การอยู่ที่เจริญและไม่เจริญเป็นไฉนหนอ...? [ภัททกสูตร]
โดย ajarnkruo  8 ส.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 4481

ขอเชิญอ่านครับ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 552 - 554

๔. ภัททกสูตร

ว่าด้วยการอยู่ที่เจริญและไม่เจริญ

[๒๘๕] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่าดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่ โดยประการที่เมื่อเธอสำเร็จการอยู่ ย่อมไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ

ก็ภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่ โดยประการที่เมื่อเธอสำเร็จการอยู่

ย่อมไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ เป็นอย่างไร? คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้ชอบการงาน (นวกรรม) ยินดีการงาน ขวนขวายความเป็นผู้ชอบการงาน ชอบการคุย ยินดีการคุย ขวนขวายความเป็นผู้ชอบการคุย ชอบความหลับ ยินดีความหลับ ขวนขวายความชอบความหลับ ชอบความคลุกคลีหมู่คณะ ยินดีความคลุกคลีหมู่คณะ ขวนขวายความเป็นผู้ชอบคลุกคลีหมู่คณะ ชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ยินดีความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ขวนขวายความชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ขวนขวายความชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าดูก่อนอาวุโสทั้งหลายภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่ โดยประการที่เมื่อสำเร็จการอยู่ ย่อมไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ อย่างนี้แล ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดีสักกายะ (เตภูมิกวัฏ) ไม่ละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ.


ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่ โดยประการที่เมื่อเธอสำเร็จการอยู่ ย่อมมีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็เจริญ

ก็ภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่โดยประการที่เมื่อเธอสำเร็จการอยู่ ย่อมมีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็เจริญเป็นอย่างไร? คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีการงาน ไม่ขวนขวายความชอบการงาน ไม่ชอบการคุย ไม่ยินดีการคุย ไม่ขวนขวายความชอบการคุย ไม่ชอบความหลับ ไม่ยินดีความหลับ ไม่ขวนขวายความชอบความหลับ ไม่ชอบความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่ยินดีความคลุกคลีหมู่คณะ ไม่ขวนขวายความชอบความคลุกคลีหมู่คณะ ไม่ชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ไม่ยินดีความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ไม่ขวนขวายความชอบคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ไม่ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ไม่ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ไม่ขวนขวายความชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมสำเร็จการอยู่ โดยประการที่เมื่อเธอสำเร็จการอยู่ ย่อมมีความตายที่เจริญตายแล้วก็เจริญ อย่างนี้แล ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดีนิพพานละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ

ครั้นท่านพระสารีบุตรได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ผู้ใดประกอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เช่นดังมฤค ผู้นั้นย่อมไม่ได้ชมนิพพานที่เกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ส่วนผู้ใดละธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในบท คือธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้นั้นย่อมได้ชมนิพพานที่เกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้

จบอรรถกถาสูตรที่ ๔

สาธุ



ความคิดเห็น 2    โดย devout  วันที่ 8 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 8 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 8 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย prakaimuk.k  วันที่ 9 ส.ค. 2550
ขออนุโมทนา พระสูตรชัดเจนลึกซึ้งมากค่ะ......

ความคิดเห็น 7    โดย ajarnkruo  วันที่ 18 ส.ค. 2550

ตอนที่ไปบ้านธัมมะเมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสเพียงแค่ไปร่วมฟังธรรมเท่านั้นครับ มีเวลาอยู่ร่วมสนทนาเพียง ๑ ชั่วโมง แล้ว็ต้องกลับไปทำงานต่อ ด้วยความเร่งรีบจึงเสียโอกาสในการซักถามปัญหาจากท่าน อ. สุจินต์ ไป หวังใจไว้ว่าปีหน้าจะมีโอกาสได้เข้าไปไหว้ท่านโดยตรงครับ

ขออนุญาตเล่าประวัติส่วนตัวก่อนที่จะได้ศึกษาธรรมสักนิดนะครับ โดยส่วนตัวผมไม่ได้ไปเล่าเรียนจากสำนักไหนเป็นพิเศษ แต่ก็เคยทำกิจกรรมเข้าค่ายอบรมพุทธธรรมตามวัดต่างๆ ขณะที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น ช่วงที่จบใหม่ๆ ก็เริ่มทำงานเป็นครู และเช่าหอพักใกล้ๆ กับที่ทำงาน ตอนนั้นพักอยู่คนเดียว ก็เหงาๆ ไม่มีที่พึ่งทางใจ ทุกๆ วันก็สวดมนต์ แผ่เมตตานั่งสมาธิ แล้วก็ติดใจในความสงบ แต่ทำไปได้สักพักก็เลิก เพราะรู้สึกว่าตอนนั้นจะถูกอาการที่เรียกว่า ผีอำ เข้า ก็เลยย้ายกลับไปอยู่บ้าน แล้วก็ย้ายกลับมาพักหออีก ก็อยู่คนเดียวเหมือนเดิมครับ วันนั้นคิดพิกลขึ้นมายังไงก็ไม่รู้ เพื่อนชวนไปหาหมอดูก็ตามไป หมอดูบอกว่าตนเองมีญาณนิดๆ ก็งง แต่ก็ยังอุตส่าห์คิดประติดประต่อเรื่องราวเอาเองว่าเราอาจจะมีก็ได้ (เพราะเคยโดนอาการของผีอำมาแล้ว) เกิดหลงตัวเองขึ้นไปอีก ก่อนกลับหมอดูก็ให้บทสวดของมหายานมา เป็นภาษาจีนบ้าง ภาษาบาลีบ้าง

คืนนั้นนั่นเอง เกิดความคิดอยากได้กุศลขึ้นมา ก็เลยลองกลับมาสวดมนต์ใหม่ แล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร และก็กลับเข้าห้องไปนั่งสมาธิดู ปรากฏว่าคืนนั้นฝันร้ายยิ่งกว่าโดนผีอำ คือ ฝันเห็นชายชุดดำๆ แดงๆ มาขวางไว้ ไม่ให้ไป แล้วทางข้างหน้าก็มืดตื้อไปหมด พอสะดุ้งตื่น ก็กลัวจนตัวสั่น เหงื่อไหลโชกเต็มหน้า ตั้งแต่นั้นมาก็เลิกสวดมนต์และนั่งสมาธิไปโดยปริยาย

จนกระทั่งช่วงปลายปีก่อน มีรุ่นน้องที่เรียนมหาวิทยาลัยคณะเดียวกันคนหนึ่งซึ่งรู้จักโดยบังเอิญ น้องเขาให้ซีดีธรรมมะมาด้วยความหวังดี ซึ่งก็มีทั้งซีดีบรรยายธรรมของสามเณรีนันทยาณีกับของ ท่าน อ.สุจินต์ ตอนนั้นไม่ได้สนใจธรรมะเท่าไรเพราะว่าชอบดู ชอบฟังและทำอะไรที่มันสนุกสนานมากกว่า พอเบื่อๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยหันไปฟังการเทศนาธรรมของสามเณรีนันทยาณีก่อน เพราะท่านเทศน์ตลกดี ถูกใจวัยรุ่น ติดใจในอัธยาศัยของท่าน ฟังไปๆ จนจบ ไม่มีอะไรจะให้ฟังแล้ว ก็เลยหันมาฟังเทศนาธรรมโดยท่าน อ. สุจินต์บ้าง ตอนนั้นงงเป็นไก่ตาแตก เพราะไม่ชินกับการบรรยายธรรมแบบนี้ แต่ด้วยความที่ตนอยากจะรู้ความจริงของชีวิต ก็เลยยังอดทนล้มลุกคลุกคลานฟังต่อ ก็ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างจนถึงปัจจุบัน อาศัยความเข้าใจในขั้นปริยัติจากการฟังธรรมทุกวันจาก MP3 และอ่านหนังสือธรรมะของทางมูลนิธิฯ รวมทั้งศึกษาพระธรรมจากกระดานสนทนาธรรม หาข้อมูลอ่านเองจากพระไตรปิฎก และถ้ามีโอกาสที่ไม่เกินกำลังความสามารถของปัญญาของตน ก็จะมาตอบข้อข้องใจของสหายธรรมในกระดานสนทนาบ้างตามโอกาสครับ

ในใจลึกๆ แล้วยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้ามาเจอเว็บไซด์แห่งนี้ เป็นผลของกุศลกรรมในชาติก่อนๆ จริงๆ ได้รู้จักสหายธรรมทุกๆ ท่านแม้เพียงในกระดานสนทนาธรรม แต่ก็โชคร้ายที่ผมเพิ่งได้รับอกุศลวิบากไปไม่นานมานี้ เพราะมือถือถูกขโมย ตอนนี้ยังไม่มีมือถือใหม่ครับ ถ้าอย่างไรก็ดีสหายธรรมทุกท่านสามารถติดต่อผมได้ที่

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 9    โดย devout  วันที่ 18 ส.ค. 2550
เราเองแหละ!

ความคิดเห็น 10    โดย ajarnkruo  วันที่ 19 ส.ค. 2550

เห็นจะไม่ใช่ครับ ขโมยมันคงไม่ทำอะไรสะดุดตาขนาดนี้ รถคันนั้นคงจะย้ายของมากกว่าที่จะไปยกเค้าทรัพย์สินชาวบ้านมา ก็อย่าใส่ใจเลยครับ เพราะไม่มีอะไรเป็นของเรา ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา เกิดดับๆ ตามสภาพ ตามเหตุปัจจัย ให้ต้องแก่ลงๆ แต่ที่ต้องใส่ใจ คือ ประเดี๋ยวโมหมูลจิตจะไปสัมปยุตกับวิจิกิจฉา หรือกับอุทธัจจะ ทำให้ไม่สงบเอาเสียนะครับ

ยินดีอย่างยิ่งที่ได้รู้จักครับ


ความคิดเห็น 11    โดย chatchai.k  วันที่ 31 มี.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น