ขจัดอลัชชี-ธนบัตรนิยม ... โดยอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล
โดย มศพ.  19 มี.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 28687

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ปฏิรูปศาสนาขจัดอลัชชี-ธนบัตรนิยม

(หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๐)

จนถึงขณะนี้การติดตามตัว "ธัมมชโย" ยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะจับกุมตัวได้หรือไม่ ขณะเดียวกันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็กำลังตรวจสอบกรณีมีพระสงฆ์ในวัดธรรมกายอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเล่นหุ้นผ่านนอมินี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อไปก็คือ หลายฝ่ายเห็นแล้วว่าวงการพระสงฆ์และวงการพุทธศาสนาของไทยมีปัญหามากมาย และถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการ ปฏิรูปวงการพระสงฆ์-ปฏิรูปศาสนา ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่าจะต้องมีการปฏิรูปศาสนาอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ กรณีที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์เมื่อไม่นานมานี้ อันเป็นหนังสือที่เสนอแนะมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวมี อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในแวดวงพุทธศาสนาของไทยเป็นอย่างมากเป็นประธานกรรมการ และหนังสือดังกล่าวลงนามโดย จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-อดีตผู้พิพากษาชื่อดังในวงการตุลาการ-อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการมูลนิธิ

เพื่อให้ทราบที่มาที่ไปและรายละเอียดในข้อเสนอแนวทางการรักษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ตามที่มูลนิธิได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี อ.จรัญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เล่าที่มาที่ไปของข้อเสนอดังกล่าวไว้ว่า การดำเนินการเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่มีท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์เป็นประธานกรรมการ ผมเป็นคนที่ลงนามในหนังสือแทนมูลนิธิ เพราะว่าได้รับมอบหมายตามมติของมูลนิธิ แน่นอนก็เห็นคล้อยตามด้วย

ที่มาที่ไปของการทำหนังสือดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 49/2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมถ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีแนวทางว่าจะส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในสายเถรวาทให้มั่นคงยืนยาวให้นานที่สุด มูลนิธิที่ทำงานด้านนี้มาหลายสิบปีจึงคิดว่าจะเป็นการดี ในการเสนอความเห็นให้การดำรงอยู่ของพระธรรมวินัยยืนยาวได้มากที่สุด นำมาสู่การคิดวิเคราะห์และเสนอแนวทางดังกล่าว เมื่อถามถึงเหตุผลที่มีการเสนอปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่จะมีบทบัญญัติห้ามพระภิกษุรับมรดก จรัญ-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายที่มาที่ไปไว้ว่า จากการศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็จะได้รับข้อยุติสอดคล้องกันว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้พวกเราพุทธบริษัททั้ง 4 ถือพระธรรมวินัยเป็นประดุจศาสดาแทนท่านหลังจากได้ปรินิพพานไปแล้ว คือมอบให้พุทธบริษัททั้ง 4 ต้องร่วมกันคอยดูแล ทักท้วง เสนอแนะ ให้กิจการพุทธศาสนาเป็นไปตามพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง

เมื่อตั้งหลักนี้ไว้ พวกเราที่อยู่ในมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัยนี้แบบหาคำเปรียบเทียบมิได้ เราจึงตระหนักในภาระหน้าที่ของพวกเราที่ต้องหยิบยก จุดที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้พระธรรมวินัยดำรงยืนยาวนานมาเสนอแนะ และขจัดจุดอ่อนข้อด้อยที่ถูกนำมาเผยแพร่บิดเบือนพระธรรมวินัยหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า

เราเห็นว่าประชาชนฝ่ายเดียวไม่สามารถทำอะไรได้ จำเป็นต้องได้รับการเกื้อกูลสนับสนุนจากอาณาจักรด้วย เพราะหากไม่อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา โอกาสที่ศาสนาจะถูกอลัชชี คนที่ปลอมบวชเข้ามาใช้โอกาสบิดเบือนคำสอน บิดเบือนพระธรรมวินัยให้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก

ดังนั้นจึงมีการไปสำรวจกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมือง และได้พบว่าในส่วนของการปกครองคณะสงฆ์และส่วนของการบริหารจัดการศาสนสมบัติที่เป็นของส่วนรวมได้มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ แต่ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ไม่ได้แตะเรื่องสมบัติส่วนตัวของพระภิกษุเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเสื่อมเสียในพุทธศาสนาใหญ่บ้างเล็กบ้าง

จากการสำรวจได้พบว่า มีกฎหมายที่ทางบ้านเมืองบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุเพียงสองมาตราเท่านั้น คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 และมาตรา 1623 ซึ่งปรากฏเจตนารมณ์ชัดเจนเลยว่า ที่มีสองมาตรานี้อยู่ในกฎหมายของชาวบ้าน คือกฎหมายเกี่ยวกับมรดกก็เพื่อให้เป็นไปสอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ว่าทรัพย์สมบัติและเงินทองทั้งหลายในทางโลกเปรียบเสมือนงูพิษร้ายในทางพระธรรมวินัย โดยไม่ได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุสะสมทรัพย์สมบัติเอาไว้แต่อย่างใดเลย

โดยเฉพาะเงินและทองได้มีพุทธวจนะไว้ชัดเจนว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง แล้วก็ไปบัญญัติไว้ในพระวินัยซ้ำว่า ภิกษุใดไปรับเงินหรือทองมาเป็นการทำผิดพระวินัยในระดับ ปาจิตตีย์ ซึ่งแม้ไม่ถึงกับเป็นความผิดระดับปาราชิก แต่ก็เป็นความผิดระดับร้ายแรง และไม่ใช่ปาจิตตีย์ธรรมดา แต่เป็น นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ซึ่งเวลาปลงอาบัติให้พ้นจากอาบัติบทนี้ ภิกษุผู้นั้นจะต้องสละทิ้งเงินและทองที่ได้รับมานั้น จะนำไปมอบหรือโอนให้ใครคนใดคนหนึ่งก็ไม่ได้ ซึ่งก็สุดแล้วแต่ชาวบ้านคนไหนจะไปพบไปเก็บ เพราะเงินและทองไม่สมควรแก่พระภิกษุ แม้ว่าจะนำเงินและทองนั้นไปสร้างโบสถ์สร้างวิหาร โบสถ์วิหารนั้นก็ไม่ใช่ของที่ควรใช้สำหรับพระภิกษุในพระธรรมวินัย บทบัญญัติในพระธรรมวินัยและสิกขาบทชัดเจนอย่างนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงได้มีการบัญญัติ 2 มาตรานี้ไว้เพื่อเกื้อกูลแก่พระธรรมวินัย ดังนี้

มาตรา 1622 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในระหว่างที่เป็นพระภิกษุอยู่ในสมณเพศ ถ้ามีทรัพย์มรดกของผู้ใดก็ตามตกทอดแก่ตนในฐานะทายาทโดยธรรม ห้ามไม่ให้ไปฟ้องร้องแย่งชิงพิพาทกับชาวบ้านในทรัพย์มรดกนั้น ไม่ว่าจะเป็นมรดกของบิดา มารดา ญาติ หรือของตัวเอง หรือของผู้อื่นใด เพราะโดยฐานะและวิสัยของสมณเพศเป็นเรื่องที่เศร้าหมองมาก หากจะเปิดช่องทางให้พระภิกษุที่ครองผ้าเหลืองไปมีข้อพิพาทแย่งชิงทรัพย์สมบัติกับชาวบ้านในโรงในศาล

ดังนั้น มาตรา 1622 จึงห้ามพระภิกษุไม่ให้ไปเรียกร้องในทรัพย์มรดก หากปรารถนาจะได้ก็ให้ลาสิกขาไปก่อน ไปฟ้องร้องแย่งชิงให้เสร็จก่อนในฐานะชาวบ้านทั่วไป จะได้ไม่มัวหมองแก่พระศาสนา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายมาตรา 1622 กลับไปเขียนวรรคสองไว้ เป็นการเปิดช่องโหว่ช่องว่างไว้ว่า ความในวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้กับกรณี พระภิกษุเป็นผู้รับพินัยกรรม ผลก็เลยเป็นการเปิดช่องให้มีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้พระภิกษุ แล้วพอเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกเหล่านั้นก็ตกทอดตามกฎหมายมรดกให้แก่ผู้ได้รับพินัยกรรม ทำให้ไปเกิดปัญหากับทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เช่น ลูกหลาน พ่อแม่ และคู่สมรสของเจ้าของมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม พินัยกรรมมีผลมากเท่าไหร่ก็ตัดสิทธิอันชอบธรรมของทายาทโดยธรรมมากเท่านั้น มากถึงขนาดว่าหากเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเขาให้พระภิกษุ พ่อแม่ ลูกเมีย และทายาทโดยธรรมของคนคนนั้นจะไม่ได้รับมรดกแม้แต่บาทเดียว นี่คือกฎหมายมรดกของไทยเราที่มีจุดอ่อนอยู่

เมื่อมาเปิดช่องให้พระภิกษุรับพินัยกรรมได้ มันก็ทำให้เกิดคดีความฟ้องร้องแย่งชิงมรดกระหว่างพระภิกษุผู้รับพินัยกรรม กับลูกหลานชาวบ้านที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่จะต้องสูญเสียมรดกของเขาไป แล้วก็เกิดเป็นคดีความในศาลที่แม้จะไม่มาก แต่ทุกครั้งที่มีคดีความแบบนี้ย่อมทำให้เกิดความเศร้าหมองแก่ผู้ได้พบเห็น โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่ได้เห็นว่าพระภิกษุในพระธรรมวินัย ไฉนยังติดข้องผูกพันกับทรัพย์สมบัติ เพราะแม้จะเป็นมรดกของบรรพบุรุษตัวเองที่มีสิทธิ์ในฐานะทายาทโดยธรรม กฎหมายยังห้ามพระภิกษุผู้ครองผ้าเหลืองไปฟ้องแย่งชิง ก็นี่ในฐานะผู้รับพินัยกรรม ยิ่งห่างออกไปอีกยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

เราจึงเห็นว่าเมื่อกฎหมายเปิดช่องว่างให้เกิดความเสียหายแก่พุทธศาสนาอย่างนี้ ในเมื่อถึงวาระที่จะมีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก็อยากให้สังคมช่วยพิจารณาว่าควรมีการปิดช่องว่างในมาตรา 1622 วรรคสองนี้ได้ไหม แล้วก็เกรงว่าการสื่อสารทำความเข้าใจจะยาก ก็เลยจัดทำร่าง พ.ร.บ.ให้ดูเป็นตัวแบบ แต่ไม่ได้มุ่งหมายถึงขนาดจะไปบังคับให้เอาตามนี้ ก็อยู่ที่การเห็นพ้องต้องกันของพุทธบริษัททั้งสี่

รัฐบาลในฐานะอาณาจักรก็ควรมาร่วมพิจารณาให้เป็นไป เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงเข้าอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปไม่นาน และเมื่อร้อยปีเศษหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระเจ้ากาลาโศกราชก็ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาชำระล้างการบิดเบือนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยภิกษุวัชชีบุตรที่เผยแผ่คำสอน 10 ประการที่บิดเบือนไปจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 ใน 10 ที่บิดเบือนก็คือที่ให้ภิกษุรับเงินและทองได้ มีการตั้งถาดทองสำริดไว้หน้าโรงอุโบสถให้ชาวบ้านนำเงินทองมาบริจาคแล้วนำไปแบ่งกันระหว่างภิกษุในวัดนั้น ซึ่งการแก้ไขเรื่องนี้ก็ได้พระเจ้ากาลาโศกราชทรงอุปถัมภ์ให้ทำการชำระล้างสะสางพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว

ครั้งเมื่อหลังปรินิพพานประมาณ 200 ปีเศษก็มีการบิดเบือนพระธรรมวินัยอีก มีพวกเดียรถีย์เข้ามาปลอมบวชจำนวนมากแล้วก็เผยแพร่คำสอน ใช้ภาษาเหมือนกับที่ปรากฏในพระธรรมวินัยแต่บิดเบือนความหมายให้ผิดเพี้ยนไป แต่โชคดีมีพระอรหันต์ชื่อพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ชี้แจงความเสื่อมเสียเหล่านี้ ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อพระเจ้าอโศกมหาราช จึงมีการนำไปสู่การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3 โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช และทำให้เป็นหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องยืนยาวมาถึงบัดนี้

เราจะพบว่าการบิดเบือนพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การที่จะรักษาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องจะยากมากเพราะจะถูกคัดค้านด้วยข้ออ้าง ว่าสังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน แล้วจะเปลี่ยนพระธรรมวินัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะพระธรรมวินัยนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บัญญัติตรัสความไว้ด้วยพระปัญญา เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนาสายเถรวาทจึงยึดถือมติของพระเถระอรหันตสาวก 500 องค์ที่ประชุมกันทำสังคายนาครั้งที่ 1 ที่อุปถัมภ์โดยพระเจ้าอชาตศัตรู ว่าจะไม่เปลี่ยน จะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ นี่คือหัวใจของพุทธศาสนาสายเถรวาทที่ยืนยาวมาเกือบ 2,600 ปีแล้ว เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลมีดำริถึงกับออกประกาศ คสช.ว่าจะช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาทั้งหลาย โดยเฉพาะพุทธศาสนาสายเถรวาท เป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้เราคิดว่าเราก็เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ควรถือโอกาสนี้เสนออะไรที่พอจะเห็นได้ว่าจะเป็นประโยชน์ โดยไม่ได้บังคับแต่เสนอเพื่อขอความอุปถัมภ์จากอาณาจักรให้เข้ามาช่วยดูแล

- อีกหนึ่งมาตราที่เสนอแก้ไขคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ขอทราบ หลักการ ที่มาที่ไปของข้อเสนอตามแนวทางดังกล่าว?

มาตรา 1623 บัญญัติเห็นชัดเจนว่า ทรัพย์สินทั้งหลายที่พระภิกษุได้รับมาระหว่างดำรงสมณเพศ คือยังครองผ้าเหลือง ทรัพย์สินที่ได้รับมาก็ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน ที่นับว่าสอดคล้องกับพระธรรมวินัย แต่ไปมีช่องว่างช่องโหว่ เปิดช่องให้หลีกเลี่ยงได้ คือไปกำหนดว่าให้ตกเป็นของวัดเมื่อท่านมรณภาพ ไม่ใช่ให้ตกเป็นของวัดโดยทันที

คล้ายดังว่าให้เป็นทรัพย์สมบัติของพระภิกษุได้จนกว่าท่านจะมรณภาพ ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ทั้งยังได้เปิดช่องโหว่ช่องที่สอง ทำให้พระธรรมวินัยสิ้นผลไปทันที “คือให้มีข้อยกเว้นไว้ว่าท่านจะจำหน่าย ถ่ายโอนไประหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่” หรือ "ทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้"

เพราะฉะนั้น ทรัพย์สินที่มีผู้ถวายให้ท่านเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อันควรที่จะตกเป็นของศาสนสมบัติหรือตกเป็นของคณะสงฆ์ทั้งมวล ไม่ควรตกเป็นสมบัติส่วนตัวของพระภิกษุ เพราะพระภิกษุในสายเถรวาทไม่อาจสะสมทรัพย์สมบัติได้

พอกฎหมายเขียนบอกให้พระภิกษุจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินได้ ท่านก็ยกให้ใครก็ได้ นาย ก. นาง ข.จะนำไปซื้อทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ได้ทั้งสิ้น แล้วก็นำไปขายให้ใครก็ได้ ได้เงินแล้วก็ฝากธนาคารไว้ สะสมไว้ได้ ทำพินัยกรรมไว้ สุดท้ายหากมรณภาพก็ยกให้ นาย ก. นาง ข. ข้อยกเว้นแบบนี้ทำให้หลักใหญ่ที่มาตรา 1623 ที่ต้องการเกื้อกูลพระธรรมวินัยและรักษาพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ต้องให้มีภาระในการไปบริหารจัดการทรัพย์สินที่เป็นภาระหนักมาก ไม่ต้องไปซื้อขายแลกเปลี่ยนเหมือนชาวบ้านทั่วไปกลายเป็นหมันไป

ซ้ำร้ายกฎหมายมาตรา 1623 กลายเป็นการรับรองให้พระภิกษุมีทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สินเงินทองเป็นของส่วนตัวได้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นประโยชน์แก่คนที่มีทรัพย์สมบัติ ที่จะทำอะไรก็สะดวก จะให้ใครก็สะดวก แต่เป็นความสะดวกสบายส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่การอุปถัมภ์รักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ ไม่มีใครจะทำลายพระพุทธศาสนาได้มากเท่ากับอลัชชีที่ปลอมบวชเข้ามาแล้วบิดเบือนพระธรรมวินัย

ด้วยเหตุนี้จึงเสนอความเห็นว่า มาตรา 1623 ควรปิดช่องโหว่ช่องว่างนี้เสีย โดยไม่ต้องรอให้มรณภาพ แต่ให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างครองสมณเพศก็ต้องให้เป็นสมบัติส่วนรวมทันที ซึ่งส่วนรวมตรงนี้จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือคณะกรรมการวัด หรือจะเป็นส่วนราชการใดของแผ่นดินก็ได้ แล้วก็ให้องค์กรนั้นบริหารจัดการทรัพย์สินแทนพระภิกษุเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาด้านต่างๆ เช่นการศึกษา ปฏิบัติธรรม จุดที่สอง แก้ไขเพื่อปิดช่องโหว่ข้อที่สองว่า ไม่ให้นำทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างดำรงสมณเพศไปทำพินัยกรรมยกให้ใคร และไม่ให้นำไปจำหน่ายจ่ายโอนให้ใคร เพราะเมื่อตกเป็นสมบัติของส่วนรวมแล้ว การให้พระภิกษุทำพินัยกรรมหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้มันผิด ส่วนที่มีข้อโต้แย้งหลากหลาย ก็ขอกราบเรียนว่าข้อเสนอนี้เป็นเพียงข้อเสนอต่อสังคมและพุทธบริษัททั้ง 4 ต่อราชอาณาจักร ว่าที่ถูกที่ควรเป็นอย่างไร แต่ความขัดข้องความไม่สะดวกต่างๆ ของพระภิกษุส่วนตัวนั้น จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าสองด้านนี้จุดที่ถูกต้องที่ถูกที่ควรจะเป็นอย่างไร

ยืนยันว่าที่มีการเสนอแนวคิดดังกล่าวขึ้นมา ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาขัดแย้งกันในสังคม เหมือนกับที่สื่อกำลังนำเสนอว่ากำลังมีการขัดแย้งกัน มันไม่ใช่ความขัดแย้ง เป็นแค่ข้อเสนอเพื่อขอความเห็นจากทุกฝ่าย มูลนิธิฯ เสนอข้อเสนอนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงพระธรรมคำสอนที่แท้จริงของพระศาสดา และหลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาสายเถรวาท ที่จะไม่มีการบัญญัติเพิ่มหรือเพิกถอนหรือบิดเบือนบทบัญญัติสิกขาบททั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

เราจะทิ้งสิ่งเหล่านี้เพราะเห็นแก่ความสะดวกสบายของบุคคลบางกลุ่มบางคนหรือ ผมได้ฟังครูบาอาจารย์มาเยอะถึงความเป็นห่วงเรื่องนี้ แต่ท่านไม่อยู่ในฐานะจะขยับอะไรได้ เพราะสังคมนี้ถูกครอบงำไปด้วยธนบัตรนิยมและความสะดวกสบาย ที่ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินเงินทองจนนำไปสู่การขัดแย้งกันในลักษณะต่างๆ

ข้อเสนอทั้งสองเรื่องดังกล่าวต้องค่อยๆ พิจารณาร่วมกัน การพิจารณาไม่จำเป็นต้องทำรีบด่วน ก่อนที่จะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ต้องฟังทุกฝ่ายให้ถ่องแท้ก่อน โดยเฉพาะคณะสงฆ์ ถ้าท่านยืนยันให้กระจ่างว่าพระธรรมวินัยเป็นอย่างไร แล้วพุทธศาสนาสายเถรวาทควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร พวกเราพุทธบริษัทควรทำอย่างไร ราชอาณาจักรควรจะเข้ามามีส่วนอุปถัมภ์อย่างไร

ถ้ายึดติดทรัพย์มรดกก็ไม่ใช่ภิกษุ

- มีเสียงท้วงติง เช่น ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 1622 ที่บอกมา จะทำให้พระสงฆ์ที่เกิดได้มรดก อาจตัดสินใจสึกออกไปเพื่อไปรับมรดก?

คนที่ยังมีความอยากได้ทรัพย์สินเงินทองมากขนาดนั้น เขายังไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ แล้วกฎหมายก็ไม่ได้บังคับให้ลาสิกขา แต่ให้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกระหว่างการศึกษาปฏิบัติธรรมหรือจะเอาทรัพย์สมบัติในทางโลก หากอยากได้ทรัพย์สมบัติก็สึกไปก่อนแล้วไปฟ้องเรียกร้องให้ชนะ แล้วค่อยมาบวชใหม่ ประเทศไทยและพระธรรมวินัยก็อนุญาตใช่ไหม ระหว่างที่ไปฟ้องร้องคดีก็ไม่มัวหมอง แล้วกฎหมายนี้เราก็ยืนยันว่าไม่ได้ไปแตะต้องทรัพย์สมบัติที่พระภิกษุท่านมีมาก่อนอุปสมบท

ข้อโต้แย้งข้อนี้ ผมมองว่าไม่น่าจะมีน้ำหนักหักล้างการปรับปรุงมาตรา 1622 เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ไปสกัดขัดขวางความเห็นที่แตกต่าง เพราะมั่นใจว่าข้อเสนอดังกล่าวที่บอกไว้นี้มีเหตุมีผล

- มาตรา 1623 ที่เสนอแนวทางมา แต่ที่ผ่านมาก็เคยเกิดข่าวทำนองเรื่องการทุจริต เช่นเคยมีข่าวทำนองว่าไวยาวัจกรมีการยักยอกทรัพย์ของวัด?

หลักการปัจจุบัน พระสงฆ์ที่ไม่รับทรัพย์สมบัติเองแล้วมอบให้เป็นศาสนสมบัติของวัดหรือศาสนสมบัติกลางที่บริหารโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ พบว่าใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ที่บัญญัติเกี่ยวกับคนที่จะมาช่วยบริหารจัดการศาสนสมบัติของส่วนรวมยังมีช่องโหว่อยู่เยอะที่ควรต้องปรับปรุงไปในคราวเดียวกัน เพราะเมื่อทรัพย์สมบัติต่างๆ ให้มาเป็นสมบัติกลางก็ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดีกว่าปัจจุบัน

ระบบที่ทำอยู่ปัจจุบันมีช่องโหว่ช่องว่างเยอะ แต่การจะไประบุก็จะเป็นการกล่าวหา ก็ต้องตรวจสอบกันว่าจริงไหม เพราะฉะนั้นข้อเสนอในการปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ในเรื่องการบริหารจัดการศาสนสมบัติต้องทำให้ดีขึ้น ต้องอุดช่องโหว่ช่องว่าง ป้องกันคนที่ทุจริตคอร์รัปชันคนที่แฝงตัวเป็นเหลือบอยู่ในวัด ในสำนักงานพระพุทธฯ ก็มีคดีความขึ้นสู่ศาลให้เห็นเป็นครั้งคราวเช่นกัน ส่วนนั้นต้องเห็นใจพระภิกษุด้วย คือให้พวกนี้ไปบริหารแล้วพวกนี้ไปทุจริต ท่านก็เลยไม่อยากปล่อยให้พวกนี้ดูแล ยังมีความไม่ไว้วางใจระบบบริหารจัดการศาสนสมบัติ แต่ข้อเสนอดังกล่าวนี้อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของมูลนิธิฯ เพราะเป็นความรับผิดชอบของบ้านเมือง เพราะเรื่องกฎหมายพระสงฆ์ต้องเป็นภาระของอาณาจักรที่จะต้องเข้ามาอุปถัมภ์พระศาสนา

กับมุมมองของ ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ-กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ต่อกรณีความเป็นไปได้ในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ เขามองว่า ก่อนหน้านี้ตอนที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์ของคณะทำงานของ กมธ.สนช.ชุดท่านอาจารย์สมพร เทพสิทธา ก็ยังไม่เคยมีการคุยกันเรื่องนี้ จึงไม่รู้ว่าฝ่าย สนช. ในฐานะฝ่ายอาณาจักรจะมีความเห็นอย่างไร แต่ก็เห็นด้วยว่าควรต้องมีการปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการศาสนสมบัติให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จะเป็นอย่างไรก็ต้องฟังความทุกฝ่าย ผมยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียด แต่เห็นด้วยในเบื้องต้นว่าต้องปรับปรุง

มูลนิธิฯ เคยศึกษาว่าปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งของพุทธศาสนาคือ พวกอลัชชีที่ปลอมบวชเข้ามาเป็นกาฝาก เข้ามาทำมาหากินในศาสนา รวมทั้งพวกที่ไม่ได้บวชแต่ก็แฝงตัวอยู่ตามวัด ตามสำนักต่างๆ บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับปรุงดูแลกันให้เข้มงวดขึ้น

เราไปเปิดแนวคิดทางด้านเพิ่มจำนวนพระภิกษุ แต่เราลืมการดูแลทางด้านคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งหากไปศึกษาดูจะพบว่าตั้งแต่ในครั้งพุทธกาลไม่ได้ทรงเรียกร้องให้คนมาบวชมากๆ แต่เน้นเรื่องคุณภาพ

เช่น ก่อนจะบวชต้องมาฝึกปฏิบัติ ศึกษาพระธรรมวินัย ตอนนี้บางวัดก็ยังทำอยู่ ต้องนุ่งขาวห่มขาวก่อน จนพระในวัดเห็นว่ามีอุปนิสัยจะดำเนินชีวิตแบบพระภิกษุได้จึงได้รับอนุญาตให้บวช และบวชใหม่แล้วต้องอยู่ในการดูแลของพระอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างน้อยอีก 5 ปี นี่คือการสืบทอดแสงเทียนแห่งพุทธศาสนาสายเถรวาท

ถ้าไม่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ แม้มีพระภิกษุเป็นล้านรูปก็สืบต่อแสงเทียนเสียงธรรมของพุทธศาสนาไม่ได้ ถ้อยคำต่างๆ ในคัมภีร์ก็จะถูกบิดเบือนไปในความหมายอื่น แล้วนั่นก็คือความล่มสลายของพระธรรมวินัย แม้จะมีวัดใหญ่โตอลังการ แม้จะมีผู้อ้างว่าเป็นพระภิกษุเป็นแสนเป็นล้าน ก็สืบต่อพระธรรมวินัยไปสู่คนรุ่นหลังอย่างแท้จริงไม่ได้

ปฏิรูประบบบริหารทรัพย์สมบัติวัด

เมื่อถามว่าเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำในการปฏิรูปสงฆ์ ปฏิรูปพุทธศาสนาว่าควรทำเรื่องไหน เพราะอย่าง คสช.ประกาศวาระปฏิรูปออกมาก็ไม่มีเรื่องการปฏิรูปสงฆ์ จรัญ-ตุลาการศาล รธน. ให้ทัศนะว่า พุทธศาสนาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญสำหรับอาณาจักร ถ้าประเทศชาติเปรียบเหมือนร่างกาย พระศาสนาก็เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของประเทศชาติ ถ้าประเทศชาติไม่มีพระศาสนาที่แท้จริงกำกับ พฤติกรรมของปวงประชาก็เหมือนร่างกายของคนที่ตายแล้ว มีแต่จะเสื่อมโทรมลงไป เสื่อมจากสัจธรรมในเบื้องต้น แล้วจะค่อยๆ ทรุดต่ำลงไปในศีลธรรม แล้วก็นำไปสู่หายนะ นี่คือภาวะที่ประเทศชาติขาดศาสนาเป็นจิตวิญญาณ แต่พระศาสนาไม่ว่าศาสนาไหนก็จะมั่นคง ใสสว่าง เป็นแนวทางชีวิตที่ประเสริฐให้กับประชาชนไม่ได้ ถ้าไม่มีชาติคอยอุปถัมภ์ค้ำชู ก็เหมือนคนไม่มีร่างกาย แล้วใจจะทำอะไรได้

ดังนั้น ประเทศชาติและศาสนาจะต้องร่วมกันนำทางประชาชนไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน ความสงบร่มเย็นในแผ่นดินถึงจะเกิดขึ้นได้

สิ่งนี้คือการบริหารประเทศแนวใหญ่ก่อนเลย คือต้องทั้งสองส่วน ทั้งราชอาณาจักรและศาสนาจักร แล้วหลังจากนั้นถึงไปดูเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง การปกครอง

ในวาระที่จะปฏิรูปประเทศชาติ หากเราทอดทิ้งพระศาสนา การปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ก็จะผิดทางหมด เพราะมันจะนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อการแก่งแย่ง แข่งดี และในที่สุดก็วนกลับไปสู่การเข่นฆ่า การอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรมต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

ผมไม่อยู่ในฐานะจะเสนอแนะอะไรได้ นอกจากจุดเล็กๆ ที่พอมีความรู้อยู่บ้างและไม่เกินฐานะตัวเอง แต่ถ้าถามว่างานปฏิรูปต่างๆ หรือการดูแลอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาจะต้องทำอะไร อย่างไร ต้องฟังครูบาอาจารย์และผู้พบเห็นปัญหา แล้วค่อยๆ ช่วยกันคิดออกแบบให้เหมาะสมต่อไป

ขอเน้นย้ำว่าไม่ใช่ปฏิรูปพระหรือปฏิรูปคณะสงฆ์ ไม่ใช่ แต่ปฏิรูประบบอุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสนา ปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพย์สมบัติของพระศาสนา อย่าให้ถูกบิดเบือนไปเป็นของนาย ก. นาง ข.เหมือนอย่างที่เกิดให้เราเคยเห็น ทำให้พระสงฆ์ในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วม 3-4 หมื่นวัด พอที่จะมีอัฐบริขาร มีความสะดวกในการศึกษาปฏิบัติธรรมได้อย่างสม่ำเสมอ

ในปัจจุบัน วัดส่วนน้อยมีศาสนสมบัติของวัดมากมาย จนกระทั่งเกินกำลังที่จะบริหารจัดการให้ดีได้ แต่กลับพบว่ามีวัดอีกเป็นหมื่น หลายหมื่นวัด พระสงฆ์ เณรในวัดที่ห่างไกล กลับขาดแคลนไปเสียทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้กระทั่งการศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรมสืบทอดคำสอนของพระศาสดายังอัตคัดขาดแคลน เหลื่อมล้ำกันมาก

ถ้าเรามีกฎหมายให้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่ให้พระภิกษุ เข้ามาทรัพย์สมบัติของส่วนรวม แล้วมีระบบบริหารจัดการที่ดีอย่าให้รั่วไหล แล้วให้กระจายบ้าง ถ้าแบบนี้ประโยชน์จะได้มากขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้เพราะติดด้วยกฎหมายปัจจุบัน

- มองอย่างไรกับที่มีการเสนอให้มีการปฏิรูปศาสนาโดยเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์ เช่น โครงสร้างของกรรมการมหาเถรสมาคม?

ผมไม่เคยคิดก้าวล่วงไปถึงขนาดนั้น ต้องถามคนที่เขาคิดและศึกษามา เท่าที่ผมสังเกตและเห็นเป็นส่วนตัว ผมคิดว่าจุดที่เป็นปัญหาจริงๆ ในวงการศาสนา วงการเมือง วงการข้าราชการ พ่อค้านักธุรกิจไทย คือเรื่อง เงิน เงินเข้าไปที่ไหน กิเลสตัณหาหนักหนาขึ้นมาทันที แล้วก็นำไปสู่การบิดเบือน ทุจริต ฉ้อฉล ขัดแย้ง แย่งชิง ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด มองไม่เห็นความถูกต้องเป็นธรรม เพราะอำนาจเงินไปปิดตา บังใจ

ผมถึงได้เสนอและเห็นด้วยว่าต้องป้องกันไม่ให้เงินที่หมายถึงทรัพย์สมบัติเข้าไปสู่บัญชีเงินฝากธนาคารของภิกษุแต่ละรูป ถึงได้กล้าเซ็นหนังสือเสนอไปถึงนายกรัฐมนตรี เพราะผมเห็นว่าเงินเป็นตัวร้ายจริงๆ แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านี้ต้องถามคนที่ศึกษามาโดยเฉพาะ กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผมไม่เคยมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับท่านเลย มีแต่ความเคารพนับถือ บูชาในความเป็นเพศบรรพชิต

คำถามนี้ ผมจึงไม่เคยแม้แต่จะคิด และมักจะทักท้วงด้วยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จะทำอะไรต้องรอบคอบ มันไม่ใช่เหมือนกับเราจะไปปฏิรูปการเมือง เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องพวกนั้นแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ในทางการเมือง แต่เล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ จึงไม่ขอก้าวล่วงในเรื่องนี้

เมื่อฟังจากคำให้สัมภาษณ์ เราเลยถามไปว่า ฟังจากที่บอก เหมือนกับส่วนตัว มองว่าหากป้องกันไม่ให้ธนบัตรนิยมเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤติเกี่ยวกับฝ่ายพระสงฆ์ก็จะลดน้อยลงได้ จรัญ-กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ย้ำเรื่อง ธนบัตรนิยม ไว้ว่า ไม่ใช่แค่เฉพาะวงการพระ วงการเมืองของเราที่มันวิกฤติก็เพราะธนบัตรเข้าไปครอบงำหมด วงการข้าราชการก็เหมือนกัน รวมทั้งพ่อค้าที่เอาเปรียบกันอยู่ เพราะถูกเงินบังตาหมด จนมองไม่เห็นศักดิ์ศรีของแต่ละฝ่าย ผมมองอย่างนี้แล้วก็เราไม่สามารถขวางโลกได้ ว่าต่อไปนี้อย่าเห็นเงินเป็นใหญ่ มันเหมือนกับพูดอะไรไม่เป็นความจริง เพราะเงินมันเป็นใหญ่จริงๆ ในโลกทุนนิยม แต่ขออย่าเข้าไปก่อกวนในพระศาสนาต้องช่วยกันป้องกัน

- เรื่องข้อเสนอต่างๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาวงการคณะสงฆ์ เช่น เสนอแก้ไขกฎหมาย ก็ทำให้มีพระสงฆ์บางรูปออกมาบอกว่า เรื่องของฝ่ายสงฆ์ทางฆราวาสไม่ควรมายุ่งเกี่ยว?

ข้อนี้ต้องฟังท่าน ฟังแล้วรับมาคิดด้วย แต่เหตุผลของเรา เราก็บอกแต่ต้นว่าเราไม่ก้าวล่วงเข้าไปในกฎหมายคณะสงฆ์ แต่เราตรวจดูกฎหมายของชาวบ้าน 2 มาตรา คือ มาตรา 1622 และ 1623 อย่างที่บอกไว้ อันเป็นกฎหมายของชาวบ้านที่เปิดช่องให้ทรัพย์สินเงินทองเข้าไปทำร้ายพระสงฆ์ทำร้ายพระศาสนา เราก็จะปิดช่องว่างนี้ที่เป็นของพวกเราชาวบ้าน

ต้องขจัดอลัชชีปลอมบวช

ต่อข้อถามที่ว่าส่วนตัว มีความคาดหวังให้มีการเคลื่อนไหวมีการศึกษาและแก้ไข กฎหมายตามที่เสนอไว้อย่างไรในเชิงรูปธรรม จรัญ-ตุลาการศาล รธน. ยืนยันว่าไม่ได้คาดหวังอย่างนั้นอย่างเดียว แต่หวังว่ากฎหมายบ้านเมือง จะมีส่วนช่วยเกื้อกูลพระธรรมวินัยที่แท้จริงของพระพุทธองค์ ให้เป็นไตรสถาบันที่มั่นคง คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้อย่างแท้จริง

ส่วนว่าข้อเสนอนี้ ความตั้งใจนี้จะบรรลุผลหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราหรือของใคร มันต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจและวิจารณญาณของทุกฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักรทั้งภิกษุ อุบาสกและอุบาสิกาต้องร่วมกันคิด

- จดหมายที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีในนามมูลนิธิฯ เสนอว่า ควรต้องมีการกำกับดูแลให้พระภิกษุประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และควรจัดการต่อกรณีที่มีการละเมิดพระธรรมวินัย ข้อเสนอนี้หมายถึงมองว่าที่ผ่านมาการดำเนินการกับพระที่ละเมิดพระธรรมวินัยยังล่าช้าอยู่?

ข้อเสนอนี้คล้ายๆ การร้องขอต่อทางอาณาจักรคือรัฐบาล ว่าเรื่องบางเรื่อง โดยเฉพาะการขจัดอลัชชีปลอมบวช พระด้วยกันเองทำยากมาก ประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้เลย การแก้ปัญหานี้จะปล่อยให้พระทำกันเองจะไม่สำเร็จ เพราะพระที่ดีท่านจะมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติธรรมของท่าน แต่พวกที่ไม่อยู่ในทิศในทางมีกำลังมาก มีพวกมาก แข็งแรงมาก ก็ขอว่า ฝ่ายอาณาจักรช่วยเสริมกำลังให้พระศาสนาบ้าง โดยต้องทำด้วยมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

ผมมั่นใจว่าพระภิกษุสุปฏิปันโนในประเทศไทยที่มีความรู้และมั่นคงในพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์มีอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ท่านจะประกาศตัวเพราะเหมือนจะไปพูดข่มผู้อื่น แต่ถ้าฝ่ายอาณาจักรเข้าเสริมกำลัง มันก็จะเกิดพลังร่วมกันแล้วค่อยๆ ผลักดันให้คนที่จะบิดเบือนพระธรรมวินัยถอยร่นไปบ้าง อย่างน้อยก็เป็นโอกาสที่จะให้มีช่องทางเผยแพร่หลักธรรมและพระธรรมวินัยที่แท้จริง แพร่หลายไปสู่การรับรู้ของเหล่าพุทธศาสนิกชนได้มากขึ้นว่า การที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสายเถรวาทจะต้องทำอย่างไร

- กรณีที่เกิดกับวัดธรรมกายและพระธัมมชโย มองว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนอะไรกับพุทธศาสนาหรือไม่ อย่างไร?

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ในประวัติศาสตร์ของชาวพุทธ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่มันขยายตัวใหญ่โตถึงขนาด เหนือกว่าอำนาจทั่วไปได้ ก็เพราะเราปล่อยปละละเลยกันมานาน และเหตุผลสำคัญที่สุดคือเงิน คนไม่มีเงินเยอะๆ ทำเรื่องเสียหายใหญ่โตขนาดนี้ไม่ได้

ในระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือทุนนิยม เงินมีอำนาจใหญ่ที่สุด และลึกซึ้ง ลึกล้ำที่สุด เหมือนน้ำกรด ถ้ากันข้างบน มันลงข้างล่าง กันข้างล่างมันขึ้นเป็นน้ำพุ ถ้ากันข้างบนมันไหลลงมาเป็นน้ำตก นี้คืออำนาจเงิน อำนาจรัฐแข็ง เหมือนไฟ แต่เผาไหม้ข้างใต้ไม่ได้ แต่เงินเหมือนน้ำ ไปได้ทั่ว ไปบนฟ้ายังได้เลย รอเวลาตกลงมาตกเป็นฝน เพราะฉะนั้น เราถึงต้องระวังมาก เผลอไม่ได้

ในต่างประเทศเขาเกิดปัญหาพวกนี้มาก่อนแล้ว ถึงขนาดเขาเจอปัญหาว่า ที่เคยยกย่องบูชาพระเจ้า The Almighty God มีการเปลี่ยนเป็น The Almighty Dollar เขาตระหนักในเรื่องนี้ แต่ของพวกเรายังไม่ค่อยเห็นกัน เรื่องเงินเรื่องตัวร้าย เพราะมันทำให้ความโลภ ตัณหาถูกกระตุ้น เมื่อถูกกระตุ้นมาแล้วไม่มีขอบเขตที่จะมายับยั้งมันได้ ไม่มีคำว่าพอ มันเกิดความฉลาดร้อยแปดเลย มันเกิดความฉลาดแบบ “เฉ-โก” อันนี้เป็นภาษาพระท่านสอน ที่คนไทยพูดว่า ฉลาดแกมโกง แล้วพอประกอบกับเราไปปล่อยปละละเลย หลงเชื่อ มันก็เลยเกิดอำนาจหลายอย่างซ้อนทับกันขึ้นมา

โชคดีที่เกิดเหตุการณ์เปิดโปงเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา ทำให้ยังพอระงับยับยั้งกันได้ แต่หากไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ปล่อยไปอีกสัก 5 ปี 10 ปีเท่านั้น นอกจากอำนาจเงินเชื่อมกับอำนาจการตลาดและจิตวิทยามวลชน อำนาจบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมที่คนระดับสุดยอด เข้าเชื่อมโยงกับอำนาจการเมือง อะไรจะยับยั้งได้ หมดทางเลย เหตุการณ์ครั้งนี้มีอิมแพ็กใหญ่หลวงมาก มากเกินกว่าคำถามที่ต้องการให้ผมตอบ.

...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน...



ความคิดเห็น 1    โดย แสวงรวยสูงเนิน  วันที่ 19 มี.ค. 2560

ขออนุโมทนา สาธุ ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย กมลพร  วันที่ 19 มี.ค. 2560

ขออนุโมนทาในกุศลยิ่งครั้งนี้ค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย thilda  วันที่ 19 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 4    โดย siraya  วันที่ 20 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 5    โดย rrebs10576  วันที่ 20 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 6    โดย มานิสาโข่งเขียว  วันที่ 20 มี.ค. 2560

สาธุ


ความคิดเห็น 7    โดย นิคม  วันที่ 21 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 8    โดย ชัยญานพ  วันที่ 21 มี.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 9    โดย wirat.k  วันที่ 23 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 10    โดย ประสาน  วันที่ 26 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 11    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 31 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 12    โดย สิริพรรณ  วันที่ 3 เม.ย. 2560

กราบอนุโมทนาทุกท่านในกุศลเจตนาดำรงรักษาพระธรรมวินัยเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ด้วยพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาคุณ 

สาธุทุกข้อเสนอ กราบขอบพระคุณยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 30 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 14    โดย papon  วันที่ 18 พ.ค. 2560

ขออนุโมทนายิ่งครับ


ความคิดเห็น 16    โดย Guest  วันที่ 8 ธ.ค. 2560

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย เมตตา  วันที่ 17 ธ.ค. 2560

   กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 20    โดย Selaruck  วันที่ 27 ก.พ. 2562

กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนายิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 21    โดย Khemsai  วันที่ 10 มี.ค. 2563

ขอกราบอนุโมทนาด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 22    โดย Selaruck  วันที่ 14 มี.ค. 2563

กราบขอบคุณและอนุโมทนายิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 23    โดย arin  วันที่ 17 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ คุณจรัญ


ความคิดเห็น 24    โดย นิตยา  วันที่ 1 เม.ย. 2563

ปัญญารักษาพุทธศาสนา สาธุ สาธุ 


ความคิดเห็น 25    โดย chatchai.k  วันที่ 5 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 26    โดย Nattanichamailt10@gmail.com  วันที่ 26 มี.ค. 2567

ขอกราบอนุโมทนา ค่ะ

ตอนนี้กำลังเจอกับปัญหานี้พอดีค่ะ