หนทางปรกติของการอบรมเจริญปัญญา - อัตตสัญญาคืออะไร ตอนที่ 2-11 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]
โดย wittawat  9 พ.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30840

ถาม: อัตตสัญญา ที่หมายถึง ความจำผิดว่ามีตัวตน คืออะไร

อ.สุจินต์: อัตตสัญญา คือ ความจำ (สัญญา) ที่ยึดติดกับความคิดที่เป็นเรา เป็นตัวตน (อัตตา) ก็เป็นความเข้าใจผิดว่ามีตัวตน

เราไม่จำเป็นต้องสงสัยเรื่องอัตตสัญญา เพราะเราคุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อผู้นั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน ความเห็นผิดที่ยึดถือว่าความจริงเป็นเรา เป็นบุคคล เป็นตัวตนจะดับเป็นสมุจเฉท อย่างไรก็ต้องมีอัตตสัญญาแน่ ถ้าผู้นั้นไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีความไม่รู้และความเห็นผิดถ้าสติยังไม่เกิดขึ้น

ถ้าไม่มีสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแต่ละทวารแต่ละขณะ ความเห็นผิดก็สำคัญผิดว่าความจริงที่ปรากฏรวมกัน ว่าเป็นสิ่งที่ประชุมกัน เป็น"ฆนะ (กลุ่มก้อน) " เป็นบางสิ่งที่คงอยู่ เป็นอัตตา เป็นตัวตน ตัวเรา ถ้าในขณะนี้ยังไม่ได้รู้สิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ก็ต้องมีอัตตสัญญา ความจำหรือความเข้าใจผิดว่าเป็น "ฉัน" ที่กำลังเห็น และสิ่งที่ถูกเห็น ก็เป็นเรา ตัวตน บุคคล

ถ้าใครมีเพียงความรู้ขั้นปริยัติเรื่องของธรรม สิ่งที่มีจริง ซึ่งเกิดจากการฟังธรรม ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง เพราะเขาไม่ได้เข้าใจว่า สิ่งที่เขาเห็น และคิดว่าเป็นคน ที่คิดว่าเป็นตัวตน แท้จริงเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะมีปรกติพิจารณาในธรรมที่ได้ฟังได้ศึกษา ควรที่จะศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งโดยประการทั้งปวง เพราะหนทางนี้เท่านั้นที่ความหมายของคำที่อธิบายลักษณะของความจริงสามารถที่จะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น

คำว่า "ที่ปรากฏผ่านทางตา" อธิบายลักษณะของ "สิ่งที่ปรากฏทางตา" ได้อย่างเหมาะสมที่สุด อธิบายว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียง ธาตุที่ปรากฏผ่านทางตาซึ่งสามารถที่จะเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร แดง เขียว น้ำเงิน เหลือง ขา สว่าง มืด ก็ต้องปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทรูป

เมื่อใครก็ตาม หลังจากที่เห็นสิ่งที่ปรากฏผ่านทางตา แล้วไม่ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ก็ต้องมีอัตตสัญญา เขาก็สำคัญสิ่งที่เห็นว่าเป็นคน ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อคนนั้นจดจ่ออยู่กับ สีต่างๆ ก็เป็นเหตุให้เขาคิด เรื่องของ "กลุ่มก้อน" รูปร่าง สัณฐาน และมีความจำ (สัญญา) กับรูปร่างภายนอกของบุคคลและสิ่งของ เสมือนว่าเขาเห็นคน ตัวตน หรือสิ่งของ แต่แท้จริงมีเพียงสีต่างๆ ที่ถูกเห็น เช่น สีดำ สีขาว สีของผิว สีแดง หรือ สีเหลือง ถ้าคนไม่ได้แปลสีต่างๆ เป็นรูปร่าง สัณฐาน ก็จะไม่คิดว่าสีนั้นๆ เป็นตัวตน เป็นคน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็น และคิดต่อเป็นรูปร่าง สัณฐาน เป็นนิมิต (รูปร่างภายนอกทั้งหมด) และอนุพยัญชนะ (รูปร่างในส่วนละเอียด) ก็ควรที่จะทราบว่าสิ่งนี้ปรากฏเพราะสีปรากฏ เมื่อสีปรากฏ และคิดเรื่องของสี แปลสี เป็นรูป และสัณฐานของสิ่งต่างๆ

ถ้าสติเกิดขึ้น และระลึกรู้สภาพธรรม และปัญญาเริ่มศึกษาลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง ผู้นั้นก็จะเริ่มเข้าใจว่านิมิต และอนุพยัญชนะ สีต่างๆ ทั้งหมด เป็นเพียงสิ่ที่ปรากฏผ่านทางตา ไม่ใช่อย่างอื่น ต่อจากนั้นปัญญาจะเริ่มแทงตลอดลักษณะของความจริงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล

ถ้าเป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญสติ ผู้นั้นจะเข้าใจความหมายของพุทธพจน์ที่อธิบายว่า "ผู้นั้นจะไม่ยึดติดกับนิมิต และอนุพยัญชนะ ก็ด้วยการอบรมเจริญความเข้าใจความจริงซึ่งปรากฏตามปรกติ"

ข้อความนี้แปลจาก...The Natural Way of Development - What is atta-sanna, remembrance of self? - I

อ่านตอนอื่นๆ ได้จากลิงค์นี้

ตอนที่ 1 - สมถและวิปัสนา

ตอนที่ 2 - อัตตสัญญาคืออะไร (1)

ตอนที่ 3 - อัตตสัญญาคืออะไร (2)

ตอนที่ 4 - ควรทำอะไรให้เข้าใจมากขึ้น

ตอนที่ 5 - ช่วยอธิบายหน่อยว่าระลึกอย่างไร

ตอนที่ 6 - การรวมกลุ่มวิธีปฏิบัติก็คือการหวังผล

ตอนที่ 7 - ความรู้ตามตำราและความรู้ระดับวิปัสสนาญาน

ตอนที่ 8 - ควรระลึกอย่างไร

ตอนที่ 9 - เช่นเดียวกับการจับด้ามมีด

ตอนที่ 10 - ข้อประพฤติปฏิบัติที่เป็นปรกติและไม่เป็นปรกติ

ตอนที่ 11 - ธรรมนั้นปฏิบัติกิจของตนเองตามปรกติ