ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๓
โดย khampan.a  12 พ.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30849

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๓

~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดเป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้ทุกท่านรู้ตัวว่า ยังมีกิเลสอยู่มากๆ อย่าหลงผิดว่า ลดน้อยลงไปเยอะแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ กิเลสจะลดไม่ได้ และถ้าไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา กิเลสก็คงยังไม่ปรากฏให้รู้ได้ว่า ขณะนั้นสะสมอกุศลไว้มากมายเพียงไร
~ ก่อนที่จะว่าร้าย ทราบไหมว่า อกุศลจิตเกิดมากสักเท่าไร ต้องคิดอยู่ในใจแล้วนาน กว่าจะเปล่งคำที่จะว่าร้าย หรือที่จะเบียดเบียนกันทางวาจาออกมาได้
~ ถ้าความโกรธมีกำลัง กายก็จะมีการประทุษร้ายเบียดเบียน วาจาก็เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยคำพูดที่ไม่น่าฟัง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ในขณะที่คนโกรธจัดๆ ลักษณะอาการก็เหมือนคนบ้าที่ไม่ต่างกันเลย และวันหนึ่งๆ หรือชาติหนึ่งๆ หรือในอดีต มีใครที่เคยโกรธจัดๆ มากๆ ก็ลองย้อนนึกถึงในกาลนั้นว่า ลักษณะอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของคนที่บ้าโกรธคนอื่นนั่นเอง
~ น่าโกรธไหมคนอื่น? ลองคิดดู เป็น (เพราะ) กรรมของเราเองหรือเปล่า ที่ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ อย่าคิดว่าจากคนอื่น แม้แต่เสียงที่คนนั้นอาจจะมีเจตนา จงใจ ตั้งใจที่จะกล่าวคำให้ท่านกระทบกระเทือนใจ แต่ถ้าไม่ใช่ (เพราะ) กรรมของท่านเองแล้ว ท่านจะไม่ได้ยินเสียงนั้นเลย อาจจะนอนหลับสนิท หรือแม้ได้ยินก็ผ่านไป ไม่สนใจ มีหู ก็เหมือนหูหนวก คือ ไม่สนใจคำที่จะทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่สบาย และถ้าระลึกได้ว่า เป็น (เพราะ) กรรมของเรา และในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงเสียงซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง แต่สัญญา ความจำในความเป็นตัวตน ในความเป็นสัตว์ ในความเป็นบุคคล ทำให้ไม่ลืมแล้วก็คิด แล้วก็โกรธคนอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ
~ อาการโกรธ กระด้าง ผิดปกติ ธรรมดาๆ ไม่โกรธ ก็ดูดี ไม่เป็นอะไร แต่พอขุ่นขึ้นมานิดเดียว ความกระด้างปรากฏ
~ ไม่มีใครปรารถนาทุกข์ แต่ทุกคนมีทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ เหตุของทุกข์คือโลภะ นั่นเอง เมื่อมีความปรารถนาสุข เมื่อมีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไม่ได้ความสุขที่ต้องการ ขณะนั้นจึงเป็นทุกข์ แต่ลองคิดถึงผู้ที่ไม่มีความปรารถนาอะไรเลย ดับความปรารถนาหมด ผู้นั้นจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร
~ พุทธบริษัทฟังพระธรรม เพราะรู้ว่าผู้มีปัญญาตรัสรู้ธรรม ทรงแสดงให้คนที่ไม่รู้ฟัง เพราะฉะนั้นทุกคนที่ฟังพระธรรม ต้องรู้ว่าก่อนฟัง เป็นคนที่ไม่รู้อะไร
ไม่เข้าใจอะไร เพราะฉะนั้นฟังเพื่อให้รู้
~ ทุกคนสงสารเหลือเกินคนที่ถูกไฟลวกเผา แต่ทำไมสงสารเขาช้าจัง ทำไมไม่สงสารตอนที่เขาทำอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องถูกเผา เพราะว่าถ้าเขาไม่เคยมีอกุศลกรรมมาก่อน เขาจะไม่ได้รับวิบากกรรมอย่างนี้
~ จิตใจของคนส่วนใหญ่แล้วอกุศลทั้งนั้น ทั้งวัน โอกาสของกุศลน้อยมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอธิษฐานบารมี ก็เป็นผู้รู้ตัวว่า กิเลสยังเยอะ เพราะฉะนั้นยังจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้ว ก็จะพลาดให้อกุศลทุกที นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเห็นความสำคัญของจิตใจไม่หวั่นไหว เมื่อมีความตั้งใจที่จะเจริญกุศล และเมื่อมีโอกาสที่จะทำกุศล ความตั้งใจมั่นนั้นก็เป็นปัจจัยทำให้กุศลนั้นเกิดและสำเร็จได้
~ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม และทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่อยู่ในตำราเลย ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม ทางหูที่กำลังได้ยิน ความคิดนึก ล้วนเป็นธรรมทั้งนั้น เพื่อจะเตือนให้เราทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่เราอาศัยการฟัง หรือการอ่าน หรือการสนทนา เพื่อที่จะช่วยให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
~ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือว่าต้องเป็นผู้ที่สำรวจตัวเองเสมอ เมื่อฟังแล้วได้ประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า ถ้าฟังแล้วก็ยังเป็นอกุศลมากมายอยู่ ยังคิดเหมือนเดิม อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่า ได้ประโยชน์จากพระธรรม แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เกิดกุศลจิตเพิ่มขึ้นในแต่ละทางจึงเป็นผู้ที่ชื่อว่า ได้ประโยชน์จากพระธรรม
~ ต้องเป็นผู้ที่กล้า และรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถึงจะได้ประโยชน์จากความรู้นั้น ถ้าเห็นว่าตัวเองดีแล้ว ไม่มีทางที่จะต้องทำอะไรอีกต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้ว่าตัวเองไม่ดี เมื่อนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะคนอื่นไม่สามารถที่จะละความไม่ดีนั้นได้ นอกจากปัญญาของตัวเอง
~ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพสักการบูชาสูงสุด เพราะเหตุว่า สามารถจะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในสังสารวัฏฏ์ แต่ละคำไม่ประมาทเลย ความเข้าใจวันนี้ ฟังต่อไป ไตร่ตรองต่อไป จะมีความเข้าใจขึ้นแน่นอน และก็มั่นคงขึ้นด้วย แต่ถ้าขาดการฟังก็เหมือนเดิม คิดเอง ผิดด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างชัดเจน
~ ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างละเอียด แล้วเห็นอกุศลธรรม เห็นกิเลสของตนเอง ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท และจะไม่คิดว่าตัวเองดีพอแล้วเพราะเหตุว่าถ้าคิดว่าดีพอแล้ว กุศลก็ทำมากแล้ว ก็จะไม่ทำให้เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าเทียบกันแล้วระหว่างกุศลและอกุศล โดยสภาพของความเป็นปุถุชน กุศลมากเท่าไรก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเห็นอกุศลของตนเองโดยละเอียดยิ่งขึ้น
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำต้องไตร่ตรองและเป็นผู้ตรงต่อความจริง เป็นผู้ที่มีเหตุผล
~ ถ้าจะรับมรดกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ เป็นผู้เริ่มฟังพระธรรม ซึ่งไม่ใช่คำของคนอื่น
~ สิ่งที่มีจริงนี้แหละ ทุกอย่างที่จริง เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ โดยที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระองค์
~ ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง จากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ก็ทรงแสดงความจริงของธรรมนั้นให้คนอื่นได้มีโอกาสได้รู้ด้วย จนกระทั่ง จากไม่รู้เลยเป็นรู้ขึ้น ทีละเล็กที่ละน้อยตรงตามที่ได้ฟัง น่าอัศจรรย์ไหม?
~ ความไม่รู้ มีไหม? มี กำลังไม่รู้ จะบอกว่าไม่มีความไม่รู้ได้อย่างไร
~ สิ่งที่มีค่าที่สุดคือความเข้าใจพระธรรม, จากโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะติดตามไปได้เลย แม้ร่างกายของเราที่เข้าใจว่าเป็นเราหรือของเรา
ก็ไปด้วยไม่ได้

~ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) มี เพราะไม่รู้ จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง
~ ความเข้าใจผิดทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด และทำลายประเทศชาติด้วย เต็มไปด้วยอกุศล ก็ลองคิดดูว่า จะดีได้อย่างไร
~ ความไม่รู้ เป็นอกุศล นำมาซึ่งความโลภ ความโกรธ ความริษยา ความสำคัญตน ทุกอย่างหมดที่จะทำลาย เพราะเหตุว่าไม่ได้นำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาให้เลย
~ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ทำลายอะไรก่อน? ทำลายจิต เพราะกิเลสเกิดกับจิต จิตเศร้าหมอง ถูกทำลายไปเรื่อยๆ
~ คิดว่าทำร้ายคนอื่น หารู้ไหมว่า ก่อนทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตนเองแล้ว ถ้าเข้าใจถูกอย่างนี้จะดีขึ้นไหม จะไม่ทำร้ายใครแล้ว เพราะว่าการทำร้าย เกิดขึ้นจากจิตของเราที่เลวต่างหาก เพราะจิตเลว จึงสามารถทำสิ่งที่เลวได้ เพราะฉะนั้น โลกจะสงบขึ้นไหม ถ้าทุกคนเป็นคนดีเพิ่มขึ้น ประเทศชาติจะมั่นคงขึ้นไหม ถ้าทุกคนเป็นคนดีเพิ่มขึ้น
~ คำใดที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อการละ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการจะได้มา เพราะการได้มา ทั้งหมด เป็นเรื่องของความต้องการ เป็นเรื่องของความไม่รู้ แต่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ เป็นไปเพื่อละความไม่รู้ และละกิเลสอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
~ ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง แต่ถูกปกปิดไว้หมดด้วยคำที่ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระศาสนาจะรุ่งเรืองได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การที่ได้เข้าใจธรรม กล่าวคำจริง ด้วยความหวังดีที่เป็นกัลยาณมิตร ที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์? ควรกล่าวหรือไม่ควรกล่าว?
~ ต้องรู้ว่า ต้องเป็นความจริง จึงสมควรที่จะให้คนอื่นได้รับฟัง มิฉะนั้นแล้ว เขาก็เข้าใจผิด
~ เวลาที่มีการสละสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของเขา ถ้าสติไม่เกิดระลึกเป็นไปในการให้ จะไม่มีการให้เลย
~ กุศลเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ใช่เรา แต่สติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในกุศล
~ ผู้ที่มีการสะสมที่จะมีความเข้าใจผิด ไปไหน? ไม่ได้ไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่ไปไหน ไปหาคนอื่นที่มีชื่อเสียงที่คิดว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้น เป็นธาตุ (สิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน) ทั้งหมด ความไม่รู้กับความเห็นผิด ก็ไปตามความไม่รู้และความเห็นผิดซึ่งเกิดขึ้นนำไป
~ พระธรรม ยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง เพื่อให้คนได้เข้าใจถูก คนที่เห็นผิดจะได้รู้ว่าความจริงคืออย่างไร ที่ถูกคืออย่างไร เป็นประโยชน์สำหรับเขาที่จะไม่ไปหาความเห็นอื่น
~ ฟังพระธรรมเมื่อไหร่ คือ เข้าใกล้คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้น ไม่ไปสู่คำอื่น
~ ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ปัจฉิมวาจา คำสุดท้ายของพระองค์ คือ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ให้ถึงพร้อมหมายความว่า ฟังพระธรรมก็ต้องไม่ประมาทในความลึกซึ้งของพระธรรม เพราะถ้าประมาท ไม่เข้าใจทันที

~ แต่ละคนที่กล่าวคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ที่รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและกล่าวคำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ซึ่งจะทำให้หลายๆ คน ได้พ้นจากการที่จะสะสมความเห็นผิดต่อไปซึ่งไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว.

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๐๒


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย panasda  วันที่ 12 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย meenalovechoompoo  วันที่ 12 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย mammam929  วันที่ 12 พ.ค. 2562

กราบอนุโมทนากุศลจิตทุกขณะที่เข้าใจพระธรรมค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย j.jim  วันที่ 12 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย มกร  วันที่ 12 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย jaturong  วันที่ 13 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ประสาน  วันที่ 14 พ.ค. 2562

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 8    โดย nattawan  วันที่ 14 พ.ค. 2562

ไม่มีใครปรารถนาทุกข์ แต่ทุกคนมีทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ เหตุของทุกข์คือโลภะ นั่นเอง เมื่อมีความปรารถนาสุข เมื่อมีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไม่ได้ความสุขที่ต้องการ ขณะนั้นจึงเป็นทุกข์ แต่ลองคิดถึงผู้ที่ไม่มีความปรารถนาอะไรเลย ดับความปรารถนาหมด ผู้นั้นจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย kukeart  วันที่ 17 พ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย เจียมจิต สุขอินทร์  วันที่ 15 ส.ค. 2564

อนุโมทนาค่ะ