค่อยๆ น้อมไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีการศึกษา ที่เราจะมาละคลายความเป็นตัวตน ไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้
พี่แอ๊ว (ฟองจันทร์) ท่านอาจารย์คะ อุปปัตติ ก็คือ ขณะที่เห็น หรือ ได้ยิน หรือ ได้กลิ่น หลังจากนั้นแล้ว ก็คือ....
ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า นิพพัตติ หมดทุกขณะ ที่เพียงแค่เห็นดับแล้ว จะไม่เป็นอย่างที่เห็นเลย แล้วรู้ไหม? ว่าขณะนี้ "เห็น" หนึ่งขณะ เป็น "เห็น" จริงๆ "เห็น" จริงๆ นั้น "หนึ่ง" นอกจากนั้น ไม่ใช่ คิดถึงความลึกซึ้งสิ มีแค่สิบ เท่านั้น นี่คือ คำที่ตรัสแล้ว ไม่เป็นสอง เพราะตรัสรู้ จึงได้ทรงแสดง ๒ คำ อุปปัตติ กับ นิพัตติ
ถ้าเราผ่านพระไตรปิฎกไป แล้วเราไม่สนใจเลย จักขุวิญญาณ ก็ไม่รู้ว่าเกิดกี่ขณะ? ในวาระหนึ่ง แล้วแสดงกิจไว้ทำไม? แสดงกิจไว้ชัดเจนว่า "จิตเห็น" จริงๆ เดี๋ยวนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของจักขุวิญญาณ เท่านั้น จิตอื่น มาทำกิจนี้ ไม่ได้เลย แต่ของเรานี่ โอโฮ...ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิด ทั้งอะไรหมดทุกอย่าง ใช่ไหม? กว่าจะเห็น ความเป็นอนัตตา ละเอียดยิบลงไป จนถึงว่า แม้ "เห็น" ก็ "หนึ่งขณะ"
เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ในความมืดหมด "หนึ่งขณะจิต" ที่เกิดขึ้น "เห็น" ลองคิดดู คิดถึง บ้าน ได้ไหม? คิดถึง รถยนต์ ได้ไหม? คิดถึง เพื่อน ได้ไหม? แต่ ไม่ใช่ "เห็น" เทียบอย่างไร นึกเท่าไหร่ ก็ไม่ใช่เห็น ในฝัน ยังไม่ใช่เลย ใช่ไหม?
อย่างเวลานี้ เรานึกได้เพียงแค่บ้าน ขนม หรือ อะไรก็แล้วแต่ มันมัว เหลือเกิน มันไม่ใช่ "ขณะที่กำลังปรากฏ" จริงๆ เพียงแต่ ความจำ สามารถที่จะจำรูปร่างไว้ได้ ว่าแค่ไหน? รสชาติ เป็นอย่างไร? แค่นั้น แต่ว่าไม่ใช่ "ทัศนะ" เลย จนกระทั่ง แม้แต่ฝัน ฝันไปเที่ยว ฝันว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ทำอะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่ "เห็น"
เห็นไหม? นี่คือแสดงไว้ว่า "อุบัติ" แล้วก็ "วิญญาณ" ที่ทำหน้าที่ "เห็น" หนึ่งขณะนั้น ใครไปคิด? หนึ่งขณะนี้ แค่ไหน? นี่คือ พระปัญญาคุณ ให้เราคลาย ความเป็นตัวตน จนกว่าจะมีความเข้าใจ เพิ่มขึ้นๆ
สัญญา ที่มั่นคง ต้องเข้าใจ เด็กก็พูดได้ ว่าขณะนี้มี "แข็ง" แต่ความเข้าใจแข็ง แค่ไหน? คนที่ฟังธรรมะ ก็พูดได้ ว่าขณะนี้มีแข็ง แต่ ความเข้าใจแข็ง คือ อะไร? เป็นธรรมะ หรือเปล่า?เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้น และ จิตอะไร? ที่รู้แข็ง นี่เราข้าม จักขุวิญญาณ มาถึงกายวิญญาณ
เพราะฉะนั้น คนที่กำลังเข้าใจจริงๆ ว่า ชั่วขณะที่ "แข็ง...ปรากฏ" นั่นคือ ขณะที่ "อุปปัตติ" นอกจากนั้นแล้ว ไม่ใช่อุปปัตติ แต่มันปนกันเยอะมาก "อุปปัตติ" นิดหนึ่ง "นิพพัตติ" ตั้งเยอะแยะไปหมดเลย "อุปปัตติ" มาอีกนิดหนึ่ง "นิพพัตติ" ไปหมดเลย แล้วจะเอาใครไปบอกว่า เขาเป็นอย่างไร? "เขา" เข้าใจ จริงหรือเปล่า?
เราไม่ต้องคิดถึง "คนอื่น" แต่เราคิดถึงว่า ความเข้าใจแท้จริง คือ อย่างนี้ สำหรับ คนที่ได้ยินอย่างนี้ สำหรับ คนที่พูดอย่างนี้ จะได้รู้ความจริงว่า พูดแล้ว เข้าใจ แค่ไหน? "จำคำ" ก็จำไปเถอะ แต่ว่า เข้าใจ แค่ไหน?
พี่แอ๊ว (ฟองจันทร์) ถ้าเช่นนั้น ความเข้าใจขั้นการฟัง ก็จะนำไปสู่ ความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ ไม่มีความเข้าใจขั้นการฟังจริงๆ อย่าไปคิดเลย ว่าจะมี สติปัฏฐาน ใช้ชื่อได้ แต่ ไม่ใช่
พี่แอ๊ว เมื่อกี้นี้ ท่านอาจารย์พูดถึง มั่นคง
ท่านอาจารย์ ให้รู้ตัวเอง
พี่แอ๊ว มั่นคงนี่ หมายถึง จะถึงระดับขั้น ในความมั่นคงตรงไหน?
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ เข้าใจ จักขุวิญญาณ ทำทัศนกิจ "อุปปัตติ" "จิตอื่น" นอกจากจิตดวงนี้ ไม่ใช่ มั่นคงแล้ว ใช่ไหม? นี่คือ ความเข้าใจ มั่นคงขั้นฟังเรื่องนี้ เรื่องนี้นะ เรื่องนี้ ไม่เปลี่ยนแน่ แต่ว่า "เรื่องอื่น" มั่นคงหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ จึงต้องรู้ว่า เราเข้าใจมั่นคง ไม่ต้องอาศัยตำรา ไม่อาศัยไปเปิดคำแปล ไม่ต้องอาศัยเลย และ ความมั่นคงอันนี้ ถึงจะค่อยๆ ปรุงแต่ง เมื่อไหร่จะเกิดระลึกได้ หรือว่า เข้าใจ โดยไม่ต้องมาพูดกันอีกเลย นิพพัตติ อุปปัตติ ก็ไม่ต้องพูด
เหมือนอย่างตอนที่พระพุทธเจ้า บำเพ็ญพระบารมีมา แล้วตรัสรู้ ท่านจะต้องมานั่งทบทวนไหม? ว่านี่อะไร? แต่ สภาพธรรมะนั้น ประจักษ์ แล้วความรู้ขณะนั้น มาจากไหน? ก็ต้องมาจาก "ฟัง" หรือว่า สะสมจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มา จนกระทั่งเกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เราถึงจะรู้ได้ ว่าเราฟังธรรมะ เรามีความเข้าใจ แค่ไหน?
ตำราน่ะ เยอะ พูดก็เยอะ ๔๕ พรรษา แต่ว่า พระไตรปิฎกสักเล่มหนึ่ง ที่ใครจะอ่านแล้ว เข้าใจจริงๆ ทั้งหมดนี่ ไม่มี แม้แต่ อุปปัตติ นิพพัตติ นี่ อยู่ที่ไหน? ก็เข้าใจแค่นี้ แต่ถ้าพูดถึง สัญญา ความจำที่มั่นคง ไม่ใช่เพียงจำ ถ้าเพียงจำ มันก็จำชื่อ จำชื่อ เดี๋ยวก็ลืม วันหนึ่งก็ เอ...คนนั้น ชื่ออะไร? ใช่ไหม? แม้แต่ชื่อยังลืมได้ ถ้าจำ แต่ถ้าเป็น ความเข้าใจ ความเข้าใจนั้น จะไม่เปลี่ยน ถ้า เข้าใจจริงๆ
อย่างวันนี้ ถึงต่อไปข้างหน้า ใครถามเรื่อง อุปปัตติ นิพพัตติ หรือไม่ถาม ก็สามารถเข้าใจได้ว่า ณ ขณะนั้น มีความมั่นคงเพราะเหตุว่า ไม่ต้องไปท่อง แต่ว่า "เข้าใจ" เฉพาะ "เรื่องนี้" นะ เฉพาะ "คำนี้" นะ "ความเข้าใจ" ไม่ใช่ "ความจำ" และ เราเอง เป็นคนที่รู้ว่า เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า?
และ ความเข้าใจของเรานี้ ระดับไหน? คนอื่น บอกเราไม่ได้เลย ถึงแม้ตัวเรา ก็ไม่ได้มาวางกฏ ว่าขณะนี้ เรารู้ขั้นนั้น ขั้นนี้แต่ ความเข้าใจ ก็เป็น ความเข้าใจ ซึ่งเราก็รู้ได้ ว่า ไม่ใช่เป็นการ ประจักษ์แจ้ง ขณะนี้ เราพูดถึงเรื่อง อุปปัตติ นิพพัตติ แต่ ขณะนี้ ก็มี "จิตเห็น" ซึ่งยังไม่ได้ไปรู้เลย ใช่ไหม? ยังไม่ได้ไป "รู้" จิตเห็นเลย เพียงแต่รู้ว่า จิตเห็นนี้ ไม่ใช่นิพพัตติ ชาติหน้า ได้ยินอีก เข้าใจได้ง่าย แต่พอไม่มีใครพูดถึงเลย มันก็อยู่ในใจ ที่จะเข้าใจ อย่างน้อยที่สุด เวลาที่เข้าใจแล้วนี้ไม่เปลี่ยน ให้กลับไปไม่รู้ ได้ไหม?
ฟังพระธรรม แล้วรู้ว่ายาก คือ บุญกุศลอย่างยิ่ง ที่ไม่ประมาท ว่าง่าย
อาจารย์อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ สิ่งที่ท่านแสดง อุปปัตติ นิพพัตติ นี้เป็นประโยชน์มาก ที่ว่า ให้เข้าใจเลยว่า ที่เห็นนี้ "เห็นจริงๆ " เห็น ตรงๆ
ท่านอาจารย์ ใช่
อาจารย์อรรณพ เห็นจริงๆ เห็นตรงๆ เลย
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ
อาจารย์อรรณพ แล้วผมก็มาคิดว่า อย่างเช่น เราฝัน เวลาฝัน ต่อให้เหมือนจริงแค่ไหนก็ตาม ถ้ายังไม่ตื่น ก็นึกว่าจริง ฝันไปยาวเลย สนุกสนาน
ท่านอาจารย์ เห็นทุกอย่างเลย
อาจารย์อรรณพ เห็นทุกอย่าง ได้ยิน ท่านอาจารย์ครับ ผมเป็นพวกชอบเล่นดนตรีไทย ทีนี้ผมฝันว่าได้ยินเสียงไพเราะ ทำนอง เหมือนทั้งเสียง ทั้งทำนอง นี่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ เพราะมาก ในฝันยังเพราะแค่นั้น แต่ ไม่ใช่อุปปัตติ
อาจารย์อรรณพ ใช่ครับ แต่ตอนที่ยังไม่ตื่นนะครับ ก็ต่อเนื่องไป พอเราตื่น ทำไมเราถึงรู้ ว่าเราฝัน เพราะว่า ไม่ใช่ได้ยินจริงๆ ไม่มี อุปปัตติ ที่มีการได้ยินเสียงนั้น
ท่านอาจารย์ ใช่
อาจารย์อรรณพ เพราะฉะนั้น ทุกคนนี่ รู้เลยว่า ฝันกับตื่น นี้ต่างกัน เพราะไม่มีอุปปัตติในฝัน
ท่านอาจารย์ ใช่ แล้วลองต่อไปอีก นะคะ เกิดมาปุ๊บนี่ ยังไม่มีหรอก อุปปัตติ เห็นไหม? เกิดมา ยังไม่มีอะไรอุบัติ ไม่เห็น แท้ๆ อย่างนี้เลย
ในขณะแรก ของปฏิสนธิจิต ภวังค์จิตก็เกิดต่อไป มโนทวาร ก็มีความติดข้อง ในความเป็นภพ เป็นชาติ ทันทีที่รู้สึกตัว ก็ยังไม่มีอุปปัตติ ยังไม่เห็นจริงๆ ยังไม่ได้ยินจริงๆ
แล้วลองคิดสิ จากไม่มี มาเกิด "เห็น" มาแล้ว เรื่องยาวเลย นี่แหละๆ ยาวมาก ดูโทรทัศน์ ก็ยิ่งยาวๆ ๆ ๆ ออกไป เห็นไหม?เพราะฉะนั้น ทุกอย่างนี้ มาจากแค่ "อุปปัตติ"
๑ ทาง นะคะ (ทางตา) เอ้า ทางหูเข้ามาอีก อีก ๑ ทางจมูกเข้ามาอีก ๑ ทางลิ้นอีก ๑ ทางกายเข้ามาอีก ครบ
อยู่แค่นี้ กามคุณ แล้วก็เป็นความพอใจของเรา ทั้งหมด ไม่พ้น แค่นี้ แค่นี้ ทำไมมีอำนาจมาก? มากมาย นักหนา? แต่มันมีจริงๆ เพราะ ไม่รู้
นี่ค่ะ กว่าจะได้ฟังธรรมะ แล้วรู้ว่า นี่คือ ธรรมะ ที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดง ต้องเป็นความเข้าใจขึ้น เพื่อละ ความไม่รู้
ส่วนเรื่องจะไปสติปัฏฐานนั้น อย่าเพิ่งไปพูดเลย ถ้ามี ก็รู้เอง เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็รู้ความต่างเมื่อนั้น เพราะ มีปัจจัยพอ ที่จะเกิด
อาจารย์อรรณพ ครับ ท่านอาจารย์ ก็พูดไว้ ก็ยังมีอยู่ในธรรมะเตือนใจ ข้อหนึ่ง อุปปัตติ นิพพัตติ ท่านอาจารย์บอกว่า เห็นจะๆ อย่างนี้ ตรงๆ อย่างนี้แหละ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 127
ความบางตอนจากพาหิยสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟังเมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มีในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์.
เพราะฉะนั้น ผมก็คิดว่า พอตอนหลับ ยังไม่มีอุปปัตติ นิพพัตติ พอตื่นมา มีอุปปัตติ สลับ เราก็รู้เลยว่า เมื่อกี้นี้ ฝันไปทั้งนั้นเลย ไม่ว่า จะฝันว่า เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส อร่อย
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ก็มาถึงขณะนี้ ใช่ไหม? อุปปัตติ นิดเดียว แล้วเรารู้หรือเปล่า?
อาจารย์อรรณพ นั่นสิครับ
ท่านอาจารย์ เห็นไม๊คะ? ยังไม่รู้เลย ว่า อยู่ในโลกของ นิพพัตติ นี้ มาก แสนมาก
อาจารย์อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ทีนี้ ความจำ สัญญา ความจำ ความคิด เหมือนเป็นจริงไปเลย เหมือนกับเราฝัน ตอนนี้ เหมือนกับฝัน หรือตอนที่ฝันจริงๆ ก็เหมือนได้เห็น ได้ลิ้มรส ได้อะไรต่ออะไร จริงๆ แสดงว่า ความจำ แล้วก็ทำให้เกิด นิพพัตติ ต่างๆ นี้ มีความสำคัญ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คำ แต่ละ คำ ที่ทรงแสดง ก็จะมี ความหมาย แต่ละอย่าง เช่น ฝัน ขณะนั้น ทุกคนก็รู้จักแต่...เดี๋ยวนี้... ฝันหรือเปล่า?
อาจารย์อรรณพ อันนี้ก็ลึกลง
ท่านอาจารย์ นี่ เห็นไหม? ต้องอีกระดับหนึ่งแล้ว เพราะอะไร? ถึงว่า เหมือนฝัน? หมดแล้ว แต่ว่า ใครรู้?
ต้องเป็นปัญญา ที่สามารถที่จะรู้ความจริง ถึงจะกล่าวได้ว่า หลับ หรือ ตื่น ก็คือ ชั่ว หนึ่งขณะ ที่จิต เกิดขึ้น แล้วดับ
เพราะขณะนั้น ยังไม่ได้รู้ ลักษณะ ที่ไม่ใช่เรา จึงไม่ตื่น เพราะว่า ในฝัน พอตื่น ไม่มีแล้ว ความจริง ไม่ใช่ความฝัน รู้เลย ว่าไม่ใช่ความจริง เพราะฝัน
แต่ทีนี้ อีกระดับหนึ่งนี่ เดี๋ยวนี้ ก็กำลังฝัน เพราะเหตุว่า เหมือนในฝันเลย คือว่า หมดแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย
เพราะฉะนั้น ฝันไป ในแสนโกฏิกัปป์ จนกว่าจะตื่น แล้วก็รู้ความจริง จนกว่าจะตื่น โดยสมบูรณ์ คือว่า กิเลสดับหมด
อาจารย์อรรณพ คือ ตอนนี้ ตื่นอยู่นี่ แต่ไม่รู้ ตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เหมือนฝัน เหมือนเลยค่ะ หลงไป ว่าฝันสนุก ฝันว่า มาโน่น มานี่ เราก็ฝัน ฝันว่า มาที่สังขละฯ กลับไปกรุงเทพฯ ก็ไม่เหลือ สังขละฯ อยู่ที่ไหน?
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณ และ กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการ ของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องเป็นปัญญา
ที่สามารถที่จะรู้ความจริง
ถึงจะกล่าวได้ว่า
หลับ หรือ ตื่น
ก็คือ
ชั่ว หนึ่งขณะ ที่จิต เกิดขึ้น แล้วดับ
ภาพงดงาม เก็บบรรยากาศ ครบถ้วน พร้อมธรรมดีๆ
ขออนุโมทนาพี่วันชัย มา ณ ที่นี่ด้วย ครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณ และ กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการ
ของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณ และ กราบอนุโมทนา
อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
(คุณยายผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม)
และ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง ครับ
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ
ขออนุโมทนาครับ
อนุโมทนาในกุศลทุกๆ คนค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระุคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณ และ กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการ
ของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม และคณะทุกๆ ท่าน
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัย ที่นำสิ่งดีๆ มาให้ได้อนุโมทนากันด้วย ณ ที่นี้ครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ