เรียนถามแนวทางการศึกษา และความเข้าใจจากการศึกษาธรรมะ
โดย bsomsuda  1 ม.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 14955

ขอเรียนถามพี่ๆ ที่เมตตาทุกคน

ว่าแนวทางการศึกษาธรรมะและความเข้าใจต่อไปนี้เป็นไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่คะ

เริ่มจากที่มีศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ว่า เป็นสามารถช่วยบรรเทาทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ จนถึงนำสู่ความดับทุกข์ได้ จึงหมั่นศึกษาธรรมะ เพื่อ ลดละ "ความเป็น เรา"

ด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม และเรื่องราวของธรรมะโดยละเอียด ด้วยการฟัง อ่าน สอบถาม และสนทนาธรรมกับกัลยาณมิตร เรื่องที่ศึกษาเป็นพิเศษ ได้แก่

- เรื่องสติ และปัจจัยเกื้อกูลให้สติเกิด

- เรื่องปัญญา และปัจจัยเกื้อกูลให้ปัญญาเกิด

- เรื่องรูป-นาม ได้แก่ จิตและเจตสิกต่างๆ รูปต่างๆ และนิพพาน

- เรื่องปัจจัย

- เรื่องกรรม

พร้อมกับหมั่นศึกษา "ธรรมะที่ปรากฎในขณะนี้" ทางทวารทั้ง 6 เพื่อเจริญปัญญาให้รู้ว่า..ธรรมะที่ปรากฎ "ไม่ใช่ตัวตน" แต่เป็นเพียง "รูป" และ "นาม" ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ

และเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้รูปและนามเกิดขึ้น ก็คือ กรรม แต่เมื่อรูปและนามเกิดขึ้นรับผลของกรรมแล้ว หลังจากนั้น อย่างรวดเร็วมาก อกุศลธรรมต่างๆ ที่สะสมมาหนาแน่น ก็จะปรุงแต่งให้จิตเป็นอกุศล

ดังนั้น ตลอดทั้งวัน หากสติไม่ระลึก ชวนจิตก็จะมีแต่โลภะ คือ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิด ท่านอาจารย์กล่าวให้ฟังเมื่อคราวที่ไปสนทนาธรรมที่ศุภาลัยรีสอร์ท จ.สระบุรี ว่า "โลภะแทรกอยู่ แม้ในช่องว่างระหว่างกลาปต่างๆ "

แต่ขณะที่สติระลึก ปัญญารู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง ก็จะช่วยลดทอนกำลังการสะสมของโลภะ โทสะ โมหะ และลด "ความเป็นเรา" เมื่อ "ความเป็นเรา" น้อยลง ก็จะ "ทุกข์" น้อยลงหากความเข้าใจนี้บกพร่อง ผิดพลาดหรือผิดแนวทางอย่างไรขอความกรุณาพี่ๆ ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

ขอบพระคุณมากมากค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 2 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย วิริยะ  วันที่ 2 ม.ค. 2553

เจ้าของกระทู้สรุปได้ดีเข้าใจง่ายจังเลยค่ะ ไม่มีอะไรจะแนะนำเลย มีแต่จะทำตามนั้น

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 2 ม.ค. 2553

ขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย พุทธรักษา  วันที่ 2 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาและขออนุญาตร่วมสนทนาในประเด็นของ "โลภะ" และ "ศรัทธา" (อริยทรัพย์)

โลภะเข้าใจว่า โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง มีความละเอียดมาก แม้ขณะที่มีก็ไม่รู้ว่ามี บางครั้งก็เข้าใจผิดว่าไม่มี ดังนั้น เข้าใจว่า ท่านเปรียบเทียบความละเอียดของโลภะที่เกิดอยู่ตามปกติ ซึ่งมีการสะสมโลภะมากเป็นปกติในชีวิตประจำวันเปรียบเสมือน แทรกอยู่ระหว่างกลาป (อณูที่เล็กที่สุด) โลภจึงเป็นอกุศลธรรมที่ละยากมาก เพราะเป็นความพอใจ ติดข้อง นั่นเองแต่ตราบใด ที่ยังมีหนทางในการดับทุกข์ ความดับทุกข์ย่อมเกิดได้ คือเริ่มต้นด้วย "ความศรัทธา" โดยการเห็นคุณค่าของพระธรรม ศึกษาพระสัทธรรม ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การอ่าน การพิจารณา เพียรน้อมนำมาประพฤติ เท่าที่กำลังปัญญาและกุศลธรรมอื่นๆ อันเป็นเหตุปัจจัย

ในพระไตรปิฎก มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคฯ กล่าวถึง "ความศรัทธา" ซึ่งเป็นหนึ่งในอริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์ที่สามารถสะสมไปได้ถึงชาติต่อไปไม่เหมือนทรัพย์อื่นๆ ที่สูญหายไปได้ หรือโจรขโมยไปได้ เป็นต้น ผู้ใดมีไว้ก็เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่นำมาซึ่งความเจริญของกุศลธรรมระดับแรก จนสูงสุดคือ ความดับทุกข์ คือ พระนิพพาน อริยทรัพย์ ๗ ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา หิริ และ โอตตัปปะ

ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ [ชราสูตร]


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 2 ม.ค. 2553

ดังนั้น ตลอดทั้งวัน หากสติไม่ระลึก ชวนจิตก็จะมีแต่โลภะ คือความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิด ท่านอาจารย์กล่าวให้ฟังเมื่อคราวที่ไปสนทนาธรรมที่ศุภาลัยรีสอร์ท จ.สระบุรี ว่า

"...โลภะแทรกอยู่ แม้ในช่องว่างระหว่างกลาปต่างๆ " ท่านอาจารย์เปรียบเทียบให้เห็นว่า โลภะนั้นช่างแนบเนียน ช่างหลอกล่อ เป็นเพื่อนที่ติดตามไปทุกแห่ง ที่แท้โลภะสะสมอยู่ที่จิต

ขออนุโมทนาคุณสมสุดาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Pinyapachaya  วันที่ 3 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ เป็นแนวทางที่ดิฉันขอประพฤติตามนะคะ


ความคิดเห็น 7    โดย narong.p  วันที่ 4 ม.ค. 2553

"เมื่อ "ความเป็นเรา" น้อยลง ก็จะ "ทุกข์" น้อยลง" ความเห็นของเจ้าของกระทู้ในประโยคข้างบนนี้ แสดงให้เห็นโลภะ ที่แทรกอยู่แม้ในช่องว่างระหว่างกลาปกำลังมาแล้วครับ ดังนั้น จึงต้องมั่นคงว่าการศึกษาพระธรรม ก็เพื่อ "ละ" "ละ"อะไร ละความไม่รู้ ละในขณะที่เข้าใจธรรมะที่ได้ยินได้ฟัง แม้ในขั้นฟังก็เริ่มละแล้วครับ ส่วนความทุกข์ที่น้อยลงนั้น เป็นผลที่ตามมาครับ จึงควรมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นว่า การศึกษาธรรม เพื่ออะไร ถ้าเพื่อได้{ (อยาก) ให้ความทุกข์น้อยลง} ก็จะกั้นการเจริญของปัญญา ครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย bsomsuda  วันที่ 4 ม.ค. 2553

- ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

- ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณ wannee.s คุณพุทธรักษา พี่เมตตา และคุณ narong.p ที่ช่วยให้ความเห็น คำแนะนำให้มีความเข้าใจพระธรรมลึกซึ้งขึ้น รวมถึงช่วยเตือนสติด้วยค่ะ จะหมั่นเตือนตนเสมอว่าศึกษาธรรมะ เพื่อ "ละ" ความไม่รู้ ความยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นตัวตนค่ะ

- ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งหากแนวทางศึกษาธรรมะที่แสดงมานี้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาธรรมะแก่ผู้ที่มีศรัทธาเช่นเดียวกัน


ความคิดเห็น 9    โดย Sam  วันที่ 4 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย narong.p  วันที่ 4 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาในศรัทธาของเจ้าของกระทู้ครับ ธรรมะนั้นลึกซึ้งมากเกินกว่าที่เราจะคิดเองได้ครับ ขอให้คุณbสมสุดา ศึกษาตามกำลังศรัทธาที่มี ไม่ต้องกังวลหรือคอยที่จะเตือนตน เพราะเป็นหน้าที่ของปัญญาเท่านั้นที่สามารถเตือนได้ครับ ความเป็นเราไม่สามารถเตือนได้ครับ ตราบใดที่ความเข้าใจยังไม่เกิด ก็ยังไม่เตือนครับ ศึกษาธรรม แล้วต้องเป็นปกติครับและไม่ต้องคิดที่จะทำอะไร เพราะนั่นตัวตนมาแล้วครับ "ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง"เท่านั้น ซึ่งข้อความนี้เหมือนจะเข้าใจไม่ยาก แต่จริงๆ นั้้นก็ไม่ง่ายที่จะเข้าใจได้ ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นๆ ครับ เร็วไม่ได้ เหมือนการจับด้ามมีด เป็นต้น

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย bsomsuda  วันที่ 6 ม.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 6 ม.ค. 2553

"ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง" เท่านั้น ซึ่งข้อความนี้เหมือนจะเข้าใจไม่ยาก แต่จริงๆ นั้้นก็ไม่ง่ายที่จะเข้าใจได้

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 13    โดย เมตตา  วันที่ 7 ม.ค. 2553

"ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง" เท่านั้น ซึ่งข้อความนี้เหมือนจะเข้าใจไม่ยาก แต่จริงๆ นั้นก็ไม่ง่ายที่จะเข้าใจได้ เห็นด้วยกับคุณวันชัยอย่างมากค่ะ จริงๆ แล้วสิ่งที่ได้ฟังนั้นไม่ง่ายที่จะเข้าใจ

พระธรรมนั้นยากที่จะเข้าใจ ไม่เช่นนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคงไม่ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขย แสนกัปป์ กว่าที่จะตรัสรู้ความจริง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย รากไม้  วันที่ 23 ม.ค. 2553

ควรเริ่มจาก ง่ายที่สุด เสียก่อน คือ ศึกษา ในส่วนที่เราเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เข้าใจได้จริงๆ เสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นการสะสม "ความไม่รู้" ซึ่งอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

ขออนุโมทนา ผู้มีจิตใฝ่ธรรมะ


ความคิดเห็น 15    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ