ความหมายของ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ตามพระไตรปิฎก
โดย pdharma  21 พ.ย. 2562
หัวข้อหมายเลข 31314

อยากเรียนถาม ความหมายของ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ตามพระไตรปิฎก

๑. อดีต หมายถึง ชาติก่อนที่จะเกิดมาเป็นบุคคลในปัจจุบัน ปัจจุบัน หมายถึง ชาตินี้ที่กำลังเป็นบุคคลนี้ อนาคต หมายถึง ชาติหน้าหลังจากสิ้นชีวิตจากชาตินี้ หรือหมายถึง

๒. จิตที่ดับไปเมื่อกี้ เป็น อดีต จิตที่กำลังรู้อารมณ์ เป็น ปัจจุบัน จิตที่จะเกิดต่อไป เป็น อนาคต

และอยากทราบว่า "ปัจจุบัน" ที่เป็น ปัจจุบันขณะ นั้นหมายถึงอย่างไร เป็นขณะจิตที่เกิดเร็วและดับเร็วมาก จนไม่สามารถรับรู้ความเป็นปัจจุบันได้ หรือไม่ (เพราะเมื่อพิจารณาลมหายใจแล้ว เหมือนกับว่า มีแต่ความล่วงเลยดับไปตลอดเวลา)

ขอขอบพระคุณ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 22 พ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๖

ในขณะแห่งจิตอันเป็นอดีต บุคคล ชื่อว่า เป็นอยู่แล้ว มิใช่กำลังเป็นอยู่ มิใช่จักเป็นอยู่

ในขณะแห่งจิตอันเป็นอนาคต บุคคล ชื่อว่า จักเป็นอยู่ มิใช่เป็นอยู่แล้ว มิใช่กำลังเป็นอยู่

ในขณะแห่งจิตอันเป็นปัจจุบัน บุคคลชื่อว่า กำลังเป็นอยู่ มิใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่


พระธรรม ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้แต่ อตีต ก็คือ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับแล้ว แม้ในขณะนี้ ที่เกิดแล้วดับไปแล้ว ก็เป็นอดีต เป็นอดีตไปในแต่ละขณะ จากไม่มี แล้วเกิดมีตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป เป็นไม่มี ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ อนาคต คือ สภาพธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็จะเกิดขึ้นเป็นไป ส่วน ปัจจุบัน มีทั้งปัจจุบันขณะ ที่ขณะที่สภาพธรรมเกิดขึ้น ปัจจุบันสันตติ คือ ปัจจุบันโดยการสืบต่อ และ ปัจจุบันอัทธา หมายถึง ระยะยาว เช่น ตลอดชาตินี้ ตลอดปี ตลอดเดือน ตลอดสัปดาห์ ตลอดวัน ตลอดยาม เป็นต้น
ที่จะเป็นการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง นั้น ก็โดยปัจจุบันขณะ และ ปัจจุบันสันตติ ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดนึก ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย peem  วันที่ 23 พ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 17 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

พระไตรปิฎก ๙๑ เล่ม

การค้นหาข้อมูลจากพระไตรปิฎก