กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนา
โดย ckitipor  20 เม.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 3498

กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนา (ความจงใจ ความตั้งใจ) ที่เป็นกุศล (บุญ) หรืออกุศล (กิเลส) เป็นเหตุให้ทำกุศล หรือกรรม หรืออกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ เมื่อได้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมสำเร็จไปแล้ว กุศลหรืออกุศลกรรมนั้น จะเป็นปัจจัยให้เกิดผลตามสมควรแก่กรรมนั้นๆ การให้ผลของกรรมนั้น จะให้ผลได้ในชาติที่กระทำก็ได้ หรือจะให้ผลในชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไปก็ได้ ไม่ใช่กรรมทุกกรรมจะให้ผลได้ทั้งหมดในชาติที่กระทำกรรม เพราะกรรมสามารถติดตามไปให้ผลได้ตราบใดที่ยังไม่ได้ให้ผลหรือยังให้ผลไม่หมด เนื่องจาก กรรมจะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันไป
จากหนังสือ ..กรรมคำตอบของชีวิต โดย อัญญมณี มัลลิกะมาส



ความคิดเห็น 1    โดย chackapong  วันที่ 20 เม.ย. 2550

กรรมจะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันไป

การสะสมดังกล่าวที่ว่ามา มีลักษณะเป็นอย่างไร

เราจะทราบได้หรือไม่ด้วยปัญญาของปุถุชน


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 21 เม.ย. 2550

กรรมที่กระทำแล้วย่อมสะสมอยู่ในจิต โดยความเป็นกัมมปัจจัย คือ เมื่อได้เหตุอันควรย่อมให้วิบากเกิดขึ้น ต้องอาศัยปัญญาระดับพระพุทธองค์ จึงทราบรายละเอียด แต่ผู้ศึกษาตามย่อมรู้ได้ตามเหตุผลว่า กรรมย่อมไม่ไร้ผล และเมื่อมีวิบากเกิดขึ้นเพราะ มีกรรมเป็นปัจจัย


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 21 เม.ย. 2550

ถ้าคนที่รู้ว่าผลของทานมีจริงๆ คนนั้นจะไม่ให้ทาน ไม่มีเลย