จตุปัจจัย และ ปัจจัย
โดย chatchai.k  6 ต.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25607

การถวายจตุปัจจัย และ ถวายปัจจัย แก่ภิกษุ

สองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 6 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จตุปัจจัย หมายถึงปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะ ยารักษาโรค ซึ่งเป็นปัจจัย หรือ สิ่งที่สมควร จำเป็นกับพระภิกษุ เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าปัจจัยที่ถูกต้องกับพระภิกษุ จึงหมายถึงปัจจัย 4 ประการนี้ครับ ส่วนปัจจัยที่คนสมัยนี้เข้าใจกัน คือเงินและทอง เป็นต้น ซึ่งไม่ได้อยู่ในปัจจัย 4 และเงินและทองก็เป็นโทษกับพระภิกษุเพราะทำให้ท่านต้องอาบัติเมื่อให้เงินและทองกับพระครับ เงินและทองจึงไม่ใช่ปัจจัยของพระภิกษุ ครับ

@ เงิน ทอง ย่อมสมควรกับเพศคฤหัสถ์ ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต เพราะบรรพชิตหมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วจากการกระทำดั่งเช่นคฤหัสถ์ ที่เคยทำมาไม่ว่าการจะใช้เงินและทอง การประกอบกิจการงานดั่งเช่นคฤหัสถ์ และเว้นทั่วซึ่งการกระทำที่ไม่ดีทางกาย วาจา และใจ อันมีพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นข้อกำหนดให้รักษา และเว้นทั่วจากกิเลสโดยประการทั้งปวง อันเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พระก็ไม่สามารถที่จะรับเงินและทองและใช้เงินทองได้ เพราะไม่เช่นนั้นพระภิกษุก็ไม่ต่างจากเพศคฤหัสถ์ที่มีการใช้เงินและทอง และเงินและทองเหล่านั้นก็มีการสะสมนำมาซึ่งความยินดี นำมาซึ่งการเพิ่มกิเลสอาสวะต่างๆ ได้ โดยไม่รู้ตัวเลย ครับ

สำคัญที่สุด ถ้าเราพิจารณาเป็นเรื่องราวว่าสิ่งนี้ควรกับสมัยนี้ สิ่งนี้ไม่ควร แต่เมื่อเราพิจารณาที่จิต สภาพจิตแล้ว ก็จะตรง คือ อกุศล การยินดี เงินทองของพระภิกษุ เป็นอกุศล อกุศลไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยุคสมัยไหนเลยครับ ไม่ว่าจะสมัยพุทธกาล สมัยปัจจุบัน และในอนาคตกาล อกุศลย่อมไม่สมควรในยุคสมัยไหนเลยครับการรับเงินและทองและยินดีเงินทอง ก็เป็นอกุศลธรรม และเงินและทองเป็นสิ่งที่ผู้ครองเรือนใช้กัน ต่างจากพระภิกษุผู้สละอาคารบ้านเรือนแล้ว ไม่สะสมอะไรทั้งสิ้นครับ

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ ๔๑๕

๕. สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา

ข้าพเจ้าละสมบัติไม่ใช่น้อย ออกบวชด้วย ศรัทธาอย่างนี้ในพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้า ทรงประกาศดีแล้ว. ข้อที่ละทิ้งเงินทองเสียแล้ว กลับมายึดเงินทองนั้นอีก ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าปรารถนาแต่ความไม่กังวลห่วงใย ผู้ใดละทิ้งเงินทองแล้วกลับมายึดเงินทองนั้นไว้อีก ผู้นั้นจะโงหัวขึ้นมาได้อย่างไร ในระหว่างบัณฑิตทั้งหลาย เงินและทองไม่มีเพื่อสันติความสงบสำหรับผู้นั้น เงินทองนั้นก็ไม่สมควรแก่สมณะ เงินทองนั้น ก็มิใช่อริยทรัพย์.

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 6 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมด้วยความจริงใจจริงๆ ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริงได้เลย และมีแต่จะผิดไปอีกมากมาย เพราะไม่ได้เข้าใจพระธรรม แม้แต่ในเรื่องของการถวายจตุปัจจัย ก็เป็นการถวายปัจจัย ๔ มีอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นที่อาศัยของบรรพชิต เกื้อกูลต่อความเป็นไปของชีวิตอันเหมาะควรแก่เพศที่สูงยิ่ง อันเป็นเพศที่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้าคฤหัสถ์ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ก็ไม่สามารถกระทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ อาจจะมีการให้ในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ภิกษุ เช่น ถวายเงิน เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตบรรพชิตหรือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม รับเงินไม่ได้

ดังนั้นการที่จะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา เกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และเมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ก็จะได้ไม่กระทำในสิ่งที่ผิด แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น การกระทำในสิ่งที่ถูกต้องก็จะไม่เป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 6 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย orawan.c  วันที่ 7 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย nopwong  วันที่ 9 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย peem  วันที่ 15 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย พจน์ ชนะสูงเนิน  วันที่ 11 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 11 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ